“ทนายแม้ว” เผยร่างคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ พร้อมส่งให้ “แม้ว” ตรวจทานเพิ่มเติมประเด็นใดบ้าง ขณะที่ศาลนัดลงมติในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.พ.และอ่านทันทีในช่วงบ่าย มั่นใจคำพิพากษาไม่รั่ว เชื่อไร้เหตุรุนแรง
วันนี้ (15 ม.ค.) นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสน์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัว กล่าวถึงการร่างคำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาทว่า ขณะนี้ทีมทนายความ กำลังร่างคำแถลงปิดคดี คาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งการร่างคำแถลงปิดคดีดังกล่าว ทีมทนายความจะจัดส่งร่างให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตรวจพิจารณาก่อนว่าจะเพิ่มเติมประเด็นใดหรือไม่ ขณะที่ประเด็นซึ่งทีมทนายความร่างแถลงคำปิดคดีนั้นจะย้ำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิจารณาข้อกฎหมาย เรื่องอำนาจการไต่สวนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในการออกคำสั่งยึดอายัดทรัพย์ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายเกินอำนาจหน้าที่ เนื่องจากคำสั่งการแต่งตั้ง คตส. การไต่สวนคดี ไม่ได้ให้อำนาจพิจารณาข้อกล่าวหาเรื่องพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ แต่ให้พิจารณาคดีเกี่ยวกับความเสียหายแก่รัฐ รวมทั้งปัญหาที่มีการร้องเรียน คตส.3 คน คือ นายแก้วสรร อติโพธิ นายกล้านรงค์ จันทิก และนายบรรเจิด สิงคะเนติ ที่เป็นปฏิปักษ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่การสืบพยานก็แสดงให้เห็นเพียงว่า นโยบาย 5 เรื่องที่ คตส.อ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าไปเกี่ยวข้องขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ มีเพียงเรื่องการออก พ.ร.บ.จัดเก็บภาษีสรรพสามิต และการปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (เอ็กซิมแบงก์) ให้รัฐบาลพม่า ส่วนนโยบายอื่นที่เกี่ยวข้องการแก้ไขสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และดาวเทียมไอพีสตาร์ ก็ไม่มีพยานหลักฐานชัดเจน ขณะที่นโยบายเรื่องปล่อยกู้รัฐบาล พยานฝ่ายโจทก์ ปากนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.ต่างประเทศ ก็เบิกความแล้วว่า การปล่อยกู้เป็นแบบเครดิตไลน์ ที่เมื่อให้กู้แล้วเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลพม่ากับเอ็กซิมแบงก์ว่าจะนำเงินไปใช้ในส่วนใด และที่รัฐบาลพม่าจะขอกู้ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมก็มีการพิจารณาแล้วไม่ได้ให้วงเงินกู้เพิ่มในส่วนนั้น ซึ่งนายสุรเกียรติ์ให้ความเห็นไว้แล้ว
ด้านแหล่งข่าวผู้พิพากษาระดับสูง กล่าวถึงคดียึดทรัพย์ว่า หลังจากศาลฎีกาฯ ไต่สวนพยานเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น.ตามขั้นตอน องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จะต้องไปพิจารณาสำนวนคดี เอกสารหลักฐานและคำเบิกความของพยานฝ่ายอัยการสูงสุดผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้มีชื่อเจ้าของบัญชีทรัพย์ ผู้คัดค้าน และพยานที่ศาลเรียกมาไต่สวนเพิ่มเติม เพื่อทำคำวินิจฉัยตัวส่วนตัวของผู้พิพากษาองค์คณะแต่ละคน ก่อนจะกำหนดนัดวันประชุมลงมติวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีในแต่ละประเด็น แล้วเขียนคำพิพากษากลางด้วยมติเสียงส่วนใหญ่ขององค์คณะ และเพื่อป้องกันคำพิพากษารั่วไหล องค์คณะอาจนัดประชุมพิจารณาลงมติกันในช่วงเช้าวันที่ 26 ก.พ. ก่อนอ่านคำพิพากษาทันที่ในช่วงบ่าย โดยคดีนี้แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ และผู้คัดค้านจะไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา องค์คณะก็สามารถอ่านคำพิพากษาได้ทันที เพราะเป็นคดียึดทรัพย์ ที่พิจารณาว่าทรัพย์นั้นได้มาถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่ไม่ได้มีโทษจำคุก อย่างไรก็ดี ในช่วงที่องค์คณะฯ ร่างคำวินิจฉัยส่วนตัว คงไม่จำเป็นต้องขอกำลังเจ้าหน้าที่มาคุ้มครองดูแล คงทำงานไปตามปกติ ไม่น่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้น