“บรรเจิด สิงคะเนติ” อดีต คตส.เบิกความคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ยันทักษิณใช้อำนาจนายกฯออกกฎหมายมิชอบ ชินคอร์ปฯได้ประโยชน์ “สัก กอแสงเรือง” ระบุชัด ใช้อำนาจสั่งการเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่าเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ด้านอัยการเตรียมนำ “สุรเกียรติ์ เสถียรไทย” เบิกความ 22 ธ.ค.นี้
วันนี้ (1 ธ.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนไต่สวนยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมองค์คณะ รวม 9 คน ไต่สวนพยานคดีหมายเลขดำที่ อม.14/2551 ที่อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และครอบครัวรวมทั้งผู้มีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ รวม 22 ราย จำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทเศษ พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยใช้อำนาจหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เอื้อประโยชน์ธุรกิจส่วนตัว
โดยช่วงเช้า อัยการได้นำนายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เข้าเบิกความ สรุปว่า รับผิดชอบตรวจสอบในประเด็นการใช้อำนาจหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวรวมทั้งธุรกิจของพวกพ้อง รวม 5 กรณี การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต โทรศัพท์ระบบพรีเพดและโรมมิง เอ็กซิมแบงก์ และชินแซทเทิลไลท์ โดยในกรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต พบว่าไม่ได้เริ่มต้นมาจากกรมสรรพสามิต แม้การสอบถาม นายสมหมาย ภาษี อธิบดีกรมสรรพสามิต ขณะนั้นไม่ได้ยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มอบหมายให้ดำเนินการหรือไม่ แต่เรื่องดังกล่าวก็ถูกเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พิจารณาและส่งเรื่องไปสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ครม.จะสามารถแก้สัญญาได้หรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่า กระทำการใดๆที่จะกระทบกับสัญญาสัมปทานที่ทำไว้แล้ว ครม.ไม่มีอำนาจ แต่สามารถทำได้ด้วยการแก้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ต่อมามีการออก พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต โดยไม่ผ่านรัฐสภา จึงมองได้ว่าเป็นการใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ ถือเป็นการทรยศประชาชน
นายบรรเจิดเบิกความต่อว่า ในกรณีโทรศัพท์มือถือระบบพรีเพด เริ่มตั้งแต่มีการแก้ไขสัญญาครั้งที่ 6 ที่บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือแทค ขอแก้ไขค่าบริการระบบพรีเพด เป็นเหตุให้ เอไอเอส เอาเป็นเหตุขอลดบ้าง แต่ไม่เหมือนกัน เพราะแทคต้องเสียค่าเอ็กเซปให้แก่รัฐ ต่างกับ เอไอเอสที่ไม่เสีย คตส.จึงมองว่าไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องแก้ไขสัญญากับเอไอเอส และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ ส่วนในกรณีโรมมิง เอไอเอส เริ่มขอแก้สัญญาสัมปทานครั้งที่ 7 อ้างเหตุว่า เอไอเอสได้คลื่นความถี่จำกัดการขยายบริการต้องขอเชื่อมต่อโรมมิ่งกับเครือข่ายอื่น แล้วนำค่าบริการโรมมิ่งไปหักจากรายได้อ้างว่าเปค่าใช้จ่าย ก่อนนำรายได้ส่งเข้ารัฐ โดยเจ้าหน้าที่ของ ทีโอที มองว่าไม่สามารถทำได้ แต่เมื่อเรื่องถึงบอร์ดอนุมัติให้หักได้ ซึ่ง คตส.มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ เนื่องจากเอไอเอสได้ถือหุ้นบริษัทที่ให้บริการโครงข่ายที่เอไอเอสใช้อยู่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง ทำให้รัฐเสียหาย
นายบรรเจิด เบิกความถึงกรณีชินแซทฯ ว่า การยิงดาวเทียมไอพี สตาร์ไม่ถูกต้องตามหลักสัญญา เพราะเมื่อยิงดาวเทียมไทคม 3 ขึ้นไปแล้ว ต้องยิงดาวเทียมไทคม 4 ขึ้นไปเป็นดาวเทียมสำรอง แต่มีการปรับเปลี่ยนนำดาวเทียมไอพี สตาร์ ขึ้นไปแทน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดสัญญา เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ เป็นดาวเทียมเพื่อการค้าไม่มีคลื่น ซียูแบน เหมือนไทคม 3 คตส.จึงมองว่าการยิงดาวเทียมไอพีสตาร์ ขึ้นไปเพื่อไม่ต้องการทำสัญญากับรัฐใหม่ นอกจากนี้ยังมีการ พ.ร.บ.โทรคมนาคม ใน 2 ประเด็น คือ อนุญาตให้คนต่างด้าวถือหุ้นในบริษัทเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมห้ามไม่ให้ถือหุ้นเกิน 25 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่กำหนดให้บริษัทต้องมีกรรมการบริหารเป็นคนไทยได้ จากเดิมที่ต้องมีกรรมการบริหารเป็นคนไทย 3 ใน 4 เท่ากับเป็นการเปิดทางให้คนต่างด้าวเข้ามาถือหุ้นเป็นเจ้าของในบริษัทไทยได้ ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่า มีการประกาศในราชกิจจานุเษกษาในวันที่ 20 มกราคม 2549 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มกราคม และมีการขายหุ้นชินคอร์ป ในวันที่ 23 มกราคม ซึ่งเหตุที่ต้องมีการแก้ไขเนื่องจากเงินซื้อขายหุ้นมีมูลค่ามหาศาลจึงต้องการให้ต่างชาติมีความมั่นใจ จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ อาศัยช่วงเวลาที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาแก้ไขกฎหมาย
ต่อมาในช่วงบ่าย นายสัก กอแสงเรือง อดีต คตส.เบิกความสรุปว่า ในการไต่สวนอนุกรรมการคตส. พิจารณารายละเอียดว่าระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกใช้นโยบายช่วยเหลือ ใช้อำนาจสั่งการให้เอ็กซิมแบงค์ดำเนินการปล่อยกู้ให้กับประเทศพม่า และเป็นการใช้ช่องทางการเจรจาระหว่างประเทศช่วยเหลือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อตกลงในการประชุมผู้นำอาเซียนพุกาม ที่ประเทศไทยให้ความช่วยเหลือประเทศพม่า ไม่มีเรื่องโทรคมนาคม ดังนั้น ทาง คตส.ก็สรุปประเด็นความผิดอาญาใน 2 มาตรา คือ 152 และ 157 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดียึดทรัพย์เป็นของแผ่นดิน เอื้อประโยชน์ให้ บ.ชินแซทฯ สร้างความมูลค่า 600 ล้านบาท โดยการประชุมครั้งนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ นำนายพานทอง ชินวัตร บุตรชาย ที่ถือหุ้นชินคอร์ป และนำเจ้าหน้าที่ บ.เอไอเอส และ บ.ชินแซท รวม 10 คน ไปสาธิตการให้บริการโทรศัพท์มือถือระบบจีเอสเอ็มที่หน้าห้องประชุม จากนั้นมีการติดต่อผ่านกระทรวงต่างประเทศ ขอกู้เงินใช้ในกิจการโทรคมนาคม ข้อตกลงเดิมจะให้กู้ 3,000 ล้าน แต่ภายหลังตัวเลขที่เสนอเข้า ครม.อนุมัติสูงถึง 4,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.อนุมัติ คิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 3 แต่เอ็กซิมแบงก์ต้องไปกู้มาเสียดอกเบี้ยร้อยละ 5 จึงเป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับพวกพ้องทำให้รัฐเสียหาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการพิจารณา นายสมศักดิ์ เนตรมัย ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาเจ้าของสำนวนได้ชี้แจงคู่ความ กรณีที่หนังสือพิมพ์ลงข่าวทำนองว่าวันที่ 15 ธ.ค.นี้จะเป็นกำหนดนัดไต่สวนครั้งสุดท้าย และศาลอาจไม่อนุญาตให้เพิ่มวันไต่สวน ซึ่งอาจทำให้พยานบางปากเบิกความไม่เต็มที่เพราะอาจถูกทนายความฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและผู้ร้องซักค้านอย่างหนัก อาจเป็นเหตุให้ต้องตัดพยานบางปากออกไปนั้นไม่เป็นความจริง ศาลยังไม่ได้กำหนดนัดวันนัดไต่สวนพยานครั้งสุดท้าย หากอัยการผู้ร้องประสงค์จะสืบพยานที่มีความจำเป็นก็ให้แถลงเพิ่มเติมเพื่อกำหนดวันนัดพิจารณาอีกครั้ง
ด้านอัยการ ผู้ร้อง แถลงว่าในวันที่อัยการไม่ประสงค์ที่จะตัดพยาน ส่วนพยานปากนายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.ต่างประเทศ นั้นแจ้งมาว่าจะเดินทางกลับจากต่างประเทศในวันที่ 18 ธ.ค. และได้โทรศัพท์ประสานอย่างไม่เป็นทางการแล้วทราบว่านายสุรเกียรติ พร้อมจะเข้าเบิกความในวันที่ 22 ธ.ค.นี้เวลา 09.30 น. ดังนั้น ศาลจึงให้อัยการแถลงยืนยันอีกครั้ง
ภายหลังศาลไต่สวนพยานวันนี้ เสร็จสิ้นแล้วนัดไต่สวนพยานครั้งต่อไปในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ เวลา 09.30 น.