xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเตือนรัฐ อุ้มอุตสาหกรรมมาบตาพุดขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการติงหากรัฐเดินหน้าออกใบอนุญาตอุ้ม 55 โครงการมาบตาพุด ขัด รธน.50 แน่นอน แนะ! ให้ ครม.ใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์ในแง่ของกฎหมายอย่างเป็นกลางและถูกต้อง ลดปัญหาผลกระทบต่อประชาชน

วันนี้ (13 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกฯ อภิสิทธิ์” ถึงการเตรียมทำความเข้าใจเรื่องการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดกับภาคประชาชนว่า ถ้าพูดถึงเรื่องของการที่ใครที่มีความไม่เข้าใจอะไรอยากจะมาพูดคุย เช่นเดียวกันความไม่เข้าใจ หรือความเข้าใจที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับเรื่องของพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ที่ผ่านมา ก็มีพี่น้องประชาชน มีความเป็นห่วงเป็นใยเกี่ยวกับการอนุญาต ที่จะให้ประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว และกังวลว่าจะกระทบกับเรื่องของสุขภาพ

“ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะว่าในอดีตที่ผ่านมาก็เป็นปัญหาในเรื่องนี้อยู่ ผมก็ขอเรียนว่าได้นัดหมาย ที่จะพูดคุยกับแกนนำในเรื่องนี้เพื่ออธิบายครับ เพราะที่จริงแล้วรัฐบาลก็ยืนอยู่บนความพอดีครับ นั่นก็คือว่า จะไปบอกว่าไม่ให้มีการลงทุนเพิ่มเติมเลยคงไม่ได้ ก็จะกระทบกระเทือนมาก และการลงทุนบางอย่างก็จะเป็นการลงทุนเพื่อไปลดปัญหาในเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย”

นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า แต่แน่นอนถ้ามีการลงทุนอะไรที่กระทบกับสุขภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในชุมชนอย่างรุนแรง อย่างนี้ก็ต้องดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญตามกรอบของกฎหมายอย่างแน่นอน

นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การหารือระหว่างรัฐกับภาคประชาชนในวันที่ 18 ก.ย.นั้น หากผลการหารือเป็นว่า รัฐยังเดินหน้าออกใบอนุญาต ให้กับอุตสาหกรรมขยายการลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดทั้ง 55 โครงการ ก็ถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 67 แน่นอน

ทั้งนี้ เห็นว่ารัฐจะต้องดำเนินการจำแนกโครงการ ในนิคมอุตสาหกรรมาบตะพุด ที่เข้ามาตรา 67(2) หรือไม่ และจำแนกว่า โครงการใดจะกระทบกับประชาชนรุนแรงหรือไม่ก่อน เพราะถ้ากระทบอย่างรุนแรงจะเข้ามาตรา 67(2) เพราะฝ่ายวิชาการและภาคอุตสาหกรรมก็ประเมินไม่ตรงกัน ซึ่งฝ่ายวิชาการก็ประเมินว่า ผลกระทบด้านสุขภาพมีความรุนแรงมากกว่า 5 พันตัน ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็ประเมินว่า มีความรุนแรงเพียง 50 ตัน ขณะที่บางเกณฑ์ที่ประเมินก็ยังมีปัญหาในด้านความเป็นกลาง

“ซึ่งทางออกนั้นเห็นว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ควรจะใช้อำนาจออกกฎเกณฑ์ในแง่ของกฎหมายอย่างเป็นกลาง ถูกต้อง โดยดำเนินการจำแนกผลกระทบความรุนแรง ที่จะเกิดกับประชาชนให้มีความชัดเจน เพราะความรุนแรงที่เกิดกับประชาชนไม่ได้ เกิดเฉพาะที่มาบตะพุด ยังมีปัญหาที่ประจวบคีรีขันธ์ หรือกรณีของเหมืองโปรแตช” อาจารย์นิติศาสตร์ กล่าว

นายบรรเจิดกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 18 ก.ย.ที่มีการหารือระหว่างรัฐกับภาคประชาชนผลจะออกมาอย่างไร รัฐบาลก็จะต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพตามมาตรา 25(5) ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินผลด้านสุขภาพ ซึ่งจะต้องเอามาตกลงกันของทั้งรัฐและภาคประชาชนเพื่อลดความรุนแรงที่จะต้องทำตามกฎหมายเป็นหลัก นอกจากนี้ ระเบียบต่างๆ ที่รัฐจะออกมานั้นก็สามารถทำได้หากมีการลดความรุนแรงที่กระทบต่อประชาชน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ นายอภิสิทธิ์จะพูดคุยหารือในรายละเอียดของโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน โดยระบุว่าจะขอศึกษาในแต่ละโครงการ เพราะเชื่อว่าไม่ใช่ทุกโครงการจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น