xs
xsm
sm
md
lg

จับพิรุธ กม.ปรองดองฯ “เพื่อแม้ว” - วิปรัฐยันขัดนิติวิธี ไม่บรรจุเข้าวาระแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับพิรุธร่างกฎหมายปรองดองฯ มุ่งตอบสนอง “แม้ว” ระบุชัดเร่งเสนอหลังนายใหญ่โฟนอิน สอดรับกับคนเสื้อแดงเคลื่อนล้อมทำเนียบ ขณะที่เนื้อหาหวังลบล้างความผิดคดีทุจริตโกงเงินชาติด้วย แถมกำหนดนิรโทษให้กับการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตถึง 5 พ.ค. ทำลายหลักกฎหมายย่อยยับ ประธานวิปรัฐฯ ยันไม่บรรจุเข้าวาระแน่ เผย ส.ส.รัฐแหกคอกร่วมเสนอ กม.แค่ 4-5 คน ซ้ำไม่ใช่มติพรรค



รายการ “คนไทยข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 26 มี.ค. นายเติมศักดิ์ จารุปราน ดำเนินรายการ โดยมี ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายชินวรณ์ บุญเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปรัฐบาล เป็นวิทยากรรับเชิญ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกรณีพรรคฝ่ายค้านเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

นายชินวรณ์กล่าวว่า มีความพยามต่อเนื่องที่จะเสนอ ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ช่วงเปิดสภาแรกๆ แต่เมื่อมีกระแสไม่เห็นด้วยอย่างมาก และจากที่เคยนำเรื่องนี้เข้าหารือพรรคร่วมรัฐบาลก็เห็นว่าอาจไม่ใช่เพื่อการปรองดองตามชื่อที่ระบุ เพราะยังไม่ถึงเวลา แทนที่จะปรองดองกลับจะขัดแย้งมากขึ้น ผู้เสนอก็เงียบไป แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีการยื่นใหม่ ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขั้นตอนขณะนี้อยู่ที่ประธานฯ รับเรื่องไว้ ส่วนจะได้บรรจุเข้าวาระหรือไม่ ก็อยู่ที่วิปรัฐบาลจะหารือกันว่าเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่ ในสถานการณ์ที่ประชาชนกำลังต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า มีความพยามเหมือนมีความจงใจเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ให้สอดรับกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีอยู่ต่างประเทศ และกำลังเคลื่อนไหวในทางการเมือง เหมือน ส.ส.พวกนี้กำลังจะบอกว่าได้ดำเนินการให้แล้ว และส่วนหนึ่งก็สอดรับกับการชุมนุมหน้าทำเนียบ เพราะมันเป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นมาด้วยความแปลกมาก คือเขียนให้มีกรอบเวลาในการนิรโทษให้มีผลย้อนหลังให้กับกลุ่มบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 3 ที่สำคัญกว่านั้นคือให้มีผลไปในอนาคตด้วย คือถ้ามีการก่อเหตุตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 5 พ.ค.52 ก็จะได้รับการนิรโทษด้วย

เมื่อมาดูสาระสำคัญของกลุ่มที่คนที่จะได้รับการนิรโทษ ปรากฏว่าเหมือนจะให้การนิรโทษกรรมกับคนทุกกล่ม ตามอนุ 1 ในมาตรา 3 ดูเหมือนว่าจะนิรโทษให้กับผู้ที่ทำการปฏิวัติในวันที่ 19 ก.ย.49 ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว คณะปฏิวัติ ได้ร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ก็ได้ทำการคุ้มครองให้พ้นผิดอยู่แล้ว

นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า มาดูมาตราอื่นก็ไม่ได้มีการจำแนกชัดเจน กลุ่มบุคคลตามมาตรา 3 อนุมาตรา 2-3-4 ในแต่ละกลุ่มนั้น บางคนทำผิดกฎหมายอาญา หรือบางคนทำผิดเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชั่น หรือบางคนทำความผิดชัดเจนที่พี่น้องประชาชนรู้ว่ามันเป็นส่วนของการการดูหมิ่นบุคคลอื่น ดูหมิ่นสถาบันก็จะได้รับการพ้นผิดไปด้วย ซึ่งได้เขียนในบทสรุปท้ายว่า ให้ผู้กระทำนั้นพ้นผิด และพ้นจากการกระทำผิดนั้นโดยสิ้นเชิง

ในเชิงทางการเมืองเห็นได้ชัดว่า เจตนาของคนเสนอไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะให้ร่างกฎมายนี้เข้าสู่ การพิจารณาในสภาอย่างแท้จริง เพราะว่าโดยนิติวิธี โดยสาระบัญญัติของกฎหมายก็ดีไม่ได้เป็นการบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจะทำไปสู่การปรองดอง แต่จะนำไปสู่ความขัดแย้ง อย่างน้อยที่สุดที่เห็นชัดเจนก็มี 3 ประการคือ ประการแรก กลุ่มบุคคลที่มีความขัดแย้งทางความคิดกันอยู่แต่เดิมจะยิ่งมีความขัดแย้งกันมากขึ้น

“ข้อ 2 คนที่ยังเชื่อในหลักการที่ว่าใครทำความผิดต้องได้รับโทษ เข้าก็อยากจะเห็นว่าคนที่ทำผิดแล้วควรได้รับโทษ ไม่ใช่ว่าพอวันหนึ่งคุณมีอำนาจแล้ว คุณเข้าไปในสภา คุณออกกฎหมายได้ คุณก็ไปออกกฎหมายให้คนทำผิดไม่ต้องรับโทษ อย่างนั้นหรือ” นายชินวรณ์ กล่าว

ประการที่ 3 ในกระบวนการของการนำเสนอกฎหมายของกลุ่มบุคคลดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อผลตอบสนองตอบทางการเมือง เป็นการเสนอกฎหมายนี้เพื่อให้เห็นว่า เมื่อนายโฟนอินมา พวกตนก็ดำเนินการที่จะเสนอกฎหมาย ซึ่งมันขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ต่างจากฉบับอื่น เพราะฉบับนี้บอกว่า ส.ส.นั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตาม กม.รัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของบุคคลใด ไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลหรือการครอบงำและแทรกแซงตลอดจนผลประโยชน์ได้เสีย อันนี้จะเป็นปัญหา

ด้าน ดร.บรรเจิด ในฐานะอดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) กล่าวว่า ถ้าดูตั้งแต่ชื่อแล้วมาดูสาระของเรื่องมันมีความไม่ตรงไปตรงมาอยู่ จากชื่อ ถามว่าวัตถุประสงค์เป้าหลักจริงๆ คืออะไร ถ้า ออกกฎหมายปรองดองฉบับนี้มา ก็เท่ากับทำลายหลักนิติรัฐของไทยทั้งระบบ ประเด็นที่ต้องวิเคราะห์คือมาตรา 3 ใครคือผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนี้

ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ถ้ามาดูมารตรา 3 ซึ่งมีอยู่ 5 วงเล็บ จะเห็นว่า วงเล็บ 1 มุ่งหมายนิรโทษ คมช. วงเล็บ 2 มุ่งหมายนิรโทษบุคคลผู้ชุมนุมแล้วมีการกล่าวหมิ่นประมาทอะไรต่างๆ หรือเกี่ยวโยงกับเรื่องของการต่อต้านการปฏิรูป

ที่สำคัญคือ วงเล็บ 3 ซึ่งกินความหมายกว้างมาก คือนิรโทษให้กับการกระทำที่เป็นเหตุให้บุคคลหรือคณะบุคคลผู้ถูกสอบสวนไต่สวนดำเนินคดีหรือวินิจจากบุคคล คณะบุคคล หรืองค์กรตามคำสั่งหรือประกาศของคณะปฏิรูปฯ (คปค.) ทั้งนี้ ให้รวมถึงการกระทำที่บุคคลหรือคณะบุคคลผู้ถูกสอบสวนไต่สวนดำเนินคดีหรือวินิจฉัยจากบุคคลหรือคณะบุคคลหรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เกี่ยวข้องทางการเมืองด้วย

“ตรงนี้จะหมายความรวมโดยกว้างทั้งหมด อย่างใครถูกวินิจฉัย โดย คตส.อะไรต่างๆ นี่จะ อยู่ในข่ายนี้หมด” ดร.บรรเจิดกล่าว

ตรงนี้มาถึงประเด็นว่า ถ้าบุคคลถูกกล่าวหากระทำผิดฐานทุจริต แล้วได้รับการนิรโทษตามกฎหมาย 3 ฉบับนี้ กฎหมายฉบับนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 30 เพราะกฎหมายนี้จะกลายเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรม เพราะทำไม คนกลุ่มหนึ่งที่ทุจริต จึงได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ แล้วทำไมประชาชนที่ทุจริต จึงไม่ได้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ด้วย

“ส่วนที่อ้างว่าเพราะมันเชื่อมโยงทางการเมือง ถามจริงๆ คุณทุจริตมันเชื่อมโยงทางการเมืองยังไง คุณทุจริต โดยคุณได้กระทำโดยตัวคุณเอง มันไมได้เกิดจากการทุจริตเพราะการเมือง ไม่ได้เกิดจาก 19 ก.ย. แต่มันเกิดมาก่อน เพราะอะไรถึงจะให้ประโยชน์กับบุคลกลุ่มนี้เท่านั้น แล้วจะตอบคำถามได้อย่างไร หากคนทุจริตเอาเงินของแผ่นดินไป แล้วไปนิรโทษกรรมให้”

ดร.บรรเจิดกล่าวต่อว่า ตามเนื้อหาของ พ.ร.บ.ปรองดอง บางคนก็จะถือโอกาสบอกว่า คนที่ศาลลงโทษแล้วให้พ้นไปด้วย ไม่เป็นความผิด หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการก็เลิกรากันไป กฎหมายอาญาทั้งหลา กฎหมายทุจริตทั้งหลายมันไม่ใช่เพิ่งเกิด และการกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกตรวจสอบมันเกิดก่อน 19 ก.ย.ทั้งสิ้น

ดร.บรรเจิดย้ำว่า ร่าง กม.ฉบับนี้จะทำลายหลักการของกฎหมายอย่างสำคัญ และจะเพิ่มการขัดแย้งในสังคมแน่นอน เพราะคนที่ทุจริตจากกฎหมายเดียวกันแล้วไม่ได้ประโยชน์ ก็จะสะท้อนให้เห็นว่า ในกาลข้างหน้าใครก็ตามที่ทุจริตแล้วมีอำนาจกดดันทางการเมืองได้ คุณก็อาจได้รับการนิรโทษได้ มันก็เป็นแบบอย่างที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นมันไม่มีเหตุมีผล ที่จะออกกฎหมายฉบับนี้มาโดยอ้างการปรองดอง

ส่วนเนื้อหาในวงเล็บ 1 นั้นมันไม่เกี่ยว เพราะการยึดอำนาจวันที่ 19 ก.ย.นั้น มีรัฐธรรมนูญ 2550 คุ้มครองแล้ว ส่วน คตส.ก็ไม่จำเป็นต้องไปนิรดทษให้ เพราะการดำเนินการมีผลผูกพันองค์กรต่างๆ แล้ว ดังนั้นวงเล็บหนึ่ง อาจเป็นแค่ตัวหลอก ให้ดูว่า มีความเสมอหน้า แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ ต้องถอดรหัสออกมาว่า แต่ละวงเล็บก็จะเห็นว่าใครได้ประโยชน์กันแน่

นายชินวรณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เสนอคงไม่หวังผลให้ผ่าน ยิ่งได้ฟังเหตุผลทางกฎหมายจาก ดร.บรรเจิดแล้ว ตนในฐานะประธานวิปรัฐบาล คงปล่อยให้กฎหมายเป็นไปในลักษณะนี้ไมได้ เรื่องของเป้าหมายที่แท้จริงของการนำเสนอ ก็ไม่เป็นไปตามเจตนาที่อ้างเอาไว้ หลักนิติวิธีก็ไม่เป็นไปตามขบวนการ และ 3.ไปยกเว้นหลักการในหลายหลักการ ยกตัวอย่าง วรรค 2 กรณีนายจักรภพ เพ็ญแข ถูกกล่าวหาว่าดูหมิ่นสถาบัน ควรนิรโทษเพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคตหรือไม่

ส่วนวรรค 3 กรณีการตรวจสอบของ คตส.หลายกรณีมันเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าคนที่บริสุทธิเขาก็ไม่ร้อนใจ เพราะ คตส.ตรวจสอบแล้วต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลอีก เขาก็มีสิทธิที่จะต่อสู้ได้ มาในส่วนของกลุ่มทางการเมือง บุคคลที่ถูกตัดสิทธิ 5 ปี ก็ไม่ได้ม่ากดดันอะไร ส่วนกระบวนการที่จะไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าคงห่างไกล จากการประสายงาน

“ผมว่าทุกพรรครัฐบาลไม่เห็นด้วยกับ ร่าง กม.นี้ เพราะไมได้เป็นไปตามเจตนารวมย์การปรองดองอย่างแท้จริง ถ้าปรองดองต้องเปิดให้มีกรรมการอิสระเปิดพื้นที่ให้คนใจกว้างมาร่วมมือกัน ว่าเราจะแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างไร เพื่อจะพัฒนาประเทศในอนาคต” นายชินวรณ์กล่าว

ส่วนกรณีที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไปลงชื่อเสนอกฎหมายนี้นั้น นายชินวรณ์กล่าวว่า มีแค่ 5-6 คน และได้ยืนยันจากพรรคร่วมรัฐบาลว่าไม่มีมติพรรค และพรรคไม่รู้เห็น แต่ ส.ส.ไปทำในนามส่วนตัว ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ให้เอกสิทธิทำได้โดยอิสระ ส.ส.ที่ไปลงชื่อ เขาก็ต้องชี้แจงเอง ซึ่งจากการได้คุยบางคนก็บอกว่า ยังไมได้อ่าน แค่ลงชื่อไปอย่างนั้น เพราะเห็นบอกว่าเป็นกฎหมายเพื่อความปรองดอง เพราะฉะนั้นคนแค่ 4-5 คน เราจะบอกว่าเป็นของพรรคร่วมคงไมได้ เพราะฉะนั้นผมขอชี้แจงว่า ยืนยันอีกครั้งว่า ในนามพรรคร่วมรัฐบาลเรายืนยันและมีความเห็นสอดรับกันว่าเราไม่เห็นด้วยที่จะนำกฎหมายนี้มาพิจารณา

นายชินวรณ์ยืนยันว่า แม้นักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจได้ประโยชน์จากกฎหมายปรองดองโดยเฉพาะคนที่มาจากบ้านเลขที่ 111 หรือ 109 ก็จะพ้นผิดไปด้วย แต่ก็เห็นผู้ใหญ่ของพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละคนมีความสุขดี และเห็นว่าทุกพรรคมีเจตนาร่วมกันที่จะนำบ้านเมืองให้พ้นวิกฤติ คือวิกฤติทางการเมืองที่มันล้มเหลว และวิกฤติเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายการทำงานของเรา ทำอย่างไรจะให้มันขับเคลื่อนไปได้ และพรรคร่วมก็มุ่งไปประเด็นนี้มากกว่าที่จะเอาตัวรอดกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

**พิรุธกำหนดวันนิรโทษฯ ล่วงหน้า

นายบรรเจิดกล่าวถึงการกำหนดห้วงเวลาที่จะได้รับการนิรโทษ โดยเริ่มจาก 19 ก.ย.49 ไปจนถึง 5 พ.ค.52 ซึ่งฝ่ายค้านที่เสนออ้างว่าเป็นวันดีเป็นวังมงคลนั้น การออกกฎหมายนิรโทษมันต้องมีความแน่นอนชัดเจน คือแน่นอนชัดเจนเกี่ยวกับตัวคนที่เกี่ยวข้อง แน่นอนชัดเจนในเงื่อนเวลาซึ่งถ้าเกิดไปนิรโทษให้กับความผิดในอนาคตแล้ว เท่ากับว่าเรากำลังเขียนกฎหมายให้คนทำผิดได้ภายในเงื่อนเวลานี้ไม่ให้มีความผิดในแง่ของหลักความแน่นอนชัดเจนมันใช้ไม่ได้เลย

“เราอย่าลืมว่าการนิรโทษมันเป็นการไปยกเว้นโทษ มันต้องชัดเจนว่าใครบ้าง การกระทำอย่างไรบ้าง แต่ถ้าเราไปเขียนยกเว้นผิดให้การกระทำในอนาคต มันจะกระทบหลักกฎหมายที่มีค่าบังคับยอยู่ ท้ายที่สุดกฎหมายพวกนี้อาจไม่มีค่า เพราะอาจจะเขียนให้ไม่เป็นความผิดไว้ล่วงหน้าก็ได้ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายในลักษณะอย่างนี้ก็จะไม่มีการเคารพ” นายบรรเจิดกล่าว

นายชินวรณ์กล่าวเสริมว่า มันเป็นกาเคลื่อนไหวที่สอดรับกันกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง ผู้เสนอร่าง ต้องรับผิดชอบในทางการเมือง การไปเสนอร่างกฎหมายนี้ชัดเจนว่าเพื่อตอบสนองกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม โดยไม่ส่งต่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยภาพรวม การไปวางกรรอบนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงอนาคต มันไม่ชอบแล้ว และยิ่งไปเอาวันที่ 5 พ.ค.ซึ่งเราก็รู้ว่าเป็นวันฉัตรมงคล อยากถมผู้ร่างว่า มีเป้าหมายที่แท้จริงคืออะไร

“ผมเชื่อว่า ใครก็ตามถ้าเอาการเคลื่อนไหวทางรัฐสภา เพื่อตอบสนองบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในระยะยาวประชาชนก็จะปฏิเสธ” นายชินวรณ์กล่าว

นายบรรเจิดกล่าวอีกว่า การปรองดองจริงๆ มันต้องมาจากปัญหากาจากความขัดแย้งทางการเมืองแล้วทำให้รัฐเสียหาย ซึ่งต้องนำไปสู่การปรองดอง โดยรัฐอาจจะยอมเสียบางอย่าง แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับปัจเจกบุคคล กรณีมันเป็นความเสียหายที่เกิดกับปัจเจกบุคคล จะมานิรโทษได้อย่างไร เพราะมันกระทบกับบุคคลอื่น เรื่องของการปรองดองมันต้องมีฐานของมันด้วย ไม่ใช่คิดจะไปยกโทษให้ใครแล้วก็ไปอ้างว่าเป็นการปรองดอง


กำลังโหลดความคิดเห็น