นักกฎหมายประสานเสียงยันตามหลักกฎหมายให้ยึดพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นกฎหมายใหม่ แทนประกาศคณะปฏิวัติได้เลย ยกถ้ากฎหมายควบคุมเหล้าผิด กฎหมายเลือกตั้ง ที่ห้ามขายเหล้าวันเลือกตั้งก็ต้องผิดด้วย ระบุ อยู่ที่วัตถุประสงค์ของกฎหมายมากกว่า ขณะที่ สคก.เตรียมพิจารณามาตรการห้ามขายเหล้าสงกรานต์พรุ่งนี้
นายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตามหลักของนิติศาสตร์แล้ว หากกฎหมายใหม่และกฎหมายเก่ามีความขัดแย้งกัน ให้ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ เช่นเดียวกันกับมาตรการในการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่ต้องยึด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แทนประกาศของคณะปฏิวัติที่ 253/2515 อีกทั้งพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแล้ว
“มีความพยายามสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขัดแย้งกับประกาศของคณะปฏิวัติฯ แต่แท้จริงแล้ว หากมีมาตรการห้ามขายเหล้าในช่วงสงกรานต์ หรือวันอื่นๆ นายกรัฐมนตรีก็ลงนามในประกาศตามความเห็นของคณะกรรมการนโยบายฯโดยที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ที่มอบอำนาจให้สามารถกำหนดมาตรการในการกำหนดวันและเวลาในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้”นายบรรเจิด กล่าว
นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า หากจะออกประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวันและเวลาที่ระบุในช่วงเทศกาลสงกรานต์โดยอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นเป็นเรื่องที่ผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งที่ระบุว่าห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันเลือกตั้งก็ต้องผิดด้วย แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะแต่ละกฎหมายก็มีวัตถุประสงค์ต่างกัน พ.ร.บ.การเลือกตั้งห้ามจำหน่ายสุรามีวัตถุประสงค์ไม่ต้องการให้ประชาชนดื่ม และกระทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง ส่วนทั้งประกาศของคณะปฏิวัติ และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันอย่างไรไม่ทราบ แต่ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็มีความชัดเจน คือ ในการลดการเข้าถึงและลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อลดการสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
“การโยนให้สำนักงานคณะกรรมการการกฤษฎีกา (สคก.) ไม่มีอะไรมากไปกว่าการถ่วงเวลา เพราะกว่าที่ สคก.จะตีความเสร็จก็อาจจะไม่ทันช่วงเวลาสงกรานต์ หรือคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ สคก.เร่งการพิจารณาก็ไม่แน่ใจว่าจะทันหรือไม่ นอกจากนี้ มติของคณะกรรมการนโยบายฯ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าคณะรัฐมนตรีอีก เพราะประกาศกระทรวงไม่เหมือนกับกฎกระทรวงที่มีจารีตว่าจะต้องผ่านความเห็นของ ครม.ซึ่งนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีตามกฎหมายสามารถลงนามได้ทันที” นายบรรเจิด กล่าว
ด้าน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ตามหลักการของกฎหมายแล้วกฎหมายที่มีความขัดแย้งทางเนื้อหาก็ย่อมจะยึดเอากฎหมายที่ใหม่กว่าเป็นแนวปฏิบัติ แต่ทั้งนี้ เนื่องจากตนเองไม่ได้มีรายละเอียดในประกาศของคณะปฏิวัติที่ 253/2515 และ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จึงไม่สามารถให้รายละเอียดใดๆ เพิ่มเติมได้
“หากใครทำอย่างไรไว้ ก็จะได้รับกุศลกรรมหรือวิบากกรรม และหากใครมีโอกาสที่จะทำสิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศลแล้วไม่ทำ ก็จะต้องได้รับกรรมจากการปฏิบัติของตนเองในอนาคต”นายจรัญ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 มี.ค.คณะอนุกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 10 จะมีการพิจารณาข้อหารือทางกฎหมายของคณะกรรมการนโยบายฯในเรื่องมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหลังจากนี้ หาก สคก.มีคำวินิจฉัยอย่างไรจะส่งไปยังคณะกรรมการนโยบายฯที่จะมีการประชุมกันภายในสัปดาห์หน้าเพื่อสรุปมติ และให้นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีที่รักษาการณ์ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ลงนามออกประกาศ