xs
xsm
sm
md
lg

เนวินไม่สำนึกโกงกล้ายางอ้างย้อนเวลาได้ก็จะอนุมัติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (4 มี.ค.) นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาเจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 พร้อมองค์คณะ 9 คนออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยานโจทก์ครั้งแรก ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะ คชก. นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการกล้ายาง นายสรอรรถ กลิ่นปทุม อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะ คชก. กับพวก รวม 44 คน ประกอบด้วย กลุ่ม คชก. ,กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา , บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์จำกัด ในเครือซีพี ,บริษัท รีสอร์ทแลนด์จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตรจำกัด เป็นจำเลย
ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ผู้ใดทุจริตหลอกลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อให้ได้ไปทรัพย์สินอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151, 157, 341, ประกอบ มาตรา 83, 84, 86, 90 และ 91 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9-13 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 กรณีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้นของกรมวิชาการเกษตรมูลค่า 1,440 ล้านบาท
ก่อนเริ่มการไต่สวนพยานโจทก์กลุ่มจำเลยได้ส่งตัวแทนแถลงเปิดคดีด้วยวาจา โดยนายเนวิน จำเลยที่ 4 ได้แถลงเปิดคดีด้วยใบหน้าเศร้าซึมโดยยืนยันว่า การดำเนินโครงการปลูกยางพารายกระดับรายได้และความมั่นคงให้เกษตรกร ในแหล่งปลูกยางใหม่ระยะที่หนึ่งแถบภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อสร้างรายได้และความมั่นคงให้กับเกษตรกร รวมทั้งเป็นนโยบายเพื่อแก้ไขความยากจน ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนถึงฉบับปัจจุบัน
โดยมีการปลูกต้นยางนำร่องในจังหวัดภาคเหนือ และภาคอีสานพื้นที่รวม 1 ล้านไร่ และขณะนี้พบว่ามีการขยายพื้นที่โครงการเป็น 3 ล้านไร่ ซึ่งหลังจากเริ่มปลูกกล้ายาง เมื่อปี 2547 เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้ภายในอีก 2 ปี (ปี 2554) ทั้งนี้การสนับสนุนปลูกยางยังช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกร เพราะหากมีการกรีดยางหลังเก็บเกี่ยวแล้วราคาไม่ดีก็สามารถเก็บยางแผ่นไว้รอขายได้ ไม่เหมือนกับการปลูกพืชไร่ พืชสวน และเมื่อพ้นระยะเวลา 25 ปีที่ต้นยางจะหมดน้ำยางแล้วเกษตรกรยังสามารถตัดต้นยางขายได้ในราคาเฉลี่ยไร่ละ 70,000-80,000 บาท จึงเห็นได้ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนเกษตรกร
หากย้อนเวลากลับไปได้แล้วจะต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติโครงการหรือไม่ ผมยืนยันว่าก็จะดำเนินการอนุมัติโครงการนี้อีกต่อไป เพราะการอนุมัติดำเนินโครงการได้ตัดสินใจด้วยเหตุผล และการพิจารณาสัญญาการจัดซื้อต้นกล้ายาง สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นทนายความแผ่นดินของรัฐบาลได้ตรวจพิจารณาแล้ว เห็นว่าได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน ดังนั้นจึงได้ดำเนินโครงการ โดยความเชื่ออย่างสุจริตใจ โดยผมหวังว่าจะได้รับความเมตตาจากศาลจะให้ความเป็นยุติธรรม
ขณะที่ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 14 ซึ่งขณะเกิดเหตุคดีนี้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าภายในและเป็นกรรมการและเลขานุการ คชก. ได้แถลงคดีด้วยวาจา ยืนยันว่า การพิจารณาอนุมัติใช้เงินในโครงการ ได้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ.2534 โดยการเบิกจ่ายกรมบัญชีกลางก็เป็นผู้ดูแลตามระเบียบสำนักนายกฯ
หลังจากนั้น นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความของ นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 13 ยังได้แถลง เปิดคดีด้วยวาจาต่อศาล
ภายหลังกลุ่มจำเลย แถลงเปิดคดีด้วยวาจาเสร็จสิ้นแล้ว นายเจษฏา อนุจารีย์ ทนายความของ ป.ป.ช. ได้นำนายบรรเจิด สิงคะเนติ ประธานอนุ คตส. เข้าไต่สวน โยนายบรรเจิด เบิกความลำดับการตรวจสอบโครงการ ระบุว่า เรื่องนี้เริ่มต้น การตรวจสอบจาก สตง. ที่เป็น 1 ใน 20 รายการ ที่ สตง.ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงิน ของโครงการต่างๆ โดยหลังจากที่มีการแต่ง คตส. แล้วตนได้รับแต่งตั้งเป็น ประธานอนุ คตส. และได้มีการตรวจสอบโครงการนี้จากรายงานการประชุม คชก. ประกอบคำชี้แจง และคำให้การผู้ถูกกล่าวหา ที่ครั้งที่เริ่มเรื่องตรวจสอบมีผู้ถูกกล่าวหา 90 คน ในกลุ่ม ครม. , คณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ริเริ่มโครงการ , กลุ่ม คชก. , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และกลุ่มบริษัทเอกชน
แต่เมื่ออนุ คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการที่ ครม. มีมติเกี่ยวกับโครงการนี้ เป็นการพิจารณากำหนดเงื่อนไขที่ว่าหากจะมีการดำเนินการจะต้องให้ คชก. พิจารณา มีมติเกี่ยวกับการใช้เงินในโครงการ จึงเห็นว่าเป็นมติที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งไม่ใช่การมีมติริเริ่มโครงการจึงมีความเห็นไม่ฟ้อง แต่ได้มีความเห็นฟ้องเฉพาะกลุ่ม ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองบางคนที่เกี่ยวข้องในการผู้ริเริ่มโครงการ , กลุ่ม คชก. , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการกำหนดทีโออาร์และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา และกลุ่มบริษัทเอกชน โดยคตส. ได้มีการแจ้งข้อกล่าว และให้ผู้ถูกกล่าวมีโอกาสชี้แจงอย่างเต็มที่
ส่วนที่ผู้ ถูกกล่าวหาบางคน อ้างว่า ไม่ได้รับทราบข้อกล่าวหา และไม่ได้ยื่นคำชี้แจงนั้น คตส. ยืนยันว่าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่ง คตส. นำมาปฏิบัติแล้วว่า เมื่อได้ทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาตามที่อยู่แล้ว หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ยื่นคำชี้แจงก็ถือว่าไม่ติดใจ
ทั้งนี้ เมื่อนายบรรเจิด ประธานอนุ คตส. เบิกความจนถึงเวลา 15.30 น. ปรากฏทนายความจำเลยยังมีประเด็นซักถามอีก แต่เนื่องจากหมดเวาลราชการ ศาลจึงนัดไต่สวนพยานปากนายบรรเจิด พร้อมกับน.ส. ผ่องเพ็ญ สัมมาพันธ์ ผอ. สำนักงาน กองทุนสงเคราะห์ การทำ สวนยาง (สกย.) ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 09.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น