xs
xsm
sm
md
lg

สัมมนาCTXฉะกันแหลก ป.ป.ช.-อัยการรุมอัดคตส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 13..30 น. วานนี้ (2ก.พ.) ที่อาคารรัฐสภา 2 คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จัดสัมมนาเรื่อง"อุปสรรคของป.ป.ช. : ศึกษากรณีซีทีเอ็กซ์ เดินหน้าหรือว่าละลายหาย" ซึ่งมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน ทั้งนี้ในการสัมมนาได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมสัมมนาโดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย นายใจเด็ด พรไชยยา กรรมการป.ป.ช. นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมการ คตส. และนายคำนูณ สิทธิสมาน เป็นวิทยากร ในการสัมนา
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ กล่าวว่า กรณีการทุจริตเครื่องครวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ เกิดจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ ตรวจสอบคนของตัวเอง โดยเรื่องนี้ซับซ้อน หาใบเสร็จยาก แต่รัฐบาลสหรัฐฯก็พบว่า บริษัทของสหรัฐฯ มีการบวกราคาเพิ่ม
อย่างไรก็ดี สหรัฐฯก็เข้าใจดีเรื่องการทุจริตว่าหาใบเสร็จยาก จึงมีการเจรจานอกรอบ ซึ่งบริษัทนั้นก็ยอมจ่ายค่าปรับ คนทั่วไปก็รู้ว่าโกง แต่ไม่มีหลักฐาน แต่ในคำฟ้องของทางการสหรัฐฯ ก็เขียนไว้ชัดว่าร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย สำหรับในส่วนฝ่ายไทย เรื่องนี้อาจเรียกว่า เป็นการทุจริตเชิงนโยบาย ลักษณะทำเป็นนโยบายเร่งด่วน
ทั้งนี้ การมีนโยบายเร่งด่วนไม่ใช่สิ่งผิด เพราะกรณีนี้ยิ่งทำสนามบินสุวรรณภูมิเสร็จเร็ว รายได้ก็จะเข้ามา แต่ที่มีปัญหาเพราะไปทำลัดขั้นตอน อ้างเร่งด่วนเพื่อเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษ ไม่ได้เร่งด่วนให้สนามบินเสร็จเร็ว
ส่วนวิธีการอ้างเทคนิค ก็ทำให้เกิดการล็อกสเปก ซึ่งกรณี ซีทีเอ็กซ์ ยังมีการซื้อมาเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ไม่จำเป็น เพราะโดยทั่วไป การตรวจระเบิด ใช้การตรวจเบื้องต้นด้วยเครื่องแบบอื่นได้ หากมีปัญหาจึงค่อยนำมาเข้าซีทีเอ็กซ์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีมากถึง 26 เครื่อง
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบในขณะนี้ คงต้องให้องค์กรอิสระที่ตรวจสอบอยู่ดำเนินการต่อไป รัฐบาลไปยุ่งไม่ได้ แต่สนามบินสุวรรณภูมิก็ต้องเดินหน้าต่อ ต้องมีการขยายต่อ แต่ก็จะไม่เร่งรัดเกินความจำเป็น และจะป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ซึ่งจากปัญหาเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น 2-3 ปี ตั้งแต่นี้คงไม่ทำให้นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงมีเวลาดำเนินการอย่างรัดกุม ส่วนที่ดอนเมือง ยังจะต้องเป็นโลว์คอสต์ แอร์พอร์ต โดยความปลอดภัยต้องเป็นอันดับหนึ่ง ความสะดวกเป็นอันดับสอง
ด้านนายถาวร เสนเนียม กล่าวพร้อมกับนำเสนอรายงานชุด "กลยุทธ์การทุจริตซีทีเอ็กซ์ : บทเรียนและบทสรุป" โดยชี้ให้เห็นว่ากลิ่นของการทุจริตการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มต้นจากโครงการถมทราย สมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อปี 2538 และจนวันถึงวันนี้ก็มีการทุจริตอยู่ทุกวัน ตนตรวจสอบอย่างไม่ไว้หน้า แม้แต่เพื่อนฝูงที่เป็นอัยการด้วยกัน เพราะหลักของตนคือ แม้แต่พ่อกับแม่ก็ไม่เว้น
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า รัฐบาลชุดนี้นำเอาบุคคลที่มีข้อกล่าวหาติดตัวมาเป็นบอร์ดการท่าฯนั้น ยืนยันว่าไม่มีการทำเช่นนั้น และจะนำเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณา

**ชี้สั่งฟ้องช้าเพราะปัญหาทับซ้อน
ด้านนายบรรเจิด สิงคเนติ อดีตกรรมการ คตส. กล่าวว่า คตส. มีมติกล่าวหาพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกในกรณีนี้ ซึ่งอัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์มา 20 ประเด็น ทำให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย แต่ด้วยความที่ คตส.หมดอายุ จึงโอนเรื่องให้ป.ป.ช.ทำต่อ ทางป.ป.ช. ก็ได้ตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการ ซึ่งอุปสรรคในการตรวจสอบ ในส่วนข้อกฎหมาย อาทิ
1. หนึ่งในข้อไม่สมบูรณ์ที่อัยการแจ้งมานั้น คือเรื่องอัยการไม่สามารถแยกฟ้องอัยการสูงสุดได้ เพราะอัยการสูงสุด เข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องนี้ เมื่อครั้งเป็นรองอัยการสูงสุด โดยไปนั่งเป็นบอร์ด ทอท. ถามว่าเรื่องนี้ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบหรือไม่
2. คณะทำงานร่วมดังกล่าว ดำเนินการไม่เสร็จภายใน 30 วัน โดยอ้างถึงการที่อัยการแจ้งข้อไม่สมบูรณ์มา 20 ประเด็น ถามว่า ใครจะรับผิดชอบความเสียหายที่ตามมา
3. กรณีอัยการสูงสุดที่ไปเกี่ยวข้อง คณะทำงานร่วมมีความเห็นอย่างไร เพราะรัฐต้องดำเนินการผ่านอัยการสูงสุด แต่อัยการสูงสุดไปเกี่ยวข้องด้วย จึงทับซ้อน ฐานของปัญหาส่วนหนึ่งคือ การที่อัยการไปเป็นบอร์ดด้วย เป็นปัญหาความทับซ้อนเชิงระบบ เพราะองค์กรชี้มูล แต่ข้อต่อก่อนไปศาลกลับเป็นคนๆ เดียวคืออัยการสูงสุด ฉะนั้นต้องดูความเหมาะสมในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่มีอัยการไปนั่งเป็นบอร์ดด้วย ไม่รู้ว่า แบ่งเค้กกันไปแล้วหรือไม่ ตรงนี้ขอฝากรัฐบาลด้วย รวมถึงคณะทำงานร่วมต้องชี้ออกมาเรื่องการแยกฟ้อง รวมถึงขอบเขตของเรื่องที่จะสอบเพิ่มเติม มีเงื่อนเวลาอย่างไร

**ป.ป.ช.ยันช้าเพราะหลักฐานไม่ครบ
นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า อยากบอกว่าสาเหตุที่คดียังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากคดี ซีทีเอ็กซ์ เป็นคดีของกระบวนการยุติธรรม ไม่ใช่เป็นคดีสาธารณะ ซึ่งบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการวินิจฉัย หรือใต่สวนคดีเด็ดขาด และการรวบรวมหลักฐานนั้นไม่ได้ทำคดีใดเป็นพิเศษ อัยการสูงสูดจะสั่ง หรือฟ้องคดีเดียวกันไม่ได้ คณะทำงานร่วมก็ไม่มีสิทธิไปวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม การฟ้องในคดีนี้เป็นการโยงไปยังนักการเมือง แต่ขณะนี้ประเด็นการพิจารณาในส่วนนักการเมืองยังไม่จบ จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ ดังนั้นตนก็ไม่สนใจ เพราะหลักการเขาไม่ได้ให้เราวินิจฉัน ตนไม่สนใจไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ตราบบใดที่ข้อเท็จจริงไม่สมบูรณ์ ก็ยังไม่สามารถพิจารณาอะไรได้ ซึ่งวันนี้เป็นประเด็นข้อเท็จจริง 13 เรื่อง และเป็นข้อกฎหมายอีก 4 เรื่อง วันนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะตัดสินใจ ตนจะไม่ยอมติดคุกแทนคนอื่น และไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงได้ ขอยืนยันว่าตั้งแต่ตนเป็นอัยการมา 40 ปี ทำงานด้วยความารอบคอบ และคดีนี้ก็ทำด้วยความรอบครอบความรวดเร็วต้องคู่คุณธรรม ซึ่งหลักฐานไม่ได้หาได้ตามท้องตลาด แต่ตนจะรีบทำคดีนี้อย่างช้าๆ
"การจะสรุปเรื่องให้ได้ เราต้องฟันธงว่าจะฟ้องใคร จะกล่าวหาใครต้องชัดเจนว่าเขาทำอะไรผิด ถ้าเราไม่สอบให้ตรงประเด็น เราจะวนไปวนมา ดังนั้นการวางรูปคดีเป็นเรื่องสำคัญ หลักการคือ เขาทำอะไรผิดต้องชัดเจน โดยเฉพาะคดีนโยบายมันมองไม่ออก ต่างกับคดีลัก วิ่ง ชิง ปล้น แต่กระบวนการเป็นกระสวยต่อเนื่อง เราต้องตัดต่อให้เห็นโครงสร้างว่า ใครทำอะไร เพื่ออะไร ปัญหาของเราคือ พยานที่รวบรวมมาได้เพียงพอจะพิสูจน์ความผิดหรือไม่

**อัยการอ้างทำตามกระแสไม่ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายการสัมมนา บรรยากาศเป็นไปอย่างดุเดือดขึ้น เมื่อน.ส.รสนา ลุกขึ้นถามนายใจเด็ดว่า สิ่งที่หายไปที่ทำให้คดีไม่คืบหน้านั้นอยู่ในระดับไหน เป็นสีทาบ้าน หลังคา หรือเสาเรือน นายใจเด็ด ตอบทันทีว่า“เสาเรือน” ทำให้ นายคำนูณ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า หากสิ่งที่หายไปเป็นถึง “เสาเรือน” เท่ากับว่าหยามการทำงานของ คตส. ขอให้นายบรรเจิด ชี้แจง แต่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด ซึ่งเข้าร่วมการสัมมนาด้วย ได้ขออภิปรายโดยกล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าคตส.ทำบกพร่อง แต่ผลส้มมีหลายด้าน ต้องหมุนให้ครบทุกด้าน ต้องฟังครบทุกคน ต้องให้มีความชัดเจนว่า ผู้ที่ถูกกล่าวหาทำผิดหรือไม่ เสาหลักของเรื่องนี้อีกประการคือ หนังสือสัญญาซื้อขายของสหรัฐฯ ถามว่าทำไม คตส.ไม่เชื่อ หรือจะบอกว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ทุจริตด้วยก็สุดแล้วแต่ หรือกรณีวางถุงขนมใส่เงินไว้ที่ศาลเฉยๆ แล้วต้องเป็นความผิดทันทีได้หรือไม่ อัยการจะลงโทษตามกระแสไม่ได้ ถ้าความยุติธรรมเป็นไปตามกระแส เราไม่สามารถอยู่เป็นประเทศชาติได้

**คตส.ตอกกลับไม่คิดทำตามกระแส
จากนั้นนายบรรเจิด ชี้แจงว่า ตนไม่สนใจว่าใครจะหยาม คตส. เพราะไม่เคยคิดทำตามกระแส ทำตามพื้นฐานข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ ที่ผ่านมาอัยการหลายคนกล่าวว่า คปค.30 ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อศาลวินิจฉัยออกมาไม่มีอัยการออกมาพูด การที่เรากล่าวหาหลายคน เพราะเชื่อมโยงมติ เมื่อเราเห็นว่ามติผิด แต่คนที่ออกมติไม่ผิดได้อย่างไร คตส.ไม่อาจจะที่กล่าวหาใครโดยปราศจากหลักฐานพฤติการณ์ เพราะเรายืนบนผลประโยชน์ของบ้นเมือง
ทางด้านใจเด็ด กล่าวออกตัวว่า ต้องขออภัยด้วยหากนายบรรเจิดคิดว่าการพูดของตนเป็นการหยาม เพราะในฐานะที่เป็นนักกฎหมายนั้น ข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมายสายมารถเห็นต่างกันได้ ตนไม่ได้หยามคตส.ถือว่าท่านทำสุดฝีมือ ถ้าคิดว่าไม่ดีก็ต้องขออภัย
กำลังโหลดความคิดเห็น