xs
xsm
sm
md
lg

คตส.โวย อสส.ทำมึนสำนวนโกงกล้ายาง จ่อส่งฟ้องเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการคตส.
“บรรเจิด” ฉะที่ประชุมร่วมอัยการโกงกล้ายางไม่ชัดเจน ลั่นไม่จำเป็นต้องทบทวนใหม่ เหตุสำนวน คตส.รัดกุมแล้ว ลั่นส่งฟ้องเองแน่ งง อสส.ไม่เข้าใจ ม.11 ด้าน “อุดม” หวั่นความเห็นโฆษก อสส.เปิดช่องฝ่ายตรงข้ามสู้คดี

วันนี้ (22 เม.ย.) นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีการจัดซื้อพันธุ์กล้ายางพารา 90 ล้านต้น ของกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงกรณีที่ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงกรณี คตส.ขอสำนวนคดีทุจริตจัดซื้อกล้ายางพารา 90 ล้านต้นคืน เพื่อยื่นฟ้องคดีเองว่า เนื่องจากอัยการสูงสุดได้พิจารณาสำนวนคดีของ คตส.แล้ว เห็นว่า ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ใน 3 ประเด็น คือ สำนวนไม่ปรากฏชัดว่า ให้อัยการสูงสุดฟ้อง นายบรรพต หงษ์ทอง อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่มีการแจ้งข้อหาฐานฉ้อโกงแก่ผู้ถูกกล่าวหา และไม่มีบันทึกคำให้การของพยานสำคัญอยู่ในสำนวน จึงแจ้ง คตส.ให้กลับไปรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ แต่ คตส.กลับเพิกเฉย เป็นเหตุให้อัยการสูงสุดไม่สามารถมีความเห็นสั่งคดีว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องได้ ทำให้ คตส.ขอสำนวนคืนเพื่อส่งฟ้องศาลเอง ว่า ยืนยันว่า คตส.ได้ชี้แจงข้อไม่สมบูรณ์เรื่องที่อัยการระบุว่าการแจ้งข้อกล่าวหาไม่ครบถ้วนต่างๆ ไปหมดแล้ว คตส.ไม่มีอะไรจะพูดแล้ว เพราะ คตส.พูดไปหมดแล้วในวันที่คณะทำงานร่วมกันระหว่างคตส.กับอัยการสูงสุด ซึ่งการโต้แย้งข้อไม่สมบูรณ์ของอัยการสูงสุด คตส.ได้พูดคุยทำความเข้าใจกันแล้วแต่ก็ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากพูดกันไม่เข้าใจความหมาย และการที่คตส.ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาก็ถือว่า คตส.ได้ทำตามขั้นตอนหน้าที่ของ คตส.ก็ถือว่าจบแล้ว

ส่วนประเด็นที่ทางอัยการสูงสุดเห็นไม่ตรงกับ คตส.ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คตส.และวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 11 วรรค 2 คือคตส.ต้องฟ้องคดีเอง นายบรรเจิด กล่าวอีกว่า จากการหารือร่วมกันของคณะทำงานทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา คตส.ได้อธิบายไปหมดแล้ว ทั้งในส่วนของนายบรรพต ที่ คตส.มีมติไม่สั่งฟ้อง และการไม่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่ม อัยการสูงสุดได้ระบุว่า หาก คตส.จะส่งฟ้องเองก็ให้นำสำนวนที่จะส่งฟ้องนั้นให้อัยการพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งขั้นตอนเช่นนี้ถือเป็นกระบวนการพิจารณาแบบวิปอาญาทั่วไป แต่คดีของคตส.เป็นวิปอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อเห็นไม่ตรงกัน คตส.ก็สามารถส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาเองได้เลย ซึ่งตนไม่เข้าใจว่าเหตุใดอัยการสูงสุดได้พยายามดึงให้เป็นวิปอาญาทั่วไป และไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงยังไม่เข้าใจในมาตรา 11 วรรค 2 เพราะหากให้คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายอ่านเขายังเข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร

นอกจากนี้ ในการหารือร่วมกัน คตส.ยังได้สอบถามหลายประเด็น เช่น หาก คตส.ทำตามยอมทบทวนเพิ่มเติมและแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์ตามที่อัยการสูงสุดเสนอมานั้นอัยการสูงสุดจะยังส่งฟ้องให้ คตส.หรือไม่ ซึ่งทางคณะทำงานอัยการสูงสุดก็ตอบว่าไม่รู้ ต้องให้ทางอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน อัยการสูงตอบไม่ชัดเจนสักคำถามไม่มีความชัดเจนเลย หากได้ความชัดเจนคตส.ก็พร้อมจะดำเนินการตามที่อัยการสูงสุดเสนอมา ดังนั้น คตส.จึงไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามที่อัยการสูงสุดเสนอมา

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.ในฐานะหนึ่งในคณะทำงานร่วมกันหาทางออกในคดีดังกล่าวร่วมกับอัยการสูงสุด กล่าวว่า ปัญหาที่อัยการสูงสุดแย้งมามี 3 ประเด็น โดยในข้อ 1 และ 3 เป็นความบกพร่องทางธุรการ ซึ่ง คตส.ก็ได้เติมเต็มจนครบถ้วนแล้ว ส่วนประเด็นที่ 2 เป็นความเห็นที่แตกต่างกันทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทั้งนี้ตนไม่รู้สึกกดดันกับการที่ตัวแทนอัยการสูงสุดออกมาแถลงข่าวดังกล่าว ถือเป็นความเห็นของเขา แต่อาจจะเปิดโอกาสให้คู่ต่อสู้ไปอ้างอิงได้ แต่ คตส.ไม่กลัว เพราะเป็นการอ้างอิงโดยเปิดเผย และต้องสู้กันทางกฎหมาย

เมื่อถามว่า ปฏิกิริยาของอัยการสูงสุดอย่างนี้จะกระทบต่อคดีอื่นที่ คตส.จะทยอยส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาส่งฟ้องต่อศาลหรือไม่ นายอุดม กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ คตส.แต่เป็นเรื่องของอัยการสูงสุดที่จะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่อย่าลืมว่ากระบวนการยุติธรรมมี 3 ส่วน คือ ชั้นตรวจสอบ คือ ป.ป.ช.และ คตส.ต่อมาก็จะเป็นชั้นอัยการสูงสุด และสุดท้ายก็เป็นชั้นพิพากษา ซึ่งก็คือศาล ซึ่งทั้ง 3 ส่วนสามารถตรวจสอบได้
กำลังโหลดความคิดเห็น