xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ปีใหม่ – ขอทำความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจกับความสุข

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

โดย...ไสว บุญมา

บทความนี้เขียนระหว่างช่วงต่อของปี 2552 และปี 2553 เพื่อลงพิมพ์หลังวันขึ้นปีใหม่ หวังว่ายังไม่สายเกินไปที่จะส่งความปรารถนาดีและไมตรีจิตรถึงผู้อ่านในเทศกาลส่งความสุข วันนี้ขออนุญาตชี้แจงเรื่องเบื้องต้น 4 เรื่องเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันเพราะมันมีความสำคัญต่อการอ่านวิวัฒนาการด้านเศรษฐกิจและการประเมินนโยบายต่อไปในวันข้างหน้า

เรื่องแรก ขอเรียนว่าระบบเศรษฐกิจตามแนวคิดตลาดเสรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันเป็นระบบที่ยืนอยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ทังนี้เพราะมันวางอยู่บนฐานอันเป็นธรรมชาติสำคัญยิ่งของเรา กล่าวคือ (1) เราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่แลกเปลี่ยนสิ่งของและแรงงานกันอย่างกว้างขวาง

(2) เราต้องการอิสระที่จะทำอะไรๆ ได้อย่างเสรี เนื่องจากเราอยู่กันเป็นหมู่เป็นเหล่าแต่มีความแตกต่างกันทั้งในด้านแรงจูงใจและนิสัยประจำตัว ฉะนั้น ระบบตลาดเสรีจึงต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างราบรื่น กฎเกณฑ์ของตลาดเสรีมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ระบบตลาดเสรีมีทุนเป็นปัจจัยสำคัญ ฉะนั้น จึงมักมีการเรียกระบบนี้ว่าทุนนิยม ในช่วงหลังๆ นี้มักมีการอ้างถึง “ทุนนิยมสามานย์” ซึ่งมักทำให้เกิดความสับสนจนผู้มีความรู้เศรษฐศาสตร์จำกัดเข้าใจว่าระบบตลาดเสรีมีความเลวทราม นั่นเป็นความเข้าใจผิด ระบบตลาดเสรีอาจมีจุดอ่อนที่ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ไม่มีความเลวทรามในตัวของมันเอง ความสามานย์มาจากความเลวทรามของคนซึ่งทำผิดกฎเกณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ข้อบังคับหรือจรรยาบรรณ คนเหล่านั้นไม่มีคุณธรรม จึงมักมีพฤติกรรมสามานย์ รวมทั้งนักธุรกิจการเมืองที่หว่านเงินซื้อเสียงและใช้ตำแหน่งแสวงหาให้ได้มาซึ่งความได้เปรียบแก่ธุรกิจของครอบครัว ตัวเองและพวกพ้อง

ตรงข้ามกับระบบตลาดเสรี ระบบคอมมิวนิสต์มีความสามานย์เพราะใช้การลิดรอนอิสรภาพของประชาชน การนำมาใช้จึงอยู่ได้ไม่นานดังจะเห็นได้จากการแตกสลายของสหภาพโซเวียตและการหันกลับมาใช้ระบบตลาดเสรีของจีน ฉะนั้น ผู้ที่ฝักใฝ่ในระบบคอมมิวนิสต์คือผู้ที่ไม่มีความรู้จริง หรือไม่ก็เป็นผู้ที่ต้องการใช้ระบบสามานย์เป็นฐาน หรือเข้าถึงอำนาจเพื่อตนเอง

เรื่องที่สอง แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไม่มีอะไรแหกคอกหรือนอกตำราของระบบตลาดเสรี หากเป็นตลาดเสรีที่เน้นความพอประมาณอันเป็นการปรับเปลี่ยนระบบให้เหมาะสมกับสภาพของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปซึ่งได้แก่ (1) จำนวนคนบนผิวโลกมากขึ้น และ

(2) ทรัพยากรของโลกลดลง เศรษฐกิจพอเพียงเน้นความพอประมาณในด้านของการบริโภคซึ่งหมายถึงการใช้ทรัพยากรโลกทุกอย่างเพื่อดำเนินชีวิต ไม่เฉพาะสิ่งที่เราส่งเข้าปากเท่านั้น คำว่าพอเพียงอาจทำให้เกิดความสับสนบ้างเนื่องจากบางคนตีความหมายว่าจะต้องจำกัดทุกอย่าง นั่นเป็นการเข้าใจผิด เราทุกคนต้องบริโภค หรือใช้ทรัพยากรให้ครบตามความจำเป็นของร่างกายและในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ฉะนั้น ผู้ที่ยังบริโภคไม่ครบตามความจำเป็นควรบริโภคเพิ่มขึ้นให้ครบแล้วจึงพยายามจำกัดส่วนที่เกินความจำเป็นโดยเฉพาะส่วนที่เข้าขั้นสุดโต่ง หรือไร้เหตุผล การบริโภคไร้เหตุผลมีมาก จากการรับประทานจนอ้วนเข้าขั้นอันตรายไปจนถึงการโอ้อวดเครื่องแต่งกายและของใช้ทุกชนิด ยิ่งกว่านั้น หลักความพอประมาณไม่ได้เสนอให้จำกัดการแสวงหาความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการวิจัยและพัฒนา หรือด้านผลิตสินค้าและบริการ

เรื่องที่สาม เกี่ยวกับความเข้าใจผิดเรื่องเศรษฐกิจขยายตัว เรื่องนี้มักมีจีดีพีซึ่งได้แก่ค่าของสินค้าและบริการที่เราผลิตได้เป็นตัวเอก แทบไม่เว้นแต่ละวันจะมีการพูดถึงความสำคัญของการขยายตัวของจีดีพีเพราะมันเป็นเป้าหมายที่ทุกสังคมต้องการ แต่นั่นเป็นการมองแค่เปลือกนอกของจีดีพีซึ่งอาจไม่มีผลดีเสมอไป จีดีพีจะมีผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 อย่างคือ (1) มันมาจากไหน และ (2) ใครเป็นผู้รับส่วนแบ่ง

ที่มาของจีดีพีมีความสำคัญเพราะมันอาจมีโทษร้ายแรงก็ได้ เช่น การผลิตบุหรี่เป็นส่วนประกอบของจีดีพีของประเทศที่ผลิตและบริโภค เนื่องจากการสูบบุหรี่มีโทษ ฉะนั้น การขยายตัวของจีดีพีจากด้านนี้ไม่ควรแสวงหา ยิ่งกว่านั้น เมื่อการสูบบุหรี่ก่อให้เกิดโรคร้าย การรักษาพยาบาลก็ยังนับให้เป็นจีดีพีทั้งที่ความเจ็บป่วยและการรักษาพยาบาลคือตัวการสร้างความทุกข์ นอกจากบุหรี่แล้วยังมีสินค้าและบริการที่มีโทษอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเหล้า การพนันและการบันเทิงในรูปของการเล่นหวย การชนไก่ บ่อนกาสิโนและกิจการโสเภณี

ร้ายยิ่งกว่านั้น ยังมีการไม่นับสิ่งดีๆ เป็นจีดีพีอีกด้วย เช่น การทำอาหารของแม่บ้านเพื่อเลี้ยงครอบครัวและการเลี้ยงทารกด้วยนมแม่ แต่ถ้าแม่บ้านไปซื้ออาหารจากร้านและรถเข็นข้างถนนมาเลี้ยงครอบครัว หรือซื้อนมวัวมาเลี้ยงทารก แรงงานและกำไรจากการทำอาหารและผลิตนมวัวนั้นนับเป็นจีดีพี การเลือกรวมและไม่รวมกิจกรรมที่กล่าวมานี้เป็นจีดีพีนับเป็นความอัปยศของวิชาเศรษฐศาสตร์

ใครเป็นผู้ได้รับจีดีพีก็มีความสำคัญยิ่ง ทั้งนี้เพราะถ้าจีดีพีที่สังคมผลิตได้ไปตกอยู่ในมือของคนกลุ่มเล็กๆ เพียงกลุ่มเดียวในขณะที่คนส่วนใหญ่ได้รับเพียงจำกัด จีดีพีจะไม่ค่อยมีประโยชน์ ตรงข้ามมันอาจมีโทษร้ายแรง

ประเด็นนี้มักมีการอ้างถึงในหัวข้อของช่องว่างหรือความแตกต่างระหว่างชนชั้น มันเป็นบ่อเกิดของความแตกแยกในสังคมจนถึงขั้นฆ่าฟันกันอย่างกว้างขวางมาแล้ว ฉะนั้น การผลักดันให้จีดีพีขยายตัวอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมองต่อไปว่าใครได้ส่วนแบ่งจากการขยายตัวนั้นไป หากส่วนแบ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมร้ายแรง ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น ยังผลให้สังคมพัฒนาต่อไปไม่ได้ หรืออาจล่มสลายไปเลย

เรื่องที่สี่ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรายได้ซึ่งมักมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับความสุขอันเป็นเป้าหมายของชีวิต ณ วันนี้มีการวิจัยหลายชิ้นซึ่งยืนยันตรงกันว่า การมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการซื้อหาสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตทำให้ไม่มีความสุข หรือในอีกนัยหนึ่ง ความยากจนเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์ เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นไปจากระดับต่ำ ความสุขจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่หลังจากรายได้เพิ่มขึ้นไปจนถึงจุดที่สามารถซื้อหาให้ได้มาซึ่งสิ่งที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตแล้ว การเพิ่มขึ้นต่อไปอาจไม่ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นด้วย ตรงข้าม ความสุขอาจลดลง

นั่นหมายความว่า จริงอยู่คนรวยจะมีความสุขมากกว่าคนจน แต่โดยเฉลี่ยจะไม่มีความสุขมากกว่าชนชั้นกลางซึ่งมีทุกอย่างครบถ้วนตามความจำเป็นสำหรับดำเนินชีวิตประจำวัน การวิจัยบ่งว่าความร่ำรวยอาจทำให้ความสุขลดลงเพราะปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความกังวลในทรัพย์สินและความไม่เชื่อมั่นซึ่งนำไปสู่การแข่งกันโอ้อวดความร่ำรวยด้วยการบริโภคสินค้าจำพวกหรูหราฟุ้งเฟ้อแบบไม่จบสิ้น การวิจัยเหล่านี้ชี้ให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่า ถ้าความรู้สึกพอประมาณและความรู้สึกพอเพียงของเราเกิดขึ้นเมื่อมีรายได้ในระดับชั้นกลางซึ่งสามารถซื้อหาทุกอย่างได้ครบตามความจำเป็นแล้ว ความรู้สึกพอประมาณและความรู้สึกพอเพียงนั้นวางอยู่บนฐานทางวิทยาศาสตร์อันแข่งแกร่ง

การวิจัยพบด้วยว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความสุขอย่างหนึ่งซึ่งมีความสำคัญยิ่งได้แก่การให้ทาน การวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าเรามีรายได้มากจนเลยชั้นกลาง การบริจาครายได้เสียบ้างจะสร้างความสุขเพิ่มขึ้น ขอเรียนว่าการให้ทานในที่นี้ต่างกับการทำบุญทำกุศลที่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นความต้องการไปเกิดบนสวรรค์ การเอาหน้า หรือการให้ได้มาซึ่งชื่อเสียง

ทั้งนี้เพราะการทำบุญทำกุศลแบบนี้มีกิเลสเป็นฐาน ส่วนการให้ทานเป็นการให้ด้วยใจบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ของผู้รับโดยไม่คำนึงถึงผลตอบแทน สัจธรรมข้อนี้มีความสำคัญต่อการแก้จุดอ่อนของระบบตลาดเสรีในแง่ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีความเป็นเลิศต่างๆ สร้างความร่ำรวยด้วยความสามารถในขณะที่ผู้ขาดโอกาสมักยากจน แต่ถ้าผู้ร่ำรวยเข้าใจในสัจธรรมเรื่องความสุขอันเกิดจากการให้ทาน เขาจะบริจาคส่วนหนึ่งของความร่ำรวยนั้นช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีโอกาส เกื้อกูลคนพิการและอนุเคราะห์ผู้ประสบภัย

หวังว่าคำชี้แจงนี้จะมีประโยชน์บ้างทั้งในด้านการช่วยเพิ่มความสุขส่วนตัวของผู้อ่าน และในด้านการประเมินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลและพรรคการเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น