xs
xsm
sm
md
lg

สศค.จี้รัฐบาล"มาร์ค"ปลุกเอกชนเชื่อมั่นรับช่วง! ฟื้น ศก.ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บิ๊ก สศค.แนะรัฐบาล รีบสร้างความเชื่อมั่นเอกชน รับช่วงพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ชี้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งลงทุนพื้นฐาน เน้นระบบทรัพยากรน้ำ ผลักดันภาคเกษตรกรรม

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในรอบปีที่ผ่านมาถือได้ว่าผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว โดยเฉพาะวงจรอุบาทว์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% จนกระทั่งตัวเลขคำสั่งซื้อหายไปเหลือต่ำกว่า 50% อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 9 แสนคน การบริโภคการลงทุนเอกชนชะงักวนเวียนอยู่เป็นเช่นนี้

ในขณะนั้นไม่มีทางเลือกอื่นใดที่จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้เนื่องจากไม่มีการใช้จ่ายใดๆ เลยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงเป็นตัวจักรที่สำคัญที่จะเข้ามาตัดตอนวงจรอุบาทว์นี้ให้สิ้นไป เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากงบประมาณกลางปี 1 แสนล้านบาท จึงถูกใช้จ่ายออกไปผ่านเช็คช่วยชาติ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยคนพิการ

จากนั้นรัฐบาลได้ร่างแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 STIMULUS PACKAGE II ผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติกรอบวงเงินลงทุนรวม 1.2 ล้านล้านบาทที่ส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนผ่านเงินกู้ตาม พ.ร.ก.และ พ.ร.บ.เงินกู้รวม 8 แสนล้านบาท

ไทยเข้มแข็งสร้างรากฐานประเทศ

สำหรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจุดประสงค์ที่แท้จริงไม่ใช่เพียงแค่เป็นการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างแท้จริงในระยะกลางและระยะยาว เนื่องจากประเทศไทยของเราไม่มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมานานมากแล้ว โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งเราถือว่ารั้งท้ายและต้นทุนด้านนี้สูงถึง 20-25% ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางด้านการผลิตของเอกชนด้วยเช่นกัน

“ชาติคู่แข่งของเราใช้การขนส่งระบบรางทำให้ต้นทุนการแข่งขันถูกกว่ามากประเทศไทยไม่มีทางสู้ได้แน่นอน ในจุดนี้จึงไม่ควรล่าช้าต้องเร่งการลงทุนให้เกิดขึ้นให้ได้เนื่องจากเป็นจังหวะที่ดีมากนับเป็นโอกาสทางการลงทุนที่ดีที่สุดทั้งจากต้นทุนวัสดุที่ปรับตัวลงมากแล้ว”

เร่งจัดการน้ำหนุนเกษตรเข้มแข็ง

ส่วนเรื่องหลักของประเทศที่หลายๆ ฝ่ายอาจมองข้ามคือพื้นฐานที่แท้จริงของประเทศไทยที่เติบโตมาจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งปัจจัยต่างๆ เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกพืชแทบทุกชนิด แต่ที่ผ่านมาผู้บริหารไม่ได้ใส่ใจในระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อภาคการเกษตรทำให้เกษตรกรไทยเสียโอกาสเยอะมากในช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตราคาน้ำมันเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานั้นส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นกว่า 25% แต่ประเทศไทยกลับได้ประโยชน์จากวิกฤตครั้งนั้นเพียง5% เท่านั้น เนื่องจากปัญหาของระบบชลประทานที่ไม่เพียงพอและไม่มีการลงทุนมาอย่างยาวนาน

“ในปีหน้าสิ่งที่เราเห็นเมื่อ 2 ปีก่อนก็จะวนเวียนกลับมาอีกราคาน้ำมันสูงขึ้น ต้นทุนขนส่งสูงขึ้นราคาสินค้าเกษตรก็สูงขึ้นแต่ประเทศไทยเรากลับได้รับประโยชน์น้อยกว่าที่ควรเกิดวนเวียนอยู่เช่นนี้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสร้างความสมดุลในประเทศให้เกิดมากขึ้น”

ศก.ฟื้นฐานะการคลังไร้กังวล

นายเอกนิติกล่าวว่า ส่วนฐานะทางการคลังของรัฐบาลในปี 53 และในอนาคตน่าจะดีกว่าที่ได้มีการประมาณการไว้เนื่องจากมีปัจจัยบวกหลายๆ ด้านทั้งการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น จีดีพีที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตอยู่ที่ระดับ 3.3% ก็อาจดีกว่าที่คาดไว้ด้วยซ้ำเนื่องจากแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกันการวางกรอบงบประมาณขาดดุล 3.5 แสนล้านบาทก็เชื่อว่าไม่มีทางถึงแน่นอนโดยคิดแบบพื้นฐาน 2 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้เกินเป้าเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท 12 เดือนก็ 2.4 แสนล้านซึ่งหากมองในมิตินี้ก็จะออกมาเป็นแง่บวกและยิ่งหากเศรษฐกิจฟื้นเร็วฐานะการคลังก็น่าเป็นห่วงน้อยลง

โจทย์ใหญ่สร้างความเชื่อมั่น

สำหรับการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งนั้นใช้ระยะเวลานานคาดว่าไม่น้อยกว่า 3-4 ปี กว่าโครงการจะแล้วเสร็จทั้งหมด ซึ่งในระยะสั้นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการควบคู่คือนโยบายค่าเงินเพื่อให้ค่าเงินพยุงการส่งออกให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าไปได้ก่อนในระยะนี้ โดยนโยบายนี้ไม่ได้เป็นการบีบผู้ส่งออกแต่ในระยะยาวจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างให้เกิดความสมดุล

การส่งออกถือเป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาซึ่งช่วยให้การขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้มาก แต่สิ่งที่เหมาะสมควรให้การส่งออกเติบโตขึ้นไปเรื่องๆ และภาคอื่นๆ เติบโตให้มีสัดส่วนมากกว่าการส่งออกเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันในอนาคตหากเกิดวิกฤตในระดับโลกขึ้นอีกครั้งทำให้ประเทศสามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง

“การลงทุนของภาครัฐเป็นหลักในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศทำได้ไม่นานนัก ตามแผนที่จะทำกันจนถึงปี 2555 อยู่ในวิสัยที่รับได้ไม่กระทบวินัยทางการคลังมากนักทั้งสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี แต่การลงทุนของเอกชนถือเป็นเรื่องยากที่สุดที่รัฐบาลจะทำอย่างไรให้เอกชนตัดสินใจลงทุน หลังจากที่รัฐบาลได้ทำหน้าที่มาถึงจุดที่เหมาะสมแล้วจะต้องหามาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนมารับไม้ต่อในจุดนี้ให้ได้มิฉะนั้นสิ่งที่ทำมากทั้งหมดก็อาจสูญเปล่า” ผอ.สศค.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น