xs
xsm
sm
md
lg

มติ กนง.คงดอกเบี้ยรับ"มาบตาพุด"เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บอร์ด กนง.ตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบาย 1.25% เอื้อเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ยอมรับโครงการมาบตาพุดเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นมา เหตุยังไม่รู้ชะตากรรม เตรียมปรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทย 29 ต.ค. พร้อมโต้ สศค.เอาอะไรมาวัดบาทแข็ง ลั่นปีนี้บาทแข็งค่า 2.5% ยกแต่เมื่อเทียบดัชนีค่าเงินบาท (NEER) กลับอ่อนค่า 1% "กรณ์" คาดจีดีพีปีหน้าโต 3%

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวานนี้ (21ต.ค.) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 1 วัน (อัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ที่ระดับ 1.25%ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นตามแรงส่งของเศรษฐกิจโลกและผลจากนโยบาย ขณะที่แรงกดดันของเศรษฐกิจต่อภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ จึงเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับดังกล่าวเหมาะสมที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย

ภาพรวมการประเมินเศรษฐกิจครั้งนี้ปรับตัวดีขึ้นกว่าการประชุมครั้งก่อนในวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศที่เป็นปัจจัยเสี่ยงเริ่มคลายตัวลงและมีทิศทางที่ดีขึ้น แม้ปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวยังมีอยู่บ้างไม่ว่าจะเป็นปัญหาการว่างงานสูง สถาบันการเงินมีหนี้เสียจนมีข้อจำกัดการกู้ยืมต่อระบบเศรษฐกิจและส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวนัก ขณะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวทั้งการส่งออกดีขึ้น การลงทุนภาคเอกชนแม้ต่ำอยู่ แต่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

“แม้ระหว่างทางตัวเลขเศรษฐกิจบางตัวและบางเดือน โดยเฉพาะในเดือนส.ค.ลงบ้าง แต่หากดูภาพยาวขึ้นล่าสุดเศรษฐกิจในเดือนก.ย.มีทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนการระงับโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด 76 โครงการนั้นเป็นความเสี่ยงหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาต่ออัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ถือเป็นการสร้างความไม่แน่นอนสูงมากเพราะยังไม่รู้ว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหานี้ได้รวดเร็วเพียงใดและออกมาในลักษณะไหน และหากยิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งไม่มีผลดีต่อบรรยากาศในการลงทุนภายในประเทศ ดังนั้นในวันที่ 29 ต.ค.ที่จะมีการเผยแพร่รายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนต.ค.นี้จะมีการประเมินปัจจัยเสี่ยง สมมติฐานเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ของไทยในปีนี้และปีหน้า”

**โยน กนส.กดดันแบงก์ลดดอกกู้

อย่างไรก็ตาม แม้กนง.ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปมากแล้ว แต่ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่มากนัก สะท้อนให้เห็นว่าประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินลดลงนั้นมองว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) พิจารณาแต่ปกติแล้วการปรับดอกเบี้ยไม่สามารถดูเพียงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก(Spread) ได้ ควรคำนึงต้นทุนและอัตราดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) ของสถาบันการเงินแต่ละแห่งด้วย จึงเชื่อว่าหากการแข่งขันในระบบมากขึ้นจะมีผลให้ตัวเลขเหล่านี้แคบลง และจากการสำรวจความเชื่อมั่นธุรกิจ พบว่า ต้นทุนทางการเงินไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

ส่วนราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ กนง.ตระหนักดีว่าราคาน้ำมันมีแรงกดดันสูงขึ้น จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงส่งผลต่อด้านราคา แต่ราคาน้ำมันสูงขึ้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะไม่ได้เกิดจากแรงเก็งกำไรหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำมากจนมีผลให้นักลงทุนหันไปลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาน้ำมันจนมีผลต่อราคาแต่เกิดจากความต้องการแท้จริงที่มองว่าภาคเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการเพิ่มขึ้น จึงมีผลให้ราคาเป็นตัวชี้นำไปก่อน

อย่างไรก็ตาม กนง.ประเมินว่าแนวโน้มในระยะยาวราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น แต่เชื่อว่าหากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีขึ้นลดแรงกดดันได้และจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย จึงเป็นเรื่องที่กนง.กำลังจับตาว่าจะเป็นลักษณะนี้ต่อเนื่องและมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในอนาคตหรือไม่

**โต้ สศค.ค่าเงินบาทไม่แข็ง

นายไพบูลย์กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ตำหนิเรื่องปล่อยเงินบาทแข็งค่า ว่า เกิดจากการอ่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเมื่อเทียบทุกสกุลก็เป็นเช่นเดียวกันกับเงินบาทไทย โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงไตรมาส 3 ของปีนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.5% แต่เมื่อเทียบดัชนีค่าเงินบาท(NEER) ซึ่งเฉลี่ยค่าเงินบาทกับค่าเงินประเทศคู่ค้าคู่ขาย 21 ประเทศ พบว่า ค่าเงินบาทไทยกลับอ่อนค่าลง 1%

ประเทศไทยอยู่ในระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวทุกวัน ซึ่งเหมือนทุกสกุล แต่ ธปท.เข้าไปดูแลบ้างครั้งคราวเกิดจากข้อบกพร่องในตลาด ซึ่งมีการเคลื่อนไหวรุนแรงหรือผันผวนสูง ทำให้กระทบการค้าขายและการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย เข้าไปดูแลให้ราบรื่น แต่ไม่ได้กำหนดเป้าหมายบาทอยู่นิ่งตลอดเวลาหรือเทียบสกุลใดสกุลหนึ่งเฉพาะแต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไป ฉะนั้นความจำเป็นในการสนับสนุนนโยบายทุกด้านมีผลให้เกิดการฟื้นตัวเศรษฐกิจแบบยั่งยืนได้

"ไม่แน่ใจว่า สศค.ใช้เหตุผล ข้อมูลหรือมาตรฐานอะไรเป็นตัววัดแต่ภายใต้กรอบในการดำเนินนโยบายการเงินที่กำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อสำคัญและภายใต้กรอบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการครั้งคราวตามความจำเป็นที่ผ่านมาเป็นนโยบายที่ได้ผลตามที่ ธปท.ต้องการและไม่ได้เป็นอุปสรรคในการฟื้นตัวการส่งออกและเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นเพียงพอปรับตามกลไกตลาดเพื่อให้ภาคเอกชนปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่ค่าเงินต้องมีการเคลื่อนไหว" นายไพบูลย์กล่าว

**"กรณ์" คาดจีดีพีปีหน้า 3%

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง คาดการณ์เศรษฐกิจไทยว่า ไตรมาส 4/52 สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะชัดเจนมากขึ้น อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะกลับมาเป็นบวกได้ จาก 3 ไตรมาสที่ GDP ติดลบมาตลอด โดยทั้งปี 52 ยังเชื่อว่าจะติดลบราว 3% ขณะที่ปี 53 คาดว่า GDP จะขยายตัวได้ 3% การที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และจะส่งผลต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

"เศรษฐกิจไทยถือว่าฟื้นตัวเร็วที่สุดในโลก จากที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบถึง 9% เป็นอัตราที่เลวร้ายที่สุด แต่ตอนนี้เห็นได้แล้วว่าเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น และมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน การส่งออกเริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง" นายกรณ์กล่าวและว่า ในปีงบประมาณ 53 มีข่าวดีที่รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 1.35 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเป็นโอกาสทำให้การขาดดุลงบประมาณในปีงบ 53 ต่ำกว่าที่กำหนดในในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการและการดำเนินนโยบายของรัฐบาล และอาจทำให้ภาระหนี้สาธารณะอยู่ในระดับกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เป็นผลดีต่อการดูแลเสถียรภาพการคลัง

ปัจจุบันระดับฐานะการคลังของรัฐบาลมีความแข็งแกร่ง ซึ่งแม้ระดับหนี้สาธารณะที่จะอยู่สูงสุดที่ 60% แต่รัฐบาลสามารถรองรับภาระหนี้ดังกล่าวได้โดยไม่กระทบเสถียรภาพการคลังของประเทศ โดยที่ภาระงบประมาณต่อการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยในแต่ละปีงบประมาณจะอยู่ระดับไม่เกิน 15% ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง.
กำลังโหลดความคิดเห็น