xs
xsm
sm
md
lg

เปิดแผนกู้8แสนล้านขายบอนด์รายย่อย1.7แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เปิดแผนเงินกู้ภาครัฐปีงบ 53 วงเงิน 8 แสนล้าน เน้นระยะยาว เปิดตัวพันธบัตรรูปแบบใหม่ดอกเบี้ยลอยตัวและอ้างอิงเงินเฟ้อเร็วๆ นี้ ขายให้สถาบัน ส่วนรายย่อยมีข่าวดีบอนด์ออมทรัพย์ 1.7 แสนล้าน ระบุปริมาณการระดมเงินอาจเปลี่ยนแปลงตามนโยบายรัฐบาลและสภาพเศรษฐกิจ

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ว่าที่อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า แผนการระดมทุนของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2553 จะยังดำเนินนโยบายทางด้านการลังแบบผ่อยคลายโดยจะขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องอีก 4.4 แสนล้านบาท ส่งผลให้กระระดมทุนในปี 53 เพิ่มขึ้นมาโดยรวมอยู่ที่ 8.01 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ที่จะสิ้นสุดในปี 2553 วงเงิน 1.8 แสนล้านบาท กู้ชดเชยเงินคงคลัง 3.5 แสนล้านบาท กู้ตามอำนาจพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 สำหรับใช้ในปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจำนวน 2.7 แสนล้านบาท
“การระดมทุนของภาครัฐในปี 53 จะเดินหน้าพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศอย่างต่อเนื่องรวมทั้งช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาครัฐ โดยจะเน้นการกู้ยืมเงินจากตลาดในระยะยาวมากขึ้นซึ่ง สบน.จะงดออกพันธบัตรอายุ 2-3 ปีระยะหนึ่งและจะกลับมาออกพันธบัตรอายุ 3 ปี อีกครั้งในปี 2554 เพื่อใช้เป็นอัตราอ้างอิงในตลาดตราสารหนี้ และหลังจากนี้จะมีการออกตราสารหนี้ในรูปแบบต่างๆ ออกไปที่เหมาะสมกับนักลงทุนสถาบันแต่ละกลุ่มโดยจะมีการเชิญมาให้ความเห็นต่อไปในอนาคต” นายพงษ์ภาณุกล่าว

เน้นออกพันธบัตรระยะยาว

สำหรับแผนการออกพันธบัตรในส่วนของปีงบประมาณโดยใช้เครื่องมือทางการเงินปกติโดยจะออกพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ออกทุกเดือน ล็อตละ 1.1-1.3 หมื่นล้านบาท วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท พันธบัตรอายุ 10 ปี ทุกเดือนคี่ ล็อตละ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาท รวม 7 หมื่นล้านบาท พันธบัตรอายุ 15 ปี ทุกเดือนคู่ ล็อตละ 7 พันล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท พันธบัตรอายุ 20 ปี ทุกเดือนคี่ ล็อตละ 7 พันล้านบาท รวม 4 หมื่นล้านบาท พันธบัตรอายุ 30 ปี ออกเดือนคู่ ล็อตละ 3 พันล้านบาท รวม 2 หมื่นล้านบาท
ออกพันธบัตรออมทรัพย์ ยังไม่กำหนดอายุวงเงิน 1 แสนล้านบาท ออกพันธบัตรชนิดอื่นๆ อายุ 7 และ 12 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และตั๋วสัญญาใช้เงิน 6 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ยังใช้เครื่องมือพิเศษออกเป็นพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (FRB) อายุ 4 ปี ทุกเดือนคี่ล็อตละ 6 พันล้านบาท รวม 3 หมื่นล้านบาท และพันธบัตรอ้างอิงอัตราเงินเฟ้อ (ILB) ออกในช่วงครึ่งปีหลัง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท

 รายย่อยเตรียมซื้อบอนด์ออมทรัพย์
ส่วนการกู้เงินสำหรับใช้ในปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2.7 แสนล้านบาทประกอบด้วย การกู้โดยตรงจากสถาบันการเงินอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป วงเงิน 1 แสนล้านบาท การออกตั๋วสัญญาใช้เงินดอกเบี้ยลอยตัวอายุ 5 ปี วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินเข้ามาประมูล และออกพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปีขึ้นไป โดยเริ่มออกได้ตั้งแต่ในไตรมาส 1 วงเงินรวม 7 หมื่นล้านบาท
“วงเงินที่ตั้งไว้ในการระดมทุนทั้งปี 8.01 แสนล้านบาทนี้อาจน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ก็ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่อีกครั้งและเป็นการตั้งวงเงินกู้ไว้ที่สมมติฐานจีดีพีขยายตัวที่ 4.0% ซึ่งหากเศรษฐกิจโตกว่านี้รัฐบาลอาจมีความต้องการใช้เงินกู้น้อยลง” นายพงษ์ภาณุกล่าวและว่า หากไปเป็นอธิบดีกรมบัญชีกลางแล้วผลักดันการเบิกจ่ายได้ 100% ของงบที่ตั้งไว้รัฐบาลก็อาจกู้เพิ่มโดยใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กู้อีก 4 แสนล้านบาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาด้วย

ลดวงเงินออกตั๋วคลัง
สำหรับการออกตั๋วเงินคลังสบน.จะยังคงออกตามปกติแต่จะไม่ใช้สำหรับระดมทุนเพื่อชดเชยขาดดุลและใช้ในปฏิบัติการไทยเข้มแข็งแต่อย่างใด จะใช้สำหรับบริหารจัดการกระแสเงินสดของรัฐบาลเท่านั้น โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.52 จะมีตั๋วเงินคลังคงค้างทั้งสิ้น 2.84 แสนล้านบาท และ ณ วันที่ 30 ก.ย.53 จะเหลือตั๋วเงินคงคลัง 2.81 แสนล้านบาท โดยจะคงไว้ให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเดิมให้มากที่สุด
“การออกตั๋วเงินคงคลังก็จะออกตามปกติแต่จะไม่นำมาใช้สำหรับการชดเชยขาดดุลและไทยเข้มแข็ง ซึ่งจำนวนอาจมากขึ้นหรือน้อยลงจากระดับที่สบน.กำหนดไว้ระหว่างปีได้ตามการบริหารเงินสดของภาครัฐในระยะนั้น โดยคาดการณ์ว่าตั๋วเงินคลังคงค้างจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน 2553 ไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท” นายพงษ์ภาณุกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น