xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรไทยเข้มแข็ง หรืออ่อนแอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระแสตื่นตัวของประชาชนในการแห่จองซื้อพันธบัตรไทยเข็มแข็งทั้ง 2 รอบ วงเงินรวมกว่า 8 หมื่นล้านบาทแต่ไก่โห่ และสามารถขายหมดเกลี้ยงเพียงชั่วพริบตาจนกลายเป็นพันธบัตรไทยเข้มแข็งฟีเวอร์นั้น ถือเป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น และเราคงจะเห็นพันธบัตรไทยเข้มแข็งล็อตใหม่ออกมาอีกเป็นระลอกๆ จากผลพวงการออก พ.ร.ก.และพ.ร.บ.กู้เงินของรัฐบาลรวมกว่า 8 แสนล้านบาท

โดยเชื่อว่าจะยังมีประชาชนตั้งหน้าตั้งตารอซื้อพันธบัตรอีกในล็อตต่อไปอย่างแน่นอน แม้สิริรวมแล้ว รัฐบาลจะออกพันธบัตรสูงกว่าความตั้งใจเดิมที่คาดว่าจะเสนอขายพันธบัตรในวงเงิน 5 หมื่นล้าน กลายเป็นสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทั้งหมด

 ดังนั้น สิ่งที่เราทุกคนจะต้องขบคิดให้แตก นั่นก็คือกระแสพันธบัตรไทยเข็มแข็งในครั้งนี้ได้สะท้อนถึงอะไรบ้าง ซึ่งถ้ามองในด้านบวกก็คงสะท้อนให้เห็นถึงกระแสของความรักชาติ โดยบางคนเปรียบการซื้อพันธบัตรไทยเข้มแข็งเหมือนกับการช่วยชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะเงินที่ได้จากการขายพันธบัตรในครั้งนี้รัฐบาลก็จะนำไปลงทุนผ่านโครงการต่างๆ มากมาย
 
 
ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวของประชาชนในเรื่องของการออมเงินเพื่อรับกับการก้าวเข้าสู่สังคมชราภาพในอนาคต ซึ่งถูกจูงใจด้วยผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยของพันธบัตรจะอยู่ที่ 4% แม้จะหักภาษีดอกเบี้ย 15%   แล้วยังเหลือถึง 3.40%

 อย่างไรก็ตาม หากมองอีกด้านหนึ่งการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็ง ก็ไม่ต่างอะไรกับการก่อหนี้ของประเทศ ประชาชนต้องการอัตราดอกเบี้ยจากการซื้อพันธบัตรสูงๆ ซึ่งมันคือภาระหนี้ของชาติที่มาจากภาษีของประชาชนคนไทยทุกคน นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเข็นพันธบัตรไทยเข้มแข็งออกสู่ตลาดนั้น อาจส่งผลต่อกระแสการเคลื่อนย้ายเงินออมไปยังทางเลือกที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ส่งผลต่อสภาพคล่องในระบบตึงตัวได้ในอนาคต เพราะรัฐบาลมีเจตนารมณ์ชัดเจนที่จะระดมเงินโดยการกู้เงินภายในประเทศเป็นหลัก

 ทั้งนี้ ปัจจุบันสภาพคล่องในระบบมีอยู่ 1.5 ล้านล้านบาทเศษ ซึ่งหากหักลบกับเม็ดเงินที่รัฐจะกู้กว่า 8 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2553 ที่จะกู้อีกกว่า 3.5 แสนล้านบาทนั้น รวมไปถึงการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน ทำให้ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าสภาพคล่องในระบบจะถูกดูดซับไปกว่า 1.15 ล้านล้านบาท
จากการระดมเงินกู้ภายในประเทศของรัฐบาลที่ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น ซึ่งจะเข้าไปช่วยสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการของภาครัฐ รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ น่าจะเป็นข่าวดีต่อผู้ที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทย

แต่อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังอาจยังต้องเผชิญความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ตลอดจนสถานการณ์การเมืองในประเทศ และเสถียรภาพของรัฐบาล

 ดังนั้น ภาครัฐจะทำอย่างไรที่จะดูแลสภาพคล่องในระบบให้อยู่ในสภาวะและจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะในปีหน้าหลังการเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากสภาพคล่องในระบบตึงตัวจะส่งผลต่อภาระต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจที่จะสูงขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบ

 นอกจากนี้ แผนการใช้เงินที่ได้จากการออกพันธบัตรไทยเข้มแข็งในครั้งนี้ภาครัฐจะต้องนำไปใช้ให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์มากที่สุดเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไป ไม่เช่นนั้นพันธบัตรไทยเข้มแข็งก็อาจจะกลายเป็นพันธบัตรไทยอ่อนแอแทน
“คมความคิด เศรษฐกิจมหภาค”
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์
อาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า (GSPA NIDA)

กำลังโหลดความคิดเห็น