“อภิสิทธิ์” ย้ำแนวทางไทยเข้มแข็งพื่อตอบสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลั่นปีหน้าเศรษฐกิจโตเกิน 3% แน่นอน รวมทั้งไตรมาสสองจะเห็นเรื่องการลงทุนภาครัฐมากขึ้น และภาคธุรกิจที่สนับสนุนด้านบริการการท่องเที่ยวจะมีลู่ทางการเจริญเติบโตต่อไป
วันนี้ (16 พ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อนาคตไทย...ภายใต้เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง” ซึ่งจัดโดยธนาคารกรุงไทย ที่ ห้องบางกอกคอนเวนชัน บี 2 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ โดยก่อนที่นายกฯ จะขึ้นกล่าวได้มีการเปิดตัวโฆษณาตัวใหม่ของธนาคารกรุงไทยที่สนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจก่อสร้างภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลด้วย
นายกฯ กล่าวว่า งานสำคัญของรัฐบาลที่กำลังทำ คือ วางรากฐานประเทศหลังจากที่เราเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรง ซึ่งตนขอแสดงความชื่นชมที่ธนาคารกรุงไทยเข้ามาสนับสนุนให้ปฏิบัติการไทยขเข้มแข็งดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ประชาชนคนไทยและนักสังเกตการทั้งหลายมีความวิตกกังวลเรื่องวิกฤตการเงินของประเทศ ถ้าย้อนกลับไปในช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้วจะเห็นชัดเจนว่า หลายฝ่ายมีความกังวลว่าบ้านเมืองของเรานอกจากจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ และความแตกแยกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนแล้วยังรู้สึกว่าการดำเนินทางไปข้างหน้าเพื่อให้พ้นวิกฤตระยะสั้นก็มองไม่เห็น มีความวิตกกังวลกันว่าจะทำให้คนไทยตกงานสูงถึง 2 ล้านคน เศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะที่หดตัวต่อเนื่องหลายปี และสังคมจะสับสนวุ่นวายไม่จบไม่สิ้น และเมื่อตนเข้ามารับตำแหน่งก็รู้ว่าการจะนำพาบ้านเมืองฟันฝ่าวิกฤตไปไม่ใช่เรื่องง่าย และที่ย้ำตลอดมาคือ เมื่อเข้ามารับหน้าที่นอกจากแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว รัฐบาลจะต้องมีหน้าที่ในการวางรากฐานที่ดี และแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ใช่แค่แก้เฉพาะหน้าเท่านั้น ต้องคิดเสมอว่าท่ามกลางความท้าทายในอนาคต การเตรียมบ้านเมืองสำหรับเศรษฐกิจคือสิ่งท้าทายที่ต้องดำเนินควบคู่กันไป
นายกฯ กล่าวอีกว่า จะเห็นว่ารัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่จะฟื้นเศรษฐกิจใน 2 ลักษณะ คือ 1.ทำอย่างไรให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนจะได้รับการคุ้มครอง ปกป้องไม่ได้รับความเดือดร้อนมากเกินไป และ 2.ใช้โอกาสที่รัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจในการปรับโครงสร้างและวางรากฐานพร้อมกันไป ดังนั้น ช่วงต้นปีที่เราผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่ารัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่แนวทางที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เพราะเราต้องการรักษากำลังซื้อเป็นหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกฯ ได้กล่าวย้ำถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกทีละโครงการ เช่น การแทรกแซงพืชผลทางการเกษตร ต้นกล้าอาชีพ เช็คช่วยชาติ นโยบายหลายเรื่องลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ เช่น การศึกษาฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ลดภาระค่าน้ำ ค่าไฟ
“นับตั้งแต่ เม.ย.เป็นต้นมา ตัวชี้วัดความเคลื่อนไหวไปทางบวกทั้งสิ้น นั่นคือเราสามารถหยุดยั้งการหดตัวของเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราสามารถหยุดยั้งไม่ให้ภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้น และขณะนี้กำลังลดลงแล้ว” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวว่า ตนเพิ่งกลับมาจากการประชุมเอเปก ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์หลายด้าน สิ่งที่เห็นชัดว่าแม้ประเทศส่วนใหญ่มีการเจริญเติบโตกลับมาเป็นบวก แต่ว่ามีประเทศจำนวนมากที่การว่างงานยังเพิ่มขึ้น ซึ่งสร้างความวิตกให้แก่ผู้นำประเทศอย่างชัดเจน แต่รัฐบาลทราบดีว่ามาตรการรอบแรกเป็นการลดผลกระทบเท่านั้น และมีส่วนในการสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอในการทำให้มั่นใจว่าจะขยายตัวและพร้อมแข่งขันในเศรษฐกิจโลกต่อไป รัฐบาลจึงผลักดันให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง
“อีก 3 ปีข้างหน้าเราจะมีการลงทุนครั้งใหญ่ในการในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างงาน คาดว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านตำแหน่งใน 3 ปีข้างหน้าจากปฏิบัติการนี้ และจะช่วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเลขทางเศรษฐกิจน่าจะเพิ่มโดยประมาณร้อยละ 1.3 ต่อปีเป็นเวลาสามปีข้างหน้า ซึ่งเรากำลังใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทย” นายกฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายกฯ ได้กล่าวแจกแจงถึงเม็ดเงินในแต่ละโครงการภายใต้ปฏิบัติการไทยเข้มแข็งจากงบประมาณรวมทั้งหมด 1.43 ล้านล้านบาทว่า โครงการเกี่ยวกับแหล่งน้ำทางการเกษตรใช้งบฯ 2 แสนล้านบาท การขนส่งลอจิสติกส์ 5-6 แสนล้านบาท เช่นเรื่องของถนนสายหลัก ถนนไร้ฝุ่น ระบบราง รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง และการบำรุงรักษาถนนหนทางที่ทรุดโทรม ซึ่งช่วงนี้เราได้ยินข่าวมาตลอดในของเรื่องรถไฟดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลงทุน ส่วนเรื่องของพลังงงานทดแทนจำนวน 2 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีงานด้านสังคม เช่น การปรับปรุงโรงเรียน ระบบสาธารณสุข และอีกหลายด้านพร้อมกับการรุกไปข้างหน้าในการเตรียมตัวการแข่งขัน เช่น เรื่องของการประกันรายได้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเสริมความพร้อมของธุรกิจภาคบริการให้มีรายได้มากขึ้น หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การท่องเที่ยว เรื่องปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและนำทุนทางวัฒนธรรมมาสนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วย
นายกฯ กล่าวถึงที่มาของงบประมาณที่จะใช้ในปฏิบัติการฯ ว่า เงินงบประมาณทั้งหมดเกือบ 1.5 แสนล้าน มาจากงบฯปกติส่วนหนึ่ง การลงทุนที่มาจากรายได้ของรัฐวิสาหกิจส่วนหนึ่ง การที่รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจกู้เงินมาส่วนหนึ่ง การร่วมลงทุนจากภาคเอกชน และเงินกู้พิเศษตามกฎหมายกู้เงิน ซึ่งประกอบด้วยที่เป็นเรื่องเร่งด่วน คือ พระราชกำหนดฯ 4 แสนล้านบาท และกฎหมายปกติ คือ พระราชบัญญัติที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน อีก 4 แสนล้านบาท
นายกฯ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ พ.ร.ก.นั้น จะนำมาใช้ในการลงทุน 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านสภาและ ครม.ได้อนุมัติโครงการที่จะใช้เงินในส่วนนี้แล้ว ซึ่งบางโครงการได้ดำเนินการบ้างแล้ว ส่วนเงินกู้จาก พ.ร.บ.นั้น คณะกรรมาธิการร่วมของ 2 สภาที่จะพิจารณากฎหมายฉบับนี้ กำลังจะเสนอรายงานกลับมายังสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาให้พิจารณา ดังนั้น น่าจะมีผลบังคับใช้อย่างช้าที่สุดคือช่วงต้นปีหน้า
นายกฯ กล่าวว่า การดำเนินการเรื่องของโครงการไทยเข้มแข็งทั้งหมดนั้น สิ่งที่เราต้องการที่จะเห็นทั้งหมด คือ การมีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินเพื่อตอบสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งการที่ธนาคารกรุงไทยเข้ามาสนับสนุนการจัดระบบสินเชื่อเพื่อผู้เข้ามาทำงานก็จะเร่งรัดตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ตนต้องการเห็นความโปร่งใส หมายความว่าจะไม่ปล่อยให้เงินใช้จ่ายอย่างรั่วไหล ทุจริต คอร์รัปชัน และทันทีที่มีข่าวเรื่องของความไม่โปร่งใสของโครงการใดจะเข้าไป ตนจะตรวจสอบอย่างจริงจังทันที
“อย่างเช่นกรณีของกระทรวงสาธารณสุข ก็มีคนกลางและคนนอกเข้าไปร่วมตรวจสอบ และเร็วๆ นี้จะมีการรายการผลออกมา ซึ่งผมขอให้หน่วยงานที่เป็นองค์กรอิสระภาคประชาชนเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วยพื่อให้เกิดความมั่นใจด้วย” นายกฯ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันอีกว่า ปลายปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นบวกอย่างแน่นอน และปีหน้ามั่นใจว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3-3.5 หรือสูงกว่านั้น รวมทั้งไตรมาส 2 ในปีหน้าจะเห็นเรื่องการลงทุนภาครัฐมากขึ้น และภาคธุรกิจที่สนับสนุนด้านบริการการท่องเที่ยวจะมีลู่ทางการเจริญเติบโตต่อไป
“ขอยืนยันว่า นโยบายของรัฐบาลไม่เพียงคำนึงถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นหลักประกันด้วยว่าจะมีความสมดุลยั่งยืนและกระจายอย่างเป็นธรรมทั่วถึงประชาชนแน่นอน” นายกฯ กล่าว