xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:เงินเฟ้อปีเสือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีปีใหม่ครับทุกท่าน เริ่มปีใหม่นี้ผมขอพูดถึงประเด็นที่น่าจะมีการพูดกันมากขึ้นในปี 2553 นี้เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา นั่นก็คือเงินเฟ้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าเศรษฐกิจโลกมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นปัจจัยที่จะเป็นแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในบ้านเราจะมีมากขึ้นทั้งจากความต้องการและต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งนี้ เงินเฟ้อนั้นนอกจากจะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนแล้วยังเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่สำคัญด้วย ถามว่าเงินเฟ้อปีเสือนี้จะดุไหม? คงต้องดูข้อมูลเหล่านี้ประกอบ

มีการมองอัตราเงินเฟ้อปี 2553 ไว้อย่างไรบ้าง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2553ไว้ที่ร้อยละ 3.5-5.5 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ร้อยละ 1.5-2.5 (ณ ตุลาคม 2552)โดยให้เหตุผลว่าเงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นมากในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้จากฐานของราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสที่ 1 ปีก่อน ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลชี้แจงว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นในช่วงต้นปี 2553 นี้จะเป็นการเร่งตัวขึ้นชั่วคราว หลังจากนั้นในปีนี้อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0-4.0 นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ระหว่างร้อยละ 3.0-4.0 ในปี 2553 (ณ ธันวาคม 2552) ตามราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ผมขอนำเสนอข้อมูลอัตราเงินเฟ้อของไทย ที่คำนวณมาจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลโดยกระทรวงพาณิชย์ จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุมหมวดสินค้าสำคัญๆ เช่น หมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เคหสถาน การขนส่งและการสื่อสาร เป็นต้น เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชัดขึ้นตามตาราง

ในปี 2552 จะเห็นว่า 3 ไตรมาสแรกของปีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีค่าติดลบต่อเนื่อง ซึ่งมีผลมาจากการหดของราคาสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม (มีหมวดพลังงานอยู่ด้วย) ตามภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นสินค้าจำเป็นยังขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมร้อยละ 0.3 และสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.9 โดยหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มขยายตัวเป็นบวกถึงร้อยละ 2.4 ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ กอปรกับราคาน้ำมันในเดือนพฤศจิกายนปี 2551 อยู่ที่ระดับเพียงแค่ 49.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับอัตราเงินเฟ้อในเดือนธันวาคม คงทราบกันในวันที่ 4 ม.ค.นี้

ในปี 2553 หากจะลองประเมินแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อ โดย 1) สมมติให้อัตราการขยายตัวของราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ร้อยละ 0.3 เท่ากับที่เพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน จนถึงสิ้นปี 2553 2) สมมติให้ MoM เท่ากับร้อยละ 0.5 และ3) สมมติให้ MoM เท่ากับร้อยละ 1.0 ที่ถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยในช่วงที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเร็วในช่วงปลายปี 2550 ต่อเนื่องมาต้นปี 2551 พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางที่จะอยู่ในระดับที่สูงในไตรมาสที่ 1 และจากนั้นจะปรับลดลงบ้าง ทั้งนี้ในกรณี 3 ที่อาจถือเป็นกรณีเลวร้ายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของปี 2553 อาจสูงระดับถึงร้อยละ 5.1 ได้ การต่อมาตรการบรรเทาค่าครองชีพของรัฐบาลในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ก็น่าจะเป็นมีความดีอยู่บ้าง แต่หลังจากยกเลิกมาตรการคงต้องมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเป็นไปตามนี้ แม้ดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อปีเสือจะไม่ดุมากนักแต่ก็มีแนวโน้มที่สูงกว่าในปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 2553 นี้คงเป็นจังหวะที่นโยบายการเงินหรือนโยบายดอกเบี้ยจะต้องบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างการประคับประคองเพื่อลดแรงกดดันด้านราคาและการดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะฟื้นตัว ถือเป็นความท้าทายของนโยบายการเงินไทยครับ

surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น