xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมพร้อมรับปี 2010: ปีแห่งการขึ้นดอกเบี้ยและสภาพคล่องหดหาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
arunsak@scbq.co.th


เหตุการณ์สำคัญที่น่าจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนในปี 2010 ได้แก่ การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกจากนโยบายซูเปอร์ผ่อนคลาย (Easing Monetary Policy) เป็นนโยบายอัตราดอกเบี้ยที่เข้มงวดขึ้น (Tightening Policy) รวมถึงการเตรียมการดึงเงินสภาพคล่องจำนวนมหาศาลที่ถูกอัดฉีดเข้ามาก่อนหน้านี้จากธนาคารที่มีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและได้ทำการกู้ยืมจากรัฐบาล กลยุทธ์ที่จะถูกนำมาใช้เพื่อขึ้นดอกเบี้ยหรือดึงสภาพคล่องกลับ (Exit Strategy) เริ่มสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลกบ้างแล้วว่าจะส่งผลกระทบกระเทือนอย่างไรต่อมูลค่าของสินทรัพย์การลงทุนหลายๆอย่างที่ให้ผลตอบแทนอย่างงดงามในปี 2009 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป

ในขณะที่เศรษฐกิจของหลายๆประเทศเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับจากภาวะถดถอยอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2008 ต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี 2009 ธนาคารกลางสหรัฐฯและยุโรปได้เริ่มวางแผนถึงขั้นตอนในการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินให้เป็นปกติดังเดิมหลังจากดำเนินนโยบายดอกเบี้ยเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์และอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อช่วยดึงระบบเศรษฐกิจและกลไกตลาดการเงินการลงทุนที่เกือบจะล่มสลายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ก่อนที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยซึ่งถูกคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2010 นั้น (ยกเว้นธนาคารกลางของประเทศออสเตรเลียที่ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว) สิ่งที่จำเป็นจะต้องถูกแก้ไขก่อนได้แก่สภาพคล่องที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆได้ปล่อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจซึ่งนำไปสู่ปริมาณหนี้สินที่พุ่งขึ้นสูงอย่างมากในงบดุลของธนาคารกลางต่างๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว (ซึ่งทาง IMF ได้ออกมาแนะนำว่าน่าจะมีการร่วมมือกันระหว่างธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกนั้น) อาจจะต้องกระทำอย่างระมัดระวังในแง่ของจังหวะเวลา คือ

หาก Exit ช้าเกินไป : ถ้าธนาคารกลางส่งสัญญาณว่าจะยังไม่ดึงสภาพคล่องกลับในอนาคตอันใกล้ ความเสี่ยงในเรื่องของการคาดการณ์การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของนักลงทุนอาจจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไปไกลจนไม่ทันการณ์ที่ธนาคารกลางจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่เพื่อควบคุมได้ นอกจากนี้ อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยงประเภทต่างๆ (Asset Bubble) ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้ ตราสารทุนหรือสินค้าโภคภัณฑ์

หาก Exit เร็วเกินไป : อาจจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงินโลกที่ยังคงเปราะบางอยู่ซึ่งอาจนำไปสู่วิกฤติสภาพคล่องอีกครั้งหนึ่งและทำให้ความพยายามของธนาคารกลางต่างๆที่ทำมาตลอดเพื่อฟื้นฟูการเกือบล่มสลายของระบบการเงินโลกสูญเปล่า นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความกดดันทางการเมืองจากรัฐบาลที่วางแผนกู้เงินมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลซึ่งนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินที่มากขึ้นด้วย

การพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 0.50 เปอร์เซ็นต์ของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาวจาก 3.20 เปอร์เซ็นต์ ณ ปลายเดือน พ.ย. เป็น 3.75 เปอร์เซ็นต์ ณ ปัจจุบันอาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้นที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วในตลาดตราสารหนี้ หากธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกประเมินการผิดพลาดในเรื่องของจังหวะเวลาและขั้นตอนการทำ Exit Strategy การขายทำกำไรอย่างหนักของสินทรัพย์ทุกประเภทอาจจะเกิดขึ้นได้ในปี 2010 ต้องอย่าลืมว่าปัจจัยหลักของการฟื้นตัวของตราสารทางการเงินหลายๆประเภทในปี 2009 มีสาเหตุมาจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องล้นดังกล่าว? อัตราดอกเบี้ยต่ำและเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงทำให้นักลงทุนจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทองคำหรือน้ำมันที่เคลื่อนไหวตรงข้ามกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหุ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเกิดใหม่ที่หุ้นพุ่งขึ้นอย่างมากเนื่องจากการทำ Dollar Carry Trade หรือการกู้ดอลลาร์สหรัฐฯที่มีต้นทุนต่ำและมีโอกาสอ่อนตัวลงมาแลกเป็นเงินตราต่างประเทศสกุลต่างๆและนำมาลงทุนในตราสารทุนหรือหนี้ของประเทศนั้นๆ

ผลกระทบอันดับแรกที่จะเกิดขึ้นจากการกลับทิศของนโยบายทางการเงินดังกล่าวได้แก่ การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเนื่องจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นและสภาพคล่องในตลาดที่น้อยลงหากมีการคืนสภาพคล่องดังกล่าวกลับเข้าสู่งบดุลของธนาคารกลาง ผลที่ตามมาก็คือจะเกิดความต้องการดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นมาอย่างมากและนำไปสู่การขายสินทรัพย์ต่างๆเพื่อแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่น่าจะเหมาะสมกับการคาดการณ์ดังกล่าวข้างต้นจึงได้แก่
1.ถือครองการลงทุนในรูปของดอลลาร์สหรัฐฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นสหรัฐฯ
ดอลลาร์สหรัฐฯถูกท้าทายถึงการเป็นสกุลเงินหลักของโลกมาอย่างยาวนาน ดอลลาร์สหรัฐฯด้อยค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศต่างๆจนแทบจะไม่มีใครอยากถือครอง อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆมาเป็นลำดับตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2009 จึงมีความเป็นไปได้ว่าดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งในฐานะของการเป็นเงินทุนสำรองหลักของโลกในปี 2010 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯยังมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกในแง่ของมูลค่าปัจจัยพื้นฐานที่ยังค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นในประเทศเกิดใหม่ต่างๆที่ในปีนี้ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงมากจนเกินปัจจัยพื้นฐานไปแล้วในหลายๆตลาด

2.ลดการลงทุนหรือถือสถานะขายในทองคำ
ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2009 อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องมาจากปี 2009 พร้อมๆกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงถูกควบคุมอยู่ได้ไม่ให้เลยเถิดจนยากต่อการจัดการ การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะสร้างความกดดันต่อราคาทองคำไม่ให้ถีบตัวสูงขึ้นเร็วเหมือนที่ผ่านมาหรืออาจจะถึงขั้นลดต่ำลงอย่างมากได้
กำลังโหลดความคิดเห็น