xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่า ธปท. แจงเงินเฟ้อเพิ่มในอัตราเร่ง ส่งสัญญาณ ดบ.นโยบาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้ว่า ธปท. แจงสถานการณ์เงินเฟ้อเพิ่มในอัตราเร่งตัว ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะเงินเฟ้อในระดับอ่อน เหมาะกับ ศก.ที่กำลังฟื้นตัว ยันไม่จำเป็นต้องใช้นโยบาย ดบ.เพื่อดูแลเงินเฟ้อ

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดบระบุว่า ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลอัตราเงินเฟ้อ แม้จะคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น เนื่องจากการเร่งตัวขึ้นในปีหน้า ไม่หมายความว่า จะกลายเป็นปัญหาต่อภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นการเทียบกับฐานที่ต่ำในปีนี้

"หากดูตามข้อเท็จจริงแล้ว อัตราเงินเฟ้อสูงชึ้นเพราะเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นด้วย ซึ่งเงินเฟ้อในระดับอ่อน ถือเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ"

ส่วนการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อจะไปถึงขั้นเป็นปัญหาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ ธปท.จะต้องติดตามดู ซึ่งการจะใช้นโยบายดอกเบี้ยมาดูแลหรือไม่ต้องพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ละครั้ง เพราะแม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้นแต่ก็ไม่ใช่ว่าดอกเบี้ยจะสูงขึ้นตามไปด้วยทันที กนง.ก็จะต้องดูว่าเงินเฟ้ออยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม สำหรับการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำไปนานจะทำให้ ธปท.เกิดความกังวล 2 เรื่อง คือ อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้น และเกิดภาวะฟองสบู่ ซึ่งทั้งสองเรื่องก็จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ ยังไม่เห็นแนวโน้มการเกิดภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์

สำหรับการปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ปีหน้า ผู้ว่าฯ ธปท. ประเมินว่า ยังไม่สามารถเติบโตได้เป็นตัวเลข 2 หลัก ซึ่งการที่สินเชื่อจะเติบโตมากหรือน้อยขึ้นกับการกระตุ้นของภาครัฐว่าจะสำเร็จหรือไม่ และต้องทำให้เอกชนมารับไม้ต่อให้ได้ โดยจะต้องทำให้เอกชนเกิดความมั่นใจว่าเป็นจังหวะเวลาที่ควรจะลงทุนได้แล้ว เมื่อมีความมั่นใจสินเชื่อก็จะเติบโตตามมา

ขณะที่การส่งออกล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าเติบโต 17.2% ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ถือเป็นครั้งแรกที่บวกขึ้นมาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถ้าเทียบเดือนต่อเดือนก็เป็นบวกมานานแล้ว และในปีหน้าเมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2552 ก็คาดว่าส่งออกจะขยายตัวเป็นบวกราว 10-15% โดยปัจจัยค่าเงินบาทเป็นแค่หนึ่งในหลายๆ ปัจจัย ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น ความสามารถการแข่งขัน และภาวะต้นทุน

นางธาริษา กล่าวว่า ผลงาน 1 ปีของรัฐบาล ขณะนี้ปัญหาที่ต้องติดตามคือการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบ 2 (SP2) ว่าโครงการต่างๆ จะดำเนินต่อไปได้หรือไม่ และทำได้ตามเป้าหมายได้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็เสี่ยงกับเศรษฐกิจไทย เพราะเราคาดว่า SP2 จะมากระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วย และยังหวังว่าโครงการเหล่านี้จะไปกระตุ้นภาคการผลิตในระยะยาว เพื่อหวังให้กระทรวงการคลังสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้นและนำมาลดหนี้ ก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจขณะนี้ปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นด้วย ส่วนอีกทางหนึ่งก็มีการใช้จ่ายในประเทศเข้ามา ตอนนี้ทุกประเทศหายใจแบบโล่งอก คือการใช้จ่ายในประเทศของแต่ละประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ส่วนปัญหาดูไบไม่มีผลกระทบต่อไทยเลย เพราะสถาบันการเงินไนทยเข้าไปลงทุนเพียง 0.08% ของสินทรัพย์รวมเท่านั้น และภาคธุรกิจไทยก็เข้าไปเกี่ยวข้องน้อย

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กนง.ช่วงเดือนมกราคม 2553 จะมีการพิจารณาทบทวนผลกระทบจากกรณีปัญหามาบตาพุดที่มีต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปีหน้าด้วย เพราะจากการประเมินครั้งก่อนยังไม่มีความชัดเจนว่า โครงการใดต้องถูกระงับการลงทุนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น