xs
xsm
sm
md
lg

ดอลลาร์อ่อนกับโอกาสการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
arunsak@scbq.co.th


ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์สำคัญๆในตลาดการเงินการลงทุนโลกที่น่าจะมีนัยยะสำคัญต่อกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนของนักลงทุนในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าเป็นอย่างน้อย เหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯให้มีแนวโน้มที่อ่อนค่าลงในระยะกลาง ได้แก่

การประชุมนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯครั้งล่าสุดที่ผ่านมา นอกจากจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 0.25% แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯยังแถลงถึงความตั้งใจที่จะยังคงใช้นโยบายทางการเงินแบบซุปเปอร์ผ่อนคลายต่ออีกระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน มีการคาดการณ์ถึงการเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นว่าอาจจะเกิดขึ้นในปี 2012 ถ้าตัวเลขคนตกงานยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

การประชุมของกลุ่มประเทศ G20 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่เน้นถึงการดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งสัญญาณที่เป็นบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ตัวเลขคนตกงานล่าสุดที่สูงถึงมากกว่า 10% ตอกย้ำถึงความเชื่อในตลาดการลงทุนว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะคงอยู่ต่อไปอีกนาน

การปฏิรูปนโยบายการประกันสุขภาพของสหรัฐฯที่มีแนวโน้มว่าจะผ่านไปได้ด้วยดีน่าจะกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง มีการประมาณว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าวอาจต้องใช้เงินถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งหมายถึงการกู้เงินเพิ่มผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาล

แนวโน้มการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯน่าจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อย่างน้อยๆ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

เนื่องจากราคาตลาดโลกของสินค้าโภคภัณฑ์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้น หากสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆไม่มีปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์อุปทานที่มีนัยยะสำคัญ การด้อยค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้น

ในระยะสั้น ทองคำน่าจะมีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคามากที่สุดจากปัจจัยดอลลาร์อ่อน เนื่องจากตัวสินทรัพย์เองเปรียบเสมือนกับตัวแทนของเงินอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ทองคำยังไม่มีปัจจัยเรื่องของอุปสงค์มากดดันเหมือนสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นๆที่ราคาอาจจะผันผวนและถูกกดดันจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว

สำหรับนักลงทุนไทย นอกจากลงทุนในทองคำจริงๆและฟิวเจอร์ทองคำแล้ว ยังสามารถลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์แบบต่างๆผ่านกองทุนรวมต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังที่นักลงทุนควรรู้ใว้ในแง่ของความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศคือ
นโยบายการลงทุนมีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากขนาดไหน หากการ Hedge ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ผลตอบแทนที่ได้อาจจะผันผวนหรือผิดจากดัชนีอ้างอิงที่ไปลงทุนได้ เนื่องจากปัจจัยของอัตราแลกเปลี่ยน ตัวอย่างเช่น หากราคาทองคำโลกขึ้น 10% ผลตอบแทนที่เราลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศทองคำอาจจะต่ำกว่า 10% เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เป็นต้น

ถึงแม้ว่ากองทุนที่เราเลือกลงทุนจะ Hedge 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผลตอบแทนที่ได้จะล้อกับ Index ของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เราลงทุน เนื่องจากอาจจะเกิดค่าใช้จ่ายที่สูงในการใช้อนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะปัจจุบันที่นักลงทุนส่วนใหญ่ค่อนข้างจะ Bearish กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ความชันที่มากขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล
การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่าลงประกอบกับนโยบายดอกเบี้ยต่ำและสภาพคล่องที่มากมายในตลาดการเงินการลงทุนอาจจะส่งผลให้เกิดความคาดหวังในเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ดังนั้นสิ่งที่น่าจะตามมาในตลาดตราสารหนี้ได้แก่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Steepening Yield Curve) จะมากขึ้น ความหมายของความชันของYield Curve ได้แก่ความต่างของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวและระยะสั้น ซึ่งโดยทั่วไป การวัดความชันของ Yield Curve ดังกล่าวมักจะวัดความต่างของอัตราผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีและ 2 ปี (10y-2y) สาเหตุที่ความชันน่าจะมีแนวโน้มชันขึ้นก็เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นมักจะเคลื่อนไหวตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศนั้นๆ ส่วนอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวจะเปลี่ยนแปลงตามความคาดหวังเรื่องอัตราเงินเฟ้อของนักลงทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยทั่วไป การที่ Yield Curve มีความชันมากขึ้นมักจะบ่งบอกถึงภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯเริ่มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมเป็นต้นมา
ความชันของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯเพิ่มจากประมาณ 1.90% เป็น 2.60%
ความชันของพันธบัตรรัฐบาลไทยเพิ่มจาก 2.00% เป็น 2.30%

การคาดการณ์ความชันที่มากขึ้นของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไม่น่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนไทยมากนักเนื่องจากการขายชอร์ตตราสารหนี้ยังทำได้ค่อนข้างยากสำหรับนักลงทุนไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ได้บ้าง ได้แก่ อัตราผลตอบแทนของพันธบัครรัฐบาลระยะยาวที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามความคาดหวังเงินเฟ้อที่น่าจะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2010 ดังนั้นนักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวอย่างน้อยในช่วง 6 เดือนข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น