xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงบาทแข็งแตะ33 ทุนนอกไหลบ่า-ส่งออกโวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติหยุดไม่อยู่ ค่าบาททะลุ 33.50 แข็งค่าสุดในรอบ 13 เดือน เหตุเงินนอกยังทะลักเข้าไทย นายแบงก์ประสานเสียงมีโอกาสแตะ 33 บาทภายในปีนี้ เหตุดอลล์ยังอ่อนค่าได้อีก เกรงกระทบส่งออก จี้แบงก์ชาติเร่งระบายดอลลาร์ออกไป "ณรงค์ชัย อัครเศรณี" ชี้เศรษฐกิจกระเตื้องรอบนี้ มาจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่ใช่ฝีมือรัฐบาลไทยเข้มแข็ง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวถึงค่าเงินบาทของไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจนขณะนี้เกือบแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐว่า
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯที่นักลงทุนที่ถือเงินสกุลต่างประเทศในทั่วโลกเริ่มมองหาสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นโดยเฉพาะทองคำและน้ำมัน จากการที่โลกในปัจจุบันเต็มไปด้วยสภาพคล่อง ทำให้ส่วนหนึ่งได้มีการนำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาลงทุนในประเทศไทยด้วย
ทั้งนี้ การที่เงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นถือว่าเป็นแรงกดดันและเป็นภาระให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการในการระบายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯออกไปบ้างพอสมควร แต่อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวแล้วมองว่าต่อจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2552 เงินบาทจะมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอีกแน่นอน
“ค่าเงินบาทมีการแข็งค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นแรงกดดันให้ทาง ธปท.ต้องเข้ามาแซกแทรงค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไปเมื่อเทียบกับสกุลเงินในภูมิภาคเดียวกัน ซึ่งค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้จะแข็งค่าขึ้นอีกแน่นอน แต่ตนคงจะไม่สามารถคาดการณ์หรือเจาะจงระดับตัวเลขอย่างชัดเจนได้
เพราะจะทำให้ตลาดการเงินมองว่าเป็นการเก็งค่าเงินซึ่งจะไม่เหมาะสม ซึ่งแน่นอนการแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการส่งออกที่มีการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศแล้วได้เงินบาทน้อยลง” นายประสารกล่าว
ในขณะที่นายสอาด ธีรโรจนวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่สายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ให้ความเห็นถึงทิศทางค่าเงินบาทในสิ้นปีนี้ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปแตะระดับ 33.00-33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอีก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีสัญญาณรีบาวด์เล็กน้อยก็ตาม
นอกจากนี้ พบว่ามีเงินทุนไหลเข้ามายังแถบภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยได้รับอานิสงส์ในการลงทุนไปด้วย อย่างไรก็ดี เชื่อว่าค่าเงินบาทจะไม่แข็งค่าไปกว่าประเทศคู่ค้า เนื่องจาก ธปท.จะทำหน้าที่ดูแลให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ไม่ผันผวนมากเกินไป
“คิดว่าค่าบาทจะยังแข็งค่าต่อเนื่อง ราวๆ 33-33.50 สิ้นปีนี้ เพราะมีทั้งเงินทุนไหลเข้า การค้าประเทศเราก็ยังน่าเป็นห่วง เทรนด์ดอลลาร์ก็น่าจะอ่อนลงได้อีก แต่คงไม่มาก เพราะสกุลเงินของสหรัฐฯ ยังถือเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของทั่วโลกอยู่สูงถึง 64%'” นายสอาด กล่าว
การเคลื่อนไหวของเงินบาทวานนี้ (23 ก.ย.) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.58-33.61 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นจนแตะระดับ 33.48-33.49 บาทต่อดอลลาร์ซึ่งระดับที่แข็งค่าสุดของวัน และปิดตลาดที่ระดับอ่อนค่าลงมาที่ 33.56-33.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยปัจจัยมีผลต่อการเงินบาทเป็นกรณีผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯที่ออกมาว่ามีมาตรการอย่างไรบ้าง
"บาททะลุขึ้นไปเหนือระดับ 33.50 ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หลังจากนั้น ก็อ่อนค่าลงมาจนกระทั่งปิดตลาด ซึ่งอาจเป็นสัญญาณการเข้าดูแลของ ธปท. ส่วนแนวโน้มในวันนี้ คงรอดูผลการประชุมเฟดว่าจะมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาหรือไม่"

**บาทแตะ 33 ภายในปีนี้**
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า จากความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นแรงขายเงินดอลลาร์ฯ และผลักดันให้นักลงทุนกลับเข้าลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ ตลาดเงิน-ตลาดทุนในเอเชีย รวมทั้งไทย ก็ได้รับอานิสงส์จากการหมุนเวียนของเงินลงทุนดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ซึ่งผลกระทบที่ยากที่จะหลีกเลี่ยงท่ามกลางกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย ก็คือ สถานการณ์การแข็งค่าของสกุลเงินเอเชียโดยพร้อมเพรียงกัน โดยหากเทียบกับระดับปิดตลาดสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เงินบาทแข็งค่าขึ้นราว 7.8% ซึ่งเป็นอันดับที่ 5 ของเอเชีย รองจาก เงินดอลลาร์ไต้หวัน (+8.3%) เงินดอลลาร์สิงคโปร์ (+9.8%) เงินรูเปียห์อินโดนีเซีย (+23.7%) และเงินวอนเกาหลีใต้ (+28.3%)
ตามลำดับ
สำหรับในช่วงต่อไปคาดว่าการเคลื่อนไหวของเงินบาทในระยะถัดไป อาจยังคงเกาะไปกับกระแสความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาค โดยเงินบาทอาจถูกผลักดันให้แข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 33.50 และ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามลำดับ หากหลักฐานการฟื้นตัวและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนมากขึ้น
และกระตุ้นให้กระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดเงินตลาดทุนของเอเชียเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ การเข้าดูแลค่าเงินบาทของธปท. อาจสามารถช่วยชะลอการแข็งค่า พร้อมๆ กับสร้างเสถียรภาพให้กับการเคลื่อนไหวของเงินบาทเท่านั้น แต่ยากที่จะเปลี่ยนแปลงทิศทางของค่าเงินบาทที่เป็นไปตามภูมิภาค
หรือกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทปรับตัวอยู่ในกรอบการเคลื่อนไหวเป้าหมายเป็นระยะเวลานานๆ ได้

**ตามคาดห่วงกระทบส่งออก**
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบันได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอีก
โดยล่าสุดอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐปรับตัวต่ำกว่าระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว และเป็นหน้าที่ของ ธปท.ต้องเข้ามาดูแลค่าเงินของประเทศไม่ให้มีความผันผวนมากนักและไม่ให้แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นๆ ด้วยเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศเอาไว้ให้ได้
ประเทศไทยมีการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นสัดส่วนที่มากทำให้จะกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออกเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาท ในแง่ของศักยภาพการแข่งขันของประเทศไม่น่ามีปัญหา โดยเชื่อว่าปริมาณการส่งออกของไทยก็ยังขยายตัวได้แม้ในปีนี้ทั้งปีคาดว่าการส่งออกจะหดตัวประมาณ 20% แต่ปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น
“ตอนนี้มีการประชุมร่วมกันของประเทศต่างๆ เพื่อจะลดบทบาทของการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐลง ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป ในส่วนของประเทศไทยเองทาง ธปท.ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่เช่นกัน”
นอกจากความกังวลเรื่องค่าเงินบาทแล้ว นายณรงค์ชัย กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังปรับตัวเข้าสู่ภาวะเกือบปกติโดยนับเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีการแก้ปัญหาหรือให้ยาที่ถูกต้องของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก แม้งบประมาณที่รัฐบาลออกมาอย่างไทยเข้มแข็งจะช่วยได้
แต่กว่าเม็ดเงินจะออกคงจะใช้เวลานาน
“ประเทศไทยเองตัวช่วยที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นได้เร็วคือการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำของแบงก์ชาติ ซึ่งทำให้ธุรกิจที่เข้าถึงแหล่งเงินกู้จากธนาคารและเป็นหนี้ธนาคารอยู่นั้นสามารถรอดผ่านวิกฤติมาได้ไม่ล้มตายเป็นเบือเหมือนวิกฤติเศรษฐกิจปี1997 ซึ่งมองไปข้างหน้าเชื่อว่าดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) ของ
ธปท.ยังจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อไปในปีหน้าดอกเบี้ยยังจะคงไม่สูงคือสูงกว่าปัจจุบันไม่มาก”นายณรงค์ชัยกล่าว
สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้จากการที่ตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดการค้าในปัจจุบันมีสัญญาณเริ่มจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยในส่วนของตลาดเงินจะเห็นได้ว่า Credit Spread หรือมูลค่ายุติธรรมของตราสารหนี้อันเกิดมาจากอันดับความน่าเชื่อถือเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติบางแล้ว
ถึงแม้จะยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็ตาม
ส่วนตลาดพันธบัตรจะเห็นได้จากราคา และอัตราผลตอบแทน (Yield) ที่เริ่มนิ่งและแนวโน้มมีสัญญาณของวดอกเบี้ยขาขึ้น ในขณะที่ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงผันผวนสูงเช่นเดียวกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติและมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงได้อีกในอนาคต ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำในระยะยาวด้วย
ขณะที่ตลาดหุ้นเองในบางตลาดก็ปรับสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนวิกฤติแล้วโดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียถือว่าดีมากและมีแนวโน้มที่สดใส ส่วนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วไม่ว่าจะเป็นสหรัฐและยุโรปก็เริ่มหยุดตกแล้วเริ่มมีการปรับตัวขึ้นบ้างแต่ยังคงมีความผันผวนอยู่

**พาณิชย์ฮึ่ม! กลัวส่งออกเดี้ยง
นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กล่าวว่า ภาคเอกชนมีความเป็นห่วงเรื่องภาวะเศรษฐกิจ คู่แข่งทางการค้าและสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย
"ตัวเลขการส่งออกปีนี้คาดว่าจะอยู่ในอัตราลดลง 15-19% ส่วนในปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในแดนบวก โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรมการส่งออกปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกรายการ เฉลี่ยอยู่ที่อัตรา 3-5% โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์" นายราเชนทร์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น