xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ปัดแก้กม.ล้วงทุนสำรอง หวั่นค่าบาทแข็งบิดเบือนศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติค้านนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจหรือลดภาระหนี้สาธารณะ เผยจำเป็นต้องสำรองให้เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยและความไม่แน่นอนในอนาคตหากนำมาใช้จะส่งผลเงินบาทแข็งค่า ส่วนการประชุม กนง.รอบหน้าจะใช้ปัจจัยภายในประเทศเป็นหลักการตัดสินใจดำเนินนโยบายดอกเบี้ย ชี้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสูงขึ้นยังอยู่ในวิสัยที่ตลาดปรับตัวได้

กรณีนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่าธนาคารคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังศึกษาแก้กฎหมายทุนสำรองระหว่างประเทศ (1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อนำออกมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไปนั้น วานนี้ (10 มิ.ย.) นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ในปัจจุบันเงินทุนสำรองของไทยสูงกว่าในอดีตมาก แต่การนำเงินทุนสำรองมาใช้ในขณะนี้ยังไม่จำเป็น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในอนาคตคาดเดาได้ยาก โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกยังไม่มีความแน่นอนสูง และ ธปท.เองก็ต้องประคับประคองเศรษฐกิจและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศ จึงจำเป็นต้องมีเงินสำรองให้เพียงพอและเหมาะสมในการดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพทั้งในช่วงระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งในระยะยาวเรื่องนี้สามารถศึกษาได้
ทั้งนี้ ธปท.ได้รายงานฐานะเงินสำรองระหว่างประเทศล่าสุด ณ วันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 1.21 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 957 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ฐานะสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ 6,259 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 173 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน น้ำหนักการชะลอตัวลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีนี้และไตรมาส 4 ของปีก่อน และข้อมูลเศรษฐกิจจริงในเดือนเม.ย.ที่การหดตัวเริ่มผ่อนคลายลงเห็นได้จากการส่งออก การผลิตของภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต การใช้จ่ายภาพเอกชน และการนำเข้าลดลง ทำให้การค้าเกินดุลขนาดลดลง จึงเป็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มเป็นบวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนสูงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก ตลาดการเงินโลก รวมทั้งการดำเนินการภาวะตลาดโลกที่ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่มีกระแสข่าวเชิงลบออกมา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังคงต้องระมัดระวังอยู่ ดังนั้นในส่วนของ กนง.เองยังคงต้องติดตามการปรับตัวของภาคต่างประเทศ การเคลื่อนไหวเศรษฐกิจในประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อทำนโยบายการเงินให้ได้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังให้น้ำหนักเต็มที่ในการสนับสนุนเศรษฐกิจ จึงต้องมีการติดตามตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ๆในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าต่อไปด้วยว่าภาคเศรษฐกิจบางตัวที่ดีขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจผ่อนคลายมากขึ้นแค่ไหนในอนาคต
“การประชุมของ กนง.ในวันที่ 15 ก.ค.นี้จะให้ความสำคัญกับภาพเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะบางภาคที่เริ่มมีสัญญาณดีขึ้นจากเดิมที่ชะลอลดลง พร้อมทั้งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและฐานะต่างประเทศเช่นกันไม่ว่าจะเป็นปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ที่มีผลสะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญดีขึ้นกว่าที่คาดไว้และทิศทางต่างๆ ซึ่ง กนง.นำข้อมูลต่างๆ มาร่วมพิจารณาในการทำนโยบายด้วย”
ส่วนกรณีนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สนับสนุนให้มีการเปิดเสรีทางการเงินมากขึ้นนั้น รองผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในปัจจุบันพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่สูงและยังสามารถเติบโตได้อีกในอนาคต โดยธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังสามารถทำกำไรได้ดีและยังมีพื้นที่ในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ได้อีก โดยเฉพาะการปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ขณะเดียวกัน ธปท.เองให้ความสำคัญการแข่งขันและเพิ่มผู้เล่นรายใหม่ให้มากขึ้นจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 2 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถนำบริการและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาและให้มีประโยชน์แก่ประชาชนหรือผู้บริโภคมากขึ้น
“ธปท.คาดว่าแผนมาสเตอร์แพลน2 นี้จะสามารถประกาศใช้ได้ในภายในปีนี้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะเพิ่มผู้เล่นในตลาดมากขึ้นทั้งผู้เล่นรายใหม่ที่มีความถนัดเฉพาะทางเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในตลาด และผู้เล่นที่เข้ามาในรูปแบบเข้ามาถือหุ้นในลักษณะควบรวมกิจการตามปกติ นับเป็นการเพิ่มบทบาทระหว่างประเทศมากขึ้นผ่านการเปิดเสรีการเงินในตลาดการเงิน”
นายบัณฑิตกล่าวว่า สถานการณ์ที่ผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอายุพันธบัตร 10 ปีขึ้นไป เป็นการสะท้อนความต้องการใช้เงินในระบบสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตร เพื่อระดมทุน ซึ่งยิ่งช่วงที่มีกระแสข่าวออกมามากตลาดพันธบัตรรัฐบาลจะมีอ่อนไหวอย่างมาก เพราะมีการซื้อขายพันธบัตรในตลาดรองด้วย อย่างไรก็ตามผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น แต่ยังในวิสัยที่ตลาดสามารถปรับตัวได้ จึงไม่จำเป็นที่ ธปท.ต้องเข้าไปดูแลพิเศษ และมั่นใจว่าในอนาคตอุปทานของพันธบัตรรระยะยาวจะมีมากขึ้น

ห่วงฉุดเงินบาทแข็งค่า
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ธปท.อีกรายแจงว่า หลายประเทศไม่นิยมนำเงินทุนสำรองมาใช้เพื่อแก้ไขหนี้สาธารณะหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเงินทุนสำรองฯ เหล่านี้อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ หากมีการนำมาใช้โดยการแปลงเป็นค่าเงินบาทจะส่งผลเสียต่อระบบ โดยเมื่อนำเงินดอลลาร์มาแลกในตลาดการเงินก็จะกดดันให้เงินบาทในประเทศแข็งค่า ขณะเดียวกันหากนำมาใช้ในการซื้อขายระหว่างประเทศ เสมือนพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้สู่ระบบที่เหมือนสหรัฐ เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ค่าเงินก็ไม่สะท้อนฐานะแท้จริงทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม หากมีการนำเงินทุนสำรองมาใช้จริงจะต้องมีการแก้ไขเนื้อหากฎหมายของพ.ร.บ.ธปท. ซึ่งต้องเพิ่มเติมบทเฉพาะกาลเข้าไป แต่การแก้ไขกฎหมายเหล่านี้มีข้อจำกัดตามมา คือ ทุกรัฐบาลต้องมีบรรทัดฐานเดียวกัน ฉะนั้นไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลทุกชุดสามารถนำทุนสำรองไปใช้ตลอดโดยไม่มีข้อจำกัดในการใช้
ส่วนแนวคิดที่จะมีการจัดตั้งกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund) ในช่วงก่อนหน้านี้ หากจะดำเนินการช่วงนี้ไม่เหมาะสมนัก เพราะปัจจุบันกองทุนในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ เช่น กองทุนเทมาเส็กก็ขาดทุนกันถ้วนหน้า.
กำลังโหลดความคิดเห็น