ธปท.ยันแผนคงทุนสำรองในระดับสูง ชี้ การแก้ กม.เป็นเรื่องในระยะยาว ตอนนี้ ศก.ยังไม่วิกฤตรุนแรง ขณะที่ รมว.คลัง เมินข้อเสนอนักวิชาการ แนะดึงทุนสำรองมาใช้กระตุ้น ศก.รอบ 2 ยันสภาพคล่องในระบบยังดี รองรับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลได้
นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีการศึกษาข้อกฎหมายในการนำทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีส่วนเกินออกมาใช้ลงทุนนั้น โดยระบุว่า เป็นเรื่องในระยะยาว แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้ เนิ่องจาก ธปท.มีหน้าที่ต้องดูแลทุนสำรองให้เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง
“เราไม่มั่นใจทิศทางเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร เพราะอาจจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีทุนสำรองระหว่างประเทศคงไว้ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ธปท.พร้อมศึกษาแนวคิดดังกล่าวที่จะให้มีการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้เพื่อการลงทุนในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1-2 เดือนจากนี้ ธปท.ยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจว่าเป็นอย่างไร หลังจากช่วงเดือนเมษายน 2552 มีสัญญาณบวกขึ้นมาบ้างแล้ว และการชะลอตัวของเศรษฐกิจลดระดับลงทั้งการส่งออก ภาคอุตสาหกรรม การใช้กำลังการผลิต และการใช้จ่ายของภาคเอกชน
“ขณะนี้ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจโลกชะลอการหดตัว และมีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์เริ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาพเศรษฐกิจแท้จริง ดังนั้น ความกังวลของปัญหาเงินฝืดจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจนติดลบ”
ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนกรกฎาคม 2552 นี้ คาดว่า จะนำปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลกมาพิจารณาด้วย เพราะมีผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ธปท.พร้อมดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อเข้ามาเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาแนะนำแนวทางในการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในขณะนี้ สามารถนำมาใช้ลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 2 แทนการกู้เงินจำนวนมาก เรื่องนี้ตนเองยืนยันว่า การนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ไม่ได้อยู่ในแผนงานของรัฐบาล
“ตอนนี้สภาพคล่องในระบบที่มีอยู่ขณะนี้ มีเพียงพอรองรับการลงทุนของรัฐบาลโดยย้ำว่าแผนการกู้เงินวงเงิน 4 แสนล้านบาทจะเป็นการกู้ภายในประเทศเท่านั้น ขณะที่ ธปท.จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามารับซื้อพันธบัตรของรัฐบาล ที่จะนำออกมาจำหน่ายให้กับนักลงทุน”
สำหรับระดมเงินไปใช้ในการลงทุน ซึ่งถือเป็นการรักษาสภาพคล่องเพื่อให้รัฐบาลเข้าถึงแหล่งเงินทุนโดยไม่กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยในระบบมากนัก