xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อเดือน ธ.ค.52 สูงขึ้น 3.5% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พาณิชย์ แถลงเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.52 สูงขึ้น 3.5% ต่อเนื่อเป็นเดือนที่ 3 โดยเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ส่งผลให้เงินเฟ้อทั้งปี 52 ติดลบเหลือแค่ 0.9%

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการแถลงตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อ) เดือนธันวาคม 2552 โดยระบุว่า เงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม ปี 2551 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.2 เป็นผลกระทบจากดัชนีหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์แป้ง ร้อยละ 5.8 เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ร้อยละ 3.6

ส่วนดัชนีผู้บริโภคทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2552 ลดลงร้อยละ 0.1 เป็นภาวะที่ราคาสินค้าเริ่มทยอยปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยใน ประเทศปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าในหมวดอาหารสด และสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด เริ่มปรับตัวลง

ขณะที่ดัชนีเฉลี่ยทั้งปี 2552 เมื่อเทียบกับปี 2551 พบว่า ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.9 นับเป็นอัตราที่ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา สาเหตุมาจากในช่วงครึ่งปีแรก ภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างมาก รวมทั้งราคาน้ำมันครึ่งปีแรกปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับปี 2551 ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน พร้อมกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีผลให้เงินเฟ้อของประเทศติดลบอย่างต่อเนื่อง

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า จากการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกตินั้น ในภาคของประชาชนจะเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในด้านการจับจ่ายใช้สอย และมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตจะมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ส่วนในแง่ของรัฐบาลนั้น มองว่ารัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไหลลื่น และไม่ให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องสะดุดลง

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เนื่องจากในช่วงนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำได้สอดคล้องกับการเอื้อให้ภาวะเศรษฐกิจเติบโต ธปท.จึงควรรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงที่ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคง ธปท.จึงค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ

"เรามองว่าแบงก์ชาติยังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ โดยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปอีกระยะเพื่อทำให้ประชาชน และองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจได้เกิดความเชื่อมั่น"

สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 2553 นั้น นายยรรยง กล่าวว่า น่าจะเพิ่มขึ้นระหว่างร้อยละ 3.0-3.5 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และการต่ออายุ 5 มาตรการ การลดภาระค่าครองชีพของรัฐบาลอีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (5 มกราคม 2553) นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำเสนอต่อที่ประชุมของบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท เพื่อมาจัดทำโครงการธงฟ้าราคาประหยัดลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในปี 2553

ทั้งนี้ จากการติดตามราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยรวม มีสัญญาณในหมวดสินค้าก่อสร้าง เช่น ปูน เหล็ก และสายไฟฟ้า เตรียมที่จะปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้น จากเหตุผลราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัว ซึ่งกระทบต่อต้นทุนขนส่ง แต่ยังเชื่อว่าราคาสินค้าในหมวดดังกล่าวจะปรับขึ้นไม่ชนเพดานที่กรมการค้าภายในกำหนดไว้

สำหรับสินค้าอื่นๆ เช่น ของใช้ภายในบ้าน ยังไม่มีการปรับขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์ จะติดตามราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อหลังจากนี้ไปจะขยายตัวเป็นบวก
กำลังโหลดความคิดเห็น