xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.จับตาเงินเฟ้อพุ่งเร็ว คาดทั้งปีบวก3.5%ตามศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ค่าเงินบาทจะผันผวนมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเก็งกำไรค่าเงิน แต่เป็นไปตามปัจจัยเศรษฐกิจ ประกอบกับกระแสเงินทุนไหลเข้ามาจากสภาพคล่องตลาดโลกเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ถือเป็นช่วงแรกที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว รวมถึงความเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นทำให้มีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามามากกว่าไหลออก ทั้งนี้ แม้เงินทุนไหลเข้ามามาก แต่ธปท.ยังคงจะดูแลตามแนวทางเดิมอย่างปกติ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้มีการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกไปพอควรแล้ว แต่หากต่อไปเงินบาทมีความผันผวนมากเกินไป ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแล ขณะเดียวกันภาคเอกชนต้องดูแลตัวเองด้วย

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในปี 53 อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1-2 เป็นผลจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ 5 ข้อ ซึ่งต่อไปอีก 1 ไตรมาส หลังจากนั้นอาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น แต่ไม่น่าตื่นตระหนก เพราะหากพิจารณาตามข้อมูลเป็นผลจากราคาน้ำมันและฐานปีก่อน ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อต้องดูที่ราคาสินค้าแพงขึ้นจริงๆ และการคาดการณ์ทั่วไปว่าอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 ปัจจัยนี้ยังไม่ได้สูงขึ้น

“หากแบงก์ชาติมองไปข้างหน้าแล้วคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเร็วมาก เราก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเร็ว แต่หากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจทยอยไปได้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทยอยปรับได้ ฉะนั้นหลักๆ ดูทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อและแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ”ผู้ว่าการธปท.กล่าว

ด้านนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท.และในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ในเดือนธ.ค.อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.2% และเฉลี่ยทั้งปีขยายตัว 0.3% ต่ำกว่าเป้าหมายในการทำนโยบายการเงินที่กำหนดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 0.5-3.0% นั้นเกิดจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐ ถือเป็นเพียงแค่ชั่วคราว แต่หากตัดมาตรการนี้ออกไปเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ใช้ทำนโยบายยังอยู่ในระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 53 จะเพิ่มแรงกดดันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่าจะกดดันดีมานส์ในระบบเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และ3.ผลของมาตรการภาครัฐ ซึ่งหากมีการต่ออายุไปอีกหลังจากเม.ย.นี้ไปแล้วอาจมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้

**คาดเงินเฟ้อปีเสือบวก3.5%ตามศก.ฟื้น**
นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ธ.ค.2552 ที่สำรวจจากสินค้าและบริการ 417 รายการ เท่ากับ 105.7 เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2551 เป็นการเพิ่ม 3 เดือนติดต่อกัน แต่เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2552 ลดลง 0.1% ทำให้ยอดเงินเฟ้อเฉลี่ยไตรมาส 4 ปี 2552 เพิ่มขึ้น 1.9% เป็นไตรมาสแรกที่เป็นบวกในรอบปี 2552 ขณะที่ยอดเฉลี่ยทั้งปี ยังลดลง 0.9% เมื่อเทียบกับทั้งปี 2551 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้เล็กน้อยที่ลดลง 0.8%

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม 2.2% โดยมีรายการสินค้าสำคัญ เช่น ข้าวและผลิตภัณฑ์ทำจากแป้ง เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ สัตว์น้ำ ผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม อาหารสำเร็จรูป รวมถึงดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มก็ปรับเพิ่มเช่นกัน ได้แก่ ยานพาหนะ น้ำมันเชื้อเพลิง กระแสไฟฟ้า น้ำประปา ค่ายาเวชภัณฑ์ และค่ารักษาพยาบาล ผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสินค้าที่ลดลงมีเพียงเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และหมวดการบันเทิงการศึกษาและการศาสนา

สำหรับภาพรวมอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2552 มีอัตราลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 2551 ที่สูงขึ้น 5.5% เนื่องจากเศรษฐกิจครึ่งปีแรกทรุดตัวอย่างรุนแรง ประกอบกับรัฐบาลใช้ 6 มาตรการลดค่าครองชีพ กับโครงการเรียนฟรี ได้ทำให้เงินเฟ้อติดลบเพิ่ม แต่ในครึ่งปีหลังเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับรัฐบาลลดการอุดหนุนช่วยค่าครองชีพ ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นบวกในปลายปี

“สัญญาเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น สะท้อนว่ากำลังการซื้อผู้บริโภคฟื้นแล้ว โดยปัจจัยบวกสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ยังทรงตัว ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มและเชื่อมั่นกล้ากลับมาใช้จ่ายอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้คาดว่าทิศทางกำลังซื้อจะดีต่อเนื่อง และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อได้ โดยเป้าหมายว่าเงินเฟ้อปี 2553 จะบวก 3-3.5% ภายใต้ปัจจัยที่ราคาน้ำมันตลาดโลกไม่เกิน 70-80 บาร์เรลต่อเหรียญสหรัฐ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอยู่ที่ 31-33 บาทต่อเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลต่ออายุ 5 มาตรการลดค่าครองชีพต่อไปอีก”นายยรรยงกล่าว

นายยรรยง กล่าวว่า กระทรวงฯ ยังมีนโยบายติดตามราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด ไม่ให้ผู้ผลิตฉวยโอกาสขึ้นราคาช่วงเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว โดยจัดสายตรวจออกตรวจราคาสินค้า รวมถึงพิจารณาการขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนที่แท้จริง และในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 5 ม.ค.นี้ กระทรวงฯ มีแผนของบกลาง 300 ล้านบาทเพื่อใช้ดูแลค่าครองชีพด้วยการจัดงานธงฟ้าทั่วประเทศตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค.2553 ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภค ควบคู่กับคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูง

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนม.ค.2553 กระทรวงฯ จะปรับวิธีประกาศตัวเลขเงินเฟ้อใหม่เป็นแบบทศนิยม 2 ตำแหน่ง จากเดิม 1 ตำแหน่ง เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์กับภาวะเศรษฐกิจ และสามารถนำไปคำนวณอ้างอิงภาวะเศรษฐกิจ การปรับฐานเงินเดือนของลูกจ้างแรงงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น