xs
xsm
sm
md
lg

เงินเฟ้อ พ.ย.เพิ่ม 1.9% ต่อเนื่อง 2 เดือนซ้อน สะท้อน ศก.ฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปลัดพาณิชย์ แถลงเงินเฟ้อเดือน พ.ย.52 เพิ่มขึ้น 1.9% ต่อเนื่อง 2 เดือนซ้อน สะท้อนภาวะ ศก.ที่เริ่มฟื้นตัว การบริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น พร้อมยืนยัน สอดคล้องและอยู่ในกรอบแบงก์ชาติ มั่นใจไม่เกิดเงินฝืดแน่นอน

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อ ประจำเดือนพฤศจิกายน 2552 โดยระบุว่า อัตราเงินเฟ้อ มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง ประเด็นที่ 2 สะท้อนภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ประชาชนมั่นใจในการบริโภคมากขึ้น ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกของปี ยังคงขยายตัวติดลบอยู่ที่ ร้อยละ 1.2 พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ประเทศไทยจะไม่ประสบภาวะเงินฝืด อย่างแน่นอน

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือนพฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนตุลาคม 2552 และตัวเลข Core CPI เฉลี่ยช่วง 11 เดือนแรกของปีนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือนพฤศจิกายน 2552 อยู่ที่ 117.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนตุลาคม 2552 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.9 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนตุลาคม 2552

“อัตราเงินเฟ้อดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจจากภาคการบริโภคเริ่มฟื้นตัวขึ้น การบริโภคที่เกิดจากความเชื่อมั่นเพิ่มเติมจากเดือนก่อน เพราะเดือนตุลาคม 2552 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 แต่เดือนนี้ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1.9 เป็นอัตราเร่งที่ดี”

ทั้งนี้ ค่าครองชีพของประชาชนในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ถึงแม้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับ มาตรการช่วยค่าครองชีพทำให้รายจ่ายของประชาชนลดลง

ด้านการจับจ่ายใช้สอยนั้น จากภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้การจ้างงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น และกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ด้านของผู้ผลิตก็มีแรงจูงใจผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ภาวะเงินเฟ้อและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ชี้ให้เห็นการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และลควรดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายไทยเข้มแข็งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไหลลื่น ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สะดุดลง

นายยรรยง มองว่า จากที่ช่วงจังหวะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเกื้อหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโต จึงคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ และช่วงไตรมาส 1 ปี 2553 เมื่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว ธปท.จึงค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2552 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ -1 ถึงร้อยละ 0 หรือเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -0.8 ส่วนแนวโน้มปี 2553 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0-3.5 จากปีนี้ โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 2553 ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-33 บาทต่อดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานแม้ปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอาจปรับตัวสูงขึ้นบ้างนั้น แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีหน้า คาดว่าจะไม่หลุดไปจากกรอบที่ ธปท. ตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้กรมการค้าภายใน และสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้าออกสำรวจราคาสินค้าร่วมกัน เพื่อติดตามดูสถานการณ์ราคาสินค้า หากพบสัญญาณที่ผิดปกติจะได้เข้าไปดูแลสินค้ารายการนั้นเป็นพิเศษ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์จะปรับรูปแบบการเผยแพร่ดัชนี CPI จากทศนิยม 1 ตำแหน่ง เป็น 2 ตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความละเอียดมากขึ้นในการที่แต่ละหน่วยงานจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดทางเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น