เงียบหายไปพักใหญ่สำหรับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน 6 ประเด็นตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สรุปมา หลังจากพรรคเพื่อไทยกลับลำประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม ตามที่ได้รับสัญญาณจาก นช.ทักษิณ ชินวัตร
แต่จู่ๆ ในสัปดาห์นี้กระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ถูกจุดพลุขึ้นมาอีกครั้ง จากพรรคร่วมรัฐบาล
ต้องการแก้ใน 2 ประเด็นก่อน คือ มาตรา 190 การทำสนธิสัญญา หรือข้อตกลงที่เกี่ยวกับอธิปไตยของชาติ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และ การเลือกตั้งให้กลับไปใช้แบบเขตเดียว เบอร์เดียว
เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ในฐานะแกนนำรัฐบาลซึ่งมีฐานเสียงหลักในพื้นที่ภาคใต้ ไม่ต้องการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง เพราะถือว่าได้เปรียบ ถ้ายังคงการเลือกตั้งแบบพวงใหญ่ เพราะพื้นฐานของคนใต้ มักจะเลือกประชาธิปัตย์แบบยกทีม
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ที่ตั้งเป้าแย่งพื้นที่ส.ส.จากพรรคเพื่อไทย ในภาคอีสาน หรือพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีฐานเสียงหลักในภาคกลาง ต่างต้องการให้เลือกแบบเขตเดียว เบอร์เดียว เพราะมีโอกาสเบียดแทรกได้ง่ายกว่า
ถึงขั้นมีเสียงขู่จากแกนนำพรรคร่วมตัวจริง ว่าหากประชาธิปัตย์ไม่เดินเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนี้ ก็อาจจะหันไปร่วมลงชื่อกับพรรคเพื่อไทยในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อกลับไปมีเนื้อหาแบบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
แม้จะมีการออกมาปฏิเสธภายหลังก็ตามว่า ไม่ได้ข่มขู่กันถึงขั้นนั้น แต่ก็เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้พรรคประชาธิปัตย์รู้ว่า ต้องเร่งแก้ไขตามที่เสนอมาก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่
เรื่องนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ไม่มีปัญหา สามารถพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหาข้อยุติได้ แต่ขอให้ผ่านช่วงปีใหม่ไปก่อน
ขณะนี้ บัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะทำงานยกร่างศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค ได้โดดออกมาขวางทันที โดยระบุว่า ยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข อีกทั้งเรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นผู้เสนอ
ที่สำคัญ หากจะมีการแก้ไขกันจริงก็ต้องผ่านการทำประชามติ เพื่อฟังความเห็นของประชาชนเสียก่อน
เหนืออื่นใด เค้าลางของปัญหาที่เกิดจากความเห็นของพรรคร่วมที่ไม่ตรงกัน จะทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพ ซึ่งจะไปเข้าทางของ นช.ทักษิณ
ตามแผนแยกพรรคร่วมออกจากรัฐบาล เพื่อกดดันให้ยุบสภา