“มาร์ค” นัดคุยบิ๊กเนม ปชป.ประเมินผลงานพรรค ยันยังไม่คิดปรับ ครม.รอหลังอภิปรายจบค่อยว่ากัน ชี้พรรคร่วมอยากแก้รัฐธรรมนูญ ประเด็นระบบเลือกตั้ง ยื่นสภาฯ ได้ ปัดโยนกลองรับคนละเรื่อง แจงรัฐบาลรับแก้เฉพาะเกี่ยวพันสมานฉันท์ ถ้าฝ่ายค้านไม่เอาด้วยแล้วจะแก้อะไร เชื่อเห็นต่างไม่ทำพรรคร่วมแตก
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่ถนนติวานนท์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปที่บ้านพักของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อร่วมวงหารือกับกรรมการบริหารพรรค โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีใช้เวลาในการหารืออยู่ประมาณ 3 ชั่วโมงจึงได้เดินทางออกมา
โดย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นเพราะตนได้นัดหมายกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ในฐานะเลขาธิการพรรค ว่าในช่วงสิ้นปีจะมีการประเมินภาพรวมการทำงานทั้งหมด โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ฐานะที่เป็นแกนนำรัฐบาล และวิเคราะห์สถานการณ์รวมทั้งทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า ที่จะเกิดขึ้นในปี 2553 ได้การพูดคุยกันถึงภาพรวมทั้งหมดและเปิดโอกาสให้กรรมการบริหารพรรค ได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยได้เชิญที่ปรึกษาพรรค อดีตหัวหน้าพรรค ซึ่งได้พูดคุยกันครอบคลุมทุกเรื่อง เพราะเราต้องการให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทุกประเด็นและรอบด้านที่สุด ได้ประเมินสถานการณ์ตามความเป็นจริง ได้ยืนยันทิศทางการบริหารประเทศในหลายเรื่องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีและให้การทำงานได้ราบรื่น ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของการทำงานที่ผ่านมา ส่วนในเรื่องการปรับ ครม.คิดว่ายังไม่มีในช่วงนี้ แต่โอกาสที่จะมีการปรับ ครม.คงเป็นช่วงหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจมากกว่า ยกเว้นกรณีของนายกอร์ปศักดิ์ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับการทำงานที่เราต้องการให้เดินหน้ามากกว่านี้ เช่นเรื่องการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ปัญหาเกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์
ส่วนท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลนั้นก็ได้มีการหารือกัน ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร เพียงแต่ขณะนี้มีเรื่องของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ความคิดเห็นยังไม่ตรงกัน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่าถ้าฝ่ายค้านไม่มาร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบที่จะแก้ไข 6 ประเด็นแล้ว การทำประชามติก็ยังไม่ควรทำ เพราะถ้าทำไปก็ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ แต่ถ้ามีพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในบางประเด็น น่าจะสามารถดำเนินการได้ โดยที่ไม่เป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวในแง่ของการทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนก็ให้เป็นเรื่องของสภาฯ จะดำเนินการ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ปฏิเสธการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระของพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ใช่วาระในการสร้างสมานฉันท์ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะมันคนละเรื่องกัน เดิมที่พูดกันคือ ในกรอบสมานฉันท์ 6 ประเด็น แต่ถ้ามีประเด็นไหนที่ไม่มีความละเอียดอ่อน และใครอยากเสนออะไร คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องของสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาลหรือเรื่องในนามพรรคร่วมรัฐบาล
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวต่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญ นอกจากมาตรา 190 แล้วพรรคยังไม่มีเรื่องอื่น แต่เข้าใจว่าพรรคร่วมรัฐบาล อยากเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคเสนอไป และเป็นเรื่องที่สภาฯจะพิจารณา ในส่วนของพรรคได้พูดคุยกัน และเห็นว่าเขตใหญ่ ยังดีกว่า แต่ถ้าเดิมในกรอบสมานฉันท์ 6 ประเด็นแล้วประชาชนเห็นชอบก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำประชามติ ขณะที่จะกลายเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ คนเชื่อว่า ถ้าเป็น 2 ประเด็นนี้ ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประเด็นก่อนหน้านี้ ที่กังวลกันคือ การรับโทษที่เกิดขึ้นจากการซื้อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ประเด็นมาตรา 265 และ 266 ที่คนมองว่าเป็นการแก้เพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ ส.ส.แต่เรื่องมาตรา 190 เป็นเรื่องเทคนิคจริงๆ ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้นเป็นความคิดเห็นที่หลากหลาย ต้องให้สภาฯตัดสิน และหากเป็นประเด็นที่ไม่มีความละเอียดอ่อน ก็น่าจะให้อิสระที่พรรคการเมืองจะเสนอได้ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะโหวตให้หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องของสภาฯ ก็คงจะเป็นอิสระ
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ไม่ได้มีการเสนอเงื่อนไขเกี่ยวกับรัฐธรรมนูปี 2540 และความจริงเมื่อต้นปี 2549 ทุกพรรคการเมืองบอกว่า รัฐธรรมนูญปี 40 ต้องรื้อทั้งฉบับ รวมทั้งพรรคไทยรักไทยด้วย เราก็ทราบดีว่ามีจุดอ่อนทุกฉบับ เราก็ต้องแก้ไป ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็น เขตเลือกตั้งแล้ว พรรคร่วมรัฐบาลจะไม่ยกมือ ในการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ไปถึงตรงนั้น เพียงแต่บอกว่ารัฐบาลคงไม่เป็นเจ้าภาพในการเสนอเรื่องนี้ แต่พรรคการเมืองย่อมมีสิทธิ์ที่จะเสนอได้และประเด็นนี้ตนเห็นว่า เป็นมุมมองข้อดีข้อเสีย เขตใหญ่เขตเล็กในระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสากล เพราะระบบเลือกตั้งหลากหลายมากในระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้มีประเด็น ละเอียดอ่อน ในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ของ ส.ส. ซึ่งตนคิดว่าประเด็นดังกล่าวจะไม่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกัน เพราะยังมีเวลาในการพูดคุยกันว่า ส.ส.จะคิดอย่างไร แต่คิดว่ารัฐบาลน่าจะเป็นเจ้าภาพในเฉพาะกรณีที่มีวัตถุประสงค์ ในเรื่องสมานฉันท์ ซึ่งจะต้องกลับไปสู่กรอบเดิมคือ เรื่องประชามติ และการให้ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวด้วยว่า หลังปีใหม่ไปแล้วตนก็อยากจะให้มีการนัดหมายหารือพรรคร่วมรัฐบาล ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลอยากให้มีการเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะช้า เพราะแต่ละพรรคมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนในเรืองที่เกี่ยวข้องกับเขตเลือกตั้งว่าเราสนับสนุนระบบเลือกตั้งในปัจจุบัน แต่ก็ไม่ขัดข้องถ้าพรรคร่วมอยากจะเสนอแก้ไขก็สามารถทำได้ แต่ถ้าจะเป็นเรื่องของรัฐบาล รัฐบาลก็ต้องตอบคำถามว่า ถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องแก้ด้วยวัตถุประสงค์อะไร เพราะแต่เดิมพอบอกว่าจะแก้ไขเพื่อสมานฉันท์ เราก็ยอมถอยจากจุดยืนเดิมได้ เพราะทำแล้วบ้านเมืองสงบ มันก็คุ้มค่า เราก็ต้อมยอมถ้อยทีถ้อยอาศัย แต่วันนี้เมื่อฝ่ายค้านบอกว่าไม่เอาด้วยก็ต้องถามว่ารัฐบาลจะมีวัตถุประสงค์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร ถ้าจะเป็นเรื่องเทคนิคอย่างนี้ก็เป็นเรื่องให้สภาฯ พิจารณาไป