xs
xsm
sm
md
lg

ศาลล้มมติ ครม.หมัก ยกเขาพระวิหารประเคนให้เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ศาลปกครอง ชี้ "นพดล" ทำผิด เสนอแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ให้ ครม.เห็นชอบเพื่อหนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ระบุข้ามขั้นตอน ขัดรัฐธรรมนูญ ม.190 ขณะที่ "นิติธร" เตรียมส่งคำสั่งศาลให้ ป.ป.ช.พิจารณาฟันอาญา "นพดล-ครม.สมัคร" ด้าน "สุริยะใส" จี้รัฐบาลเร่งแจ้ง ผลคดีต่อยูเนสโก หยุดการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารของเขมรฝ่ายเดียว

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 30 ธ.ค. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการศาลปกครองกลาง เจ้าของสำนวน คดีปราสาทพระวิหาร ได้นั่งออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ 984 / 2551 , 1001 / 2551 และ 1024 / 2551 ที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กับพวกรวม 13 คน ซึ่งเป็นนักวิชาการ ทนายความและนักสิทธิมนุษยชน ร่วมกันยื่นฟ้อง นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ และ คณะรัฐมนตรี ( ครม.) สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1- 2 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2551 เรื่องกระทำการโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย กรณีที่นายนพดล รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา พร้อมแผนที่แนบ ลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 ขอขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกโลกที่จะมีการเสนอแถลงการณ์ต่อองค์การยูเนสโก ระหว่างวันที่ 2-10 ก.ค. 2551

โดยประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งสอง กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งศาลเห็นว่า คดีนี้เกี่ยวเนื่องกับข้อพิพาท คำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย.51 ว่า เป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 190 วรรคสองหรือไม่ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา ได้ส่งความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศและมีผลกระทบกับความมั่นคงทางสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ตามรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ซึ่งการวินิจของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันกับสภา ครม. ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ

แต่ข้อเท็จจริงในการจัดแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวที่เป็นผลมาจากนายนพดล พาคณะผู้แทนไทยไปหารือกับผู้แทนกัมพูชา ที่มีนายสก อาน รองนายกฯ และรมต.ประจำสำนักนายกฯกัมพูชา เป็นหัวหน้าคณะ ที่กรุงปารีส ในวันที่ 22-23 พ.ย.51 เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้น โดยครม.มีมติ ให้ความเห็นร่างแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 และอนุมัติให้นายนพดลลงนามกับฝ่ายประเทศกัมพูชา กับทางยูเนสโก เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.51 ซึ่งไม่ปรากฏว่า ครม. ไม่ได้ให้ข้อมูลหรือจัดให้มีการับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนลงนาม ดังนั้นมติครม.ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบตามขั้นตอนและวิธีการที่มาตรา 190 กำหนดไว้

คดีมีประเด็นวินิจฉัยอีกว่า ก่อนนำเสนอร่างแถลงการณ์ให้ครม.เห็นชอบนั้น นายนพดลได้ตรวจสอบพื้นที่ที่กำหนดในร่างแถลงการณ์ร่วมอย่างถูกต้องหรือไม่ ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงเขตปราสาทพระวิหารตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2505 จะปรากฏแนวสันปันน้ำอยู่ทิศตะวันออกและตะวันตกของปราสาท ซึ่งแนวดังกล่าวได้แบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาตามสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส พ.ศ.2446 ซึ่งไทยได้ยึดถือมาโดยตลอด ดังนั้นแม้แถลงการณ์ร่วมจะไม่กำหนด ให้พื้นที่ N.2 และ N.3 เป็นพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารในลักษณะเดียวกันกับพื้นที่ N.1 แต่ระบุให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่กันชน หรือ buffer zone เพื่อกำหนดมาตรการอนุรักษ์คุ้มครองสถานที่ขอขึ้นทะเบียนและให้เป็นพื้นที่ ที่ 2 ประเทศจัดทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน ก็ย่อมเป็นการให้สิทธิ์ประเทศกัมพูชาเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่ที่อยู่เขตแดนและอำนาจอธิปไตยของไทย

ดังนั้นหากรมว.ต่างประเทศลงนาม เห็นชอบตามมติครม.ก็จะส่งผลผูกพันต่อประเทศไทยมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศในพื้นที่ N.1 โดยตรง และมีผลต่ออำนาจอธิปไตยในพื้นที่ N.2 และ N.3 ในส่วนที่อยู่ใน อาณาเขตประเทศไทย ซึ่งจะให้กัมพูชาเข้ามาบริหารจัดการร่วมกัน แม้นายนพดลจะอ้างแถลงการณ์ร่วมข้อ 5 ที่ระบุว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกจะไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิในราชอาณาจักรไทย-กัมพูชา ในการกำหนดเส้นเขตแดนของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาก็ตาม แต่ประเทศกัมพูชา อาจหยิบกรณีพื้นที่ N.1 ที่ได้ตกลงไว้แล้วตามแถลงการณ์ร่วม มาเป็นข้ออ้างต่อคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมว่า เป็นพื้นที่ของกัมพูชาภายหลังอีกได้ ดังนั้นการที่นายนพดลนำแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้ายที่ไม่ถูกต้อง เสนอต่อครม.จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและส่งผลให้มติครม.เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

แม้คดีนี้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า กระทรวงการต่างประเทศเสนอครม.ยกเลิกมติ ครม. 3 ฉบับ กรณีประเทศกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก และการเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมวันที่ 27 พ.ค.51 วันที่ 17มิ.ย.51 และวันที่ 24 มิ.ย.51 โดย ครม.มีมติวันที่ 27 พ.ย.51 เห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม.ทั้ง 3 ฉบับ ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากได้ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฯของศาลปกครอง ที่ห้ามนำมติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ไปใช้ดำเนินการใดๆ และไม่มีการนำมติครม. ไปใช้อ้างอิง ศาลเห็นว่า แม้มติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลายกเลิกว่าให้มีผลเมื่อใด ขณะที่มติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เป็นการเห็นชอบให้นายนพดล ลงนามในแถลงการณ์ร่วมนั้น เมื่อมีการลงนามไปแล้ว ย่อมจะเกิดผลผูกพันทางกฎหมายและมีผลทันทีตามมติ ครม.ที่ออกเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.51 ซึ่งมติดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอาณาเขตและอำนาจอธิปไตยขอบไทย ซึ่งอาจมีปัญหาข้อกฎหมายที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจยกมากล่าวได้ว่า ครม.เคยมีมติแล้ว นำไปกล่าวอ้างหรือใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ประเทศไทย

ศาลจึงพิพากษาให้เพิกถอนมติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้าย รวมทั้งการเห็นชอบให้นายนพดล ลงนามในแถลงการณ์ร่วม โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 17 มิ.ย.51 ที่ครม.มติดังกล่าว และเมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนมติครม.ดังกล่าวแล้ว ก็จะมีผลให้มติครม.วันที่ 24 มิ.ย.51 ที่ให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไขถ้อยคำจากคำว่า แผนที่ เป็น แผนผัง ทั้งในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศและเอกสารที่เกี่ยวข้อง ต้องสิ้นผลไปด้วย ทั้งนี้ศาลยังให้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลมีไว้เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.51 มีผลต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุดด้วย

สำหรับกรณีดังกล่าว หากรมว.ต่างประเทศและครม. ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา สามารถใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ศาลได้อ่านคำพิพากษา

"นิติธร"เตรียมยื่น ป.ป.ช.ฟัน"นพดล"

ภายกลังการอ่านคำพิพากษานายนิติธร กล่าวว่า ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 ม.ย.51 ที่ให้รมว.ต่างประเทศ ลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นสาระสำคัญ พร้อมทั้งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด โดยศาลได้ชี้ให้เห็นถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานของ เจ้าหน้าที่รัฐและความผูกพันทางกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ไม่ดำเนินการ ตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ รวมทั้งไม่รับฟังและเสนอข้อมูลให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการตัดสินใจ ซึ่งหลังจากนี้เราจะส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ทั้งหมดให้ ป.ป.ช.

ผู้สื่อข่าวถามว่าผลคำพิพากษาจะมีผลต่อการดำเนินการของป.ป.ช.หรือไม่ นายนิติธร กล่าวว่า ให้ป.ป.ช.นำไปประกอบการพิจารณา เพื่อดำเนินการเอาผิด รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น อีกทั้งจะมีการดำเนินคดีทางอาญากับผู้ถูกฟ้องทั้ง 2 ด้วย สำหรับภาคประชาชนก็คงต้องหารือกับทางทนายความก่อน

"นพดล"ทำงงคำตัดสินศาล ปค.

นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจ เพราะคำตัดสินของศาลปกครองไม่เหมือนกับตุลาการที่ให้จำหน่ายคดี เพราะเหตุแห่งคดีนั้นสิ้นสุดไปแล้ว และสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ได้เพิกถอนมติครม.ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือน พฤศจิกายน 2551 ไม่รู้ว่าจะถอนซ้ำอีกทำไม เหมือนเป็นการรื้อบ้านซ้ำสอง รื้อทั้งๆ ที่ไม่มีบ้านจะให้รื้อ ส่วนตัวยังสับสนกับคำตัดสิน ส่วนการฟ้องก็เป็นการฟ้องตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่ใช่ตัวบุคคล ฉะนั้นคนที่จะสามารถอุทธรณ์ฎีกาในตอนนี้จะเป็น รมว.ต่างประเทศ เท่านั้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ขอย้ำว่าได้ทำไปเพื่อปกป้องพื้นที่ทับซ้อน ไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง

จี้รัฐบาลแจ้งผลคดีต่อยูเนสโก้

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (กมม.) กล่าวว่า ผลจากคำพิพากษาของศาลปกครอง ให้เพิกถอนมติครม.วันที่ 17 มิ.ย.51 ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมและแผนที่แนบท้าย รวมทั้งการเห็นชอบให้นายนพดล ปัทมะ ลงนามในแถลงการณ์ร่วม โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 17 มิ.ย.51 ที่ครม.มติดังกล่าว ถือว่ามีความชัดเจน ในหลักปฏิบัติของรัฐบาลที่จะต้องเร่งดำเนินการบังคับคดีแจ้งต่อยูเนสโก ภายใต้อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าทางการไทยไม่มีมติใดๆ สนับสนุนรัฐบาลกัมพูชาขึ้นทะเบียนมรดกโลก

นายสุริยะใส กล่าวว่า เพราะที่ผ่านมาแม้ศาลรัฐธรรมนูญจะเคยวินิจฉัยว่า แถลงการณ์ร่วมเข้าข่าย หนังสือสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตร 190 หรือ ขอความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่ทางการกัมพูชาก็ไม่สนใจและยังดันทุรังเดินหน้า ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งยูเนสโกจะพิจารณาเรื่องนี้ในราวๆ ต้นปีหน้า และกรรมการมรดกโลกหลายประเทศก็ยังคล้อยตามทางการกัมพูชาอีกด้วย

"ฉะนั้นรัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเร่งแจ้งคำ พิพากษาของศาลปกครองต่อยูเนสโกโดยเร็ว เพื่อยุติการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์"

แนะฟัน ขรก.บัวแก้วหนุนคนทำผิด กม.

นายสุริยะใส เชื่อว่าเรื่องนี้ทางรัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศคงไม่มีการ อุทธรณ์ เพราะเรื่องเกิดในสมัยรัฐนายสมัคร สุนทรเวช และจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ในตอนเป็นฝ่ายค้านก็ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาลนอมินีในขณะนั้น ส่วนนายนพดล จะอุทธรณ์คงไม่ได้เพราะพ้นจากตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศไปแล้ว และในตอนนั้นทางพันธมิตรฯ ได้ฟ้องนายนพดล ในฐานะ รมว.ต่างประเทศ ไม่ใช่ในนามนายนพดล

"ยังจำได้ว่าข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศหลายคนไปให้การในลักษณะปกป้องการกระทำที่ผิดกฎหมายของนายนภดลตอนนั้นด้วย ฉะนั้น นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ควรพิจารณาและทบทวนบทบาทข้าราชการเหล่านั้นว่าต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่"

นายสุริยะใส กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนี้ถือเป็นของขวัญปีใหม่ ของคนไทยทั้งประเทศ พวกเราพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวเรื่องนี้ต้องสูญเสียมากมาย แต่พวกเราก็ยอมเสียสละเพื่อปกป้องอธิปไตยและปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นของคนไทย

"สำหรับข้อพิพาทในเรื่องนี้หลังปีใหม่ทางแกนนำพันธมิตรฯ จะหารือร่วมกับทีมทนายความเพื่อหาทางเคลื่อนไหวปกป้องอธิปไตยไทยและทวงคืนปราสาทพระวิหารต่อไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น