xs
xsm
sm
md
lg

สั่งพับ 65 โครงการมาบตาพุด สิทธิชุมชน-คุณภาพชีวิตประชาชน มีค่ากว่าผลประโยชน์ของนายทุน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

 อักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครอง
ภาพประชาชนกอดกันร้องไห้และบอกว่าเป็น “ชัยชนะของพวกเรา”เกิดขึ้นทันที

หลังสิ้นเสียงการอ่านคำตัดสินขององค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด ในคดีมาบตาพุด 76 โครงการ ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

ให้ 11 โครงการที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการอุตสาหกรรม-คมนาคม โรงแยกก๊าซ-ท่าเทียบเรือ ที่ศาลฯเห็นว่าไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตของประชาชนสามารถเดินหน้าต่อได้

แต่ที่เหลืออีก 65 โครงการได้ขอให้ยุติการดำเนินโครงการไว้ชั่วคราว

เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อคุณภาพชีวิตประชาชนและไม่ได้ดำเนินการตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ในเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการก่อสร้างโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนทางด้านสุขภาพ คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ

แม้จะไม่ใช่คำสั่งที่ให้ยกเลิกโครงการ เพราะหากบริษัทเอกชนหรือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมทั้ง 65 โครงการกลับไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่แล้วปรากฏว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นควรให้มีการทำโครงการ

ก็ให้บริษัทหรือเจ้าของโครงการทำเรื่องแจ้งผลดังกล่าวมายังศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำสั่งให้บริษัทหรือเจ้าของโครงการ-โรงงานอุตสาหกรรมได้สิทธิเดินหน้าโครงการต่อไปได้อีกครั้ง

คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ ก็คือการที่ทุกอย่างจะกลับมาเริ่มต้นใหม่ คือการเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ ชุมชน ได้มีสิทธิมีเสียงกำหนดอนาคตของตัวเองและลูกหลาน ผ่านการมีคุณภาพชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบๆ ตัวของพวกเขา

หากบริษัทเอกชน โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศและต่างประเทศที่มีเงินลงทุนมหาศาล มั่นใจว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมมีมาตรฐานที่ดี มีระบบป้องกันและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชน

ก็ไม่น่าจะมีปัญหา หากว่าจะต้องเสียเวลาไปช่วงหนึ่งเพื่อกลับไปเริ่มต้นใหม่ด้วยการทำทุกอย่างให้ถูกต้อง

โดยหากผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งอยู่ของโครงการในพื้นที่ซึ่งพวกเขาต้องอาศัยอยู่ บริษัทเอกชนทั้งหลายก็ต้องยอมรับกับทุกเสียงประชาชนที่สะท้อนออกมา

เพราะนี่คือ สิ่งที่พวกเขาได้เลือกและเห็นชอบด้วยเสียงส่วนใหญ่แล้ว

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว จึงต้องถือว่าเป็นชัยชนะของภาคประชาชน และการเมืองใหม่ อันเป็นการเมืองใหม่ที่ประชาชนทุกเสียง ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนกำหนดชะตาชีวิตและอนาคตของตัวเองและลูกหลานได้


ไม่ใช่ให้การเมืองแบบเก่าๆ คือพวกนักการเมือง นายทุน กลุ่มทุนผู้สนับสนุนพรรคการเมือง ข้าราชการ เพียงไม่กี่คนคอยบงการ และวางแผนกำหนดความเป็นไปของประเทศและชีวิตประชาชนทุกเรื่อง ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งเรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ จนถึงสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตชุมชน

เรื่องนี้ หากไม่ใช่เพราะภาคประชาชน เช่นสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน -ประชาชนชาวระยองภายใต้การนำของ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก รวม 43 คน ที่ร่วมกันร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อต่อสู้และเรียกร้องสิทธิและความชอบธรรม จนศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว หรือการระงับการดำเนินการของ 76 โครงการในมาบตาพุดเอาไว้ก่อน

และต่อมารัฐบาลได้สั่งให้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และมีการสู้คดีกันจนในที่สุด องค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่มี นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นตุลาการเจ้าของสำนวน ก็มีคำสั่งดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่า

สิทธิชุมชน คุณภาพชีวิต สุขภาพที่ดีของประชาชน การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และที่สำคัญที่สุดการทำให้การบังคับใช้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศคงความศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งสำคัญกว่า ตัวเลขการลงทุนจากต่างประเทศ หรือการคิดคำนึงถึงแต่ตัวเลขจีดีพี-การจ้างงานในประเทศ การเสียภาษีของบริษัทเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ที่ปล่อยควันพิษและทำลายคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชน

รวมถึงเป็นคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่สำคัญมากกว่าการคิดแต่ในเรื่องทุนนิยม กำไรขาดทุน และการห่วงแต่มูลค่าหุ้นและการลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเหมือนบ่อนการพนันของคนรวยไม่กี่คน ที่เข้ามาเก็งกำไรจากหุ้นในตลท.แล้วก็โกยเงินไปสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเอง

แต่กลับปล่อยให้พี่น้องร่วมชาติที่ไม่มีทางเลือกในชีวิต ถูกฆ่าตายเหมือนผักปลา

เพราะในกรณีมาบตาพุด ชาวบ้านไม่สามารถจะหอบครอบครัวย้ายถิ่นฐานที่อยู่ออกไปจากจังหวัดระยองได้ จึงต้องยอมรับกับสภาพชีวิตที่ต้องสุ่มเสี่ยงกับการสูดควันพิษ สารเคมีตกค้างและการมีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อชีวิตตัวเอง และครอบครัว จนสังเวยชีวิตไม่พิการก็ตายในที่สุด

คำถามก็คือ พวกเขาผิดหรือ หากต้องออกมาต่อสู้เพื่อให้ตัวเองมีอากาศที่บริสุทธิ์หายใจได้ตลอด 24 ชั่วโมง และไม่ต้องห่วงว่าวันดีคืนดีจะมีสารพิษ-สารเคมีรั่วไหลออกมาจากโรงงานหรือโกดังของโครงการเหมือนกับที่เกิดขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบับ จนทำเอาผู้คนแตกตื่นในแถบนั้นอยู่แบบขวัญผวา เพราะกลัวสูดสารพิษเข้าไป

มาถึงวันนี้ เมื่อการต่อสู้ของพวกเขา ที่เป็นการต่อสู้ภายใต้สิทธิพลเมืองและสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักประชาธิปไตยได้รับการยอมรับ จนเกิดคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ออกมาเช่นนี้ ก็ควรที่ทุกฝ่ายต้องเคารพการตัดสินของศาล

โดยเฉพาะฝ่ายภาคเอกชนทั้งสภาอุตสาหกรรม ผู้บริหารบริษัทเอกชน ที่แม้จะมีท่าทีพร้อมยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด แต่ก็ไม่วายแสดงท่าทีประหนึ่งว่า หลังจากนี้มันจะเกิดผลกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ จนทำให้อาจชะลอการลงทุนในประเทศแล้วหันไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ไม่ต้องมาเสียค่าใช้จ่าย และเวลาในการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชน

รวมทั้งการอ้างว่าอาจทำให้เศรษฐกิจในปลายปีนี้รวมถึงต้นปีหน้าชะงักงัน เพราะโรงงานต่างๆ ต้องยุติการผลิตและดำเนินการชั่วคราว จนอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานหรือการส่งออก ถึงขั้นระบุว่า จะเกิดการหายไปของเม็ดเงินการลงทุนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังมีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด

ท่าทีเช่นนี้ก็คือ คำขู่ของคนเห็นแก่ตัว !

ทั้งที่คนเหล่านี้ ควรเอาเวลาทั้งหมดกลับไปคิด และเตรียมการเพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาเพื่อทำให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้อง จะดีกว่า ที่จะมาตีโพยตีพาย เหมือนกับว่าหลังคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดแล้ว เศรษฐกิจ อุตสาหรรม การลงทุนของประเทศมันจะ

เจ๊งหรือฉิบหายไปในทันที

ทั้งที่คนพวกนี้ก็รู้อยู่เต็มอกว่ามันไม่ใช่ จริงอยู่ว่ามันอาจกระทบบ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทุกอย่างเลวร้ายหรือแย่ลงอย่างที่พวกนายทุนอุตสาหกรรมพยายามให้ข้อมูล เพื่อให้สังคมตระหนกตกใจจนมีทัศนคติในทางลบกับการเมืองภาคประชาชนว่า

เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ

สาเหตุที่คนกลุ่มดังกล่าวคิดและกระทำเช่นนี้ ก็เพราะไม่ยอมรับสิทธิของคนอื่น คิดถึงแต่กำไร-ขาดทุน ผลประกอบการ มากกว่าคิดถึงชีวิตของประชาชน ซึ่งไม่ใช่ญาติพี่น้องของพวกนายทุนเหล่านี้

เราจึงเห็นว่า หลังจากนี้ ทุกฝ่ายต้องกลับมาร่วมมือกันทำทุกอย่างให้ถูกต้องตามขั้นตอน บนหลักการคือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสองอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมของประเทศ เดินหน้าไปแบบคู่ขนานกับคุณภาพชีวิตที่ประชาชนและชุมชนควรได้รับตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติและคุ้มครองไว้

ไม่ว่าจะเป็นการหาข้อสรุปเพื่อเดินหน้าการจัดตั้ง องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ เป็นผู้ให้ความเห็นในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องชาวระยองหากภาคอุตสาหกรรมไม่ล้มเลิก การเดินหน้า 65 โครงการมาบตาพุด รวมทั้งการรีบเร่งผลักดันการร่างประกาศหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ที่จะต้องออกมาเพื่อรองรับกระบวนการทั้งหมด

ขณะเดียวกันรัฐบาล ก็ต้องมี Action Planing เร่งด่วน ในการทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้นักลงทุนต่างชาติ นักอุตสาหกรรม ได้เข้าใจความเป็นมาของเรื่องทั้งหมด และกรรมวิธีการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งของศาล ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีทางออกที่จะทำให้ทุกอย่างกลับมาเดินหน้าได้ ไม่ใช่การทำให้ระบบอุตสาหกรรมของประเทศล้มครืนอย่างที่บางฝ่ายพยายามบิดเบือน

เรื่องนี้ จะเป็นอีกหนึ่งบททดสอบสำคัญในการแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่จะต้องทำให้การบังคับใช้กฎหมายภายใต้หลักสิทธิชุมชน และคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าไปพร้อมกับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน ภายใต้วิธีการที่ถูกต้องของระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

ที่ให้ความสำคัญกับทุกลมหายใจของพลเมืองในชุมชน ไม่ใช่แค่นายทุน เจ้าของโรงงานเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น