xs
xsm
sm
md
lg

ไฟเขียวอุ้มมาบตาพุด ครม.แก้ กม.สิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ครม.ผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปลดล๊อกมาตรา 67 วรรค 2 “อภิสิทธิ์-กรณ์” ผ่าทางตันอุ้ม 76 โครงการมาบตาพุด ดันบอร์ดสิ่งแวดล้อมออกระเบียบคุมโรงงานช่วงรอกฎหมาย ภาคประชาชนขอบ้างตั้งกองทุนแสนล้านเยียวยาสุขภาพพร้อมดันร่างกฎหมายองค์กรอิสระประกบ สภาทนายความแถลงเตือนรัฐบาล-เอกชนอย่าสร้างกระแสกดดัน โต้แย้งคำสั่งศาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมครม. วานนี้ (13 ต.ค.) ว่า ครม.ได้เห็นชอบการแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม ปี 35 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายฉบับนี้จะส่งให้คณะกรรมการประสานงานรัฐสภา โดยให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ประสานงานกับภาคประชาชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อทำความเข้าใจแนวทางการทำงานของรัฐบาล และในการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมครั้งต่อไป คาดว่าจะไปพิจารณาออกระเบียบที่จะสามารถให้ดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2ได้

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ว่า ในระหว่างที่รอการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงต้องออกระเบียบควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 หากอุตสาหกรรมรายใดปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวแล้ว ก็จะสามารถกลับมาดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ ยอมรับว่าการที่เอ็นจีโอจะฟ้องร้องอุตสาหกรรมในนิคมฯ ทั่วประเทศ ว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการและนักลงทุนได้ แต่รัฐบาลก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างการดูแลสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

รายงานข่าวแจ้งว่า การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมปี 35 นอกจากเป็นการทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว ยังทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการกำหนดประเภท ขนาดโครงการ หรือกิจกรรมของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ การกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงความชัดเจนขององค์กรอิสระที่จะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้

ส่วนการผลักดันให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกระเบียบควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในระหว่างที่รอกฎหมายนั้น ถือเป็นการปลดล๊อกให้กับ 67 โรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุด เพราะหากปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนด ก็สามารถกลับมาดำเนินการได้ และยังรวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่จะตั้งขึ้นใหม่ด้วย

**ร่างระเบียบนายกฯ อุ้มมาบตาพุดตก

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับร่างระเบียบสำนักรัฐมนตรีว่าด้วยการพิจารณาอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ... ซึ่งเป็นร่างระเบียบที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เสนอครม.นั้น ไม่ผ่านการพิจารณา

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า เรื่องนี้มิได้มีสาระสำคัญในการวางระเบียบปฏิบัติเฉพาะกับส่วนราชการเท่านั้น แต่เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ปฏิบัติสำหรับภาคเอกชนและคณะกรรมการชำนาญการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะเป็นการขัดกับร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 แล้ว ยังเป็นการกำหนดให้องค์กรอิสระใช้อำนาจรัฐ ซึ่งไม่อาจกระทำได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามกฎหมายในพระราชบัญญัติ ดังนั้นการตราระเบียบดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามาตรา 11(8) แห่งพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงไม่อาจกระทำได้ เพราะเป็นอำนาจที่พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 บัญญัติไว้

ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ว่า ร่างพ.ร.บ.และระเบียบสำนักนายกฯ จะมีบทเฉพาะกาลคุ้มครองโรงงานหรือกิจการที่ได้รับอนุญาตแล้วหรือไม่

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. เปิดเผยว่า ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร่างระเบียบสำนักนายกฯ ดังกล่าว นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม และหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน ได้รายงานผลการวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มผู้คัดค้านการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มที่มีนัยยะและหวังผลทางการเมือง 2. กลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนจริง ๆ และ 3.กลุ่มนักประท้วงมืออาชีพ โดยประเมินว่าเฉพาะกลุ่มที่ 3 นี้มีเงินเพื่อมาประท้วงโดยเฉพาะ

**สภาทนายฯ แถลงเตือนรัฐฯ-เอกชน

วานนี้ (13 ต.ค.) นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความฯ และคณะ เปิดแถลงข่าวกรณีคดีช่วยเหลือประชาชนชาวบ้านอำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียง จังหวัดระยอง และออกแถลงการณ์เพื่ออธิบายวิธีการดำเนินการในศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนผู้สนใจได้ทราบ และเพื่อไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นการก้าวล่วงดุลพินิจของศาลในคดี ดังนี้

1. ในการเตรียมหรือทำคดีเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นผู้ฟ้องคดีจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบการยื่นคำฟ้องโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางราชการ ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 รายได้นำเรียนต่อศาลปกครองกลางในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบกพร่องของการละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญของส่วนราชการในการบริหารกฎหมายและการดูแลให้การบังคับการให้เป็นไปตามสภาพของกฎหมายที่บังคับอย่างแท้จริง

สำหรับการลงทุนในอ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยองได้ถูกปล่อยปละละเลยและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยสารมีพิษต่าง ๆ ในรูปของขยะและควันพิษ เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วแต่ก็มีการเพิกเฉยและไม่ได้มีการบังคับอย่างจริงจังตลอดมาโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเดิมที่ขาดสภาพการบังคับคล่องอย่างจริงจริง

2. รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันแถลงนโยบาย และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ศาลปกครองจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาไว้แล้วว่าให้พื้นที่อ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และใกล้เคียง จ.ระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ปรากฏตามหมายเลขคดีแดงที่ 32/2552 และนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ลงนามประกาศให้พื้นที่ตามคำพิพากษาเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 2552 และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2552 และมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นมา

**ย้ำ 76 โครงการขัด รธน.

3. โครงการต่าง ๆ ที่ขออนุญาตดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง รวมแล้วกว่า 73 โครงการ ซึ่งปรากฏอยู่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องแล้วนั้น ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศใช้แล้ว

กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่ขัดกับบทรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 วรรคสอง เพราะเป็นการอนุญาตที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนว่ามีการดำเนินการดังกล่าว

ดังนั้น บรรดาโครงการที่กล่าวอ้างว่ามีสิทธิที่จะดำเนินการได้เนื่องจากได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 รายแล้ว รวมถึงอ้างว่าได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนแล้ว ตามข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าได้มีการทำรายงานให้ถูกต้องตามหลักและวิธีการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามที่ได้อ้าง ดังนั้น สิทธิของผู้ฟ้องคดีจำนวน 43 ราย จึงถูกละเมิดโดยการกระทำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อนุมัติให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวโดยไม่ให้ความสนใจกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

**ระวังให้ความเห็นละเมิดศาล

4. สภาทนายความ ขอเรียนว่า ผลกระทบจากการลงทุนทั้ง 76 โครงการ ที่อ้างว่าจะทำให้มีการถอนการลงทุนย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงหรือทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงประมาณร้อยละ 1.7 รวมทั้งจะมีการลดการจ้างงานลงจากที่ประมาณการไว้ 100,000 คน ก็ดีนั้น คงเป็นแต่เพียงการสร้างกระแสเพื่อให้มีกรณีที่ข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้ออ้างซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดี ที่มุ่งประสงค์จะออกมาโต้แย้งให้ความเห็นในทางที่สร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดี เพราะเป็นการวิพากษ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดความไม่มั่นใจกับผู้ประกอบการลงทุนและอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดระยองโดยรวม

ทางสภาทนายความ เห็นว่า โดยข้อผูกพันของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองก็ล้วนแล้วแต่ให้ความรับรองและหลักประกันเรื่องสุขภาพการกินดีอยู่ดีของคนในสังคมทั่วโลก การที่จะพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนโดยฝ่าฝืนมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และหากจะยกเป็นประเด็นขึ้นกล่าวอ้างก็ขอให้อ้างมาในสำนวนในคดีของผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ควรนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ภาคอุตสาหกรรมหรือสร้างความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าใจผิด

**วอนหยุดพูดเอาดีใส่ตัว

5. ประเด็นเรื่องของความถูกต้องจึงอยู่ที่ต้องไม่แข่งกันพูดหรือพูดกันคนละที หรือเลือกที่จะพูดแค่ความดีของส่วนตน อยากให้หยุดพูดหรือให้ความเห็นที่ออกมาบอกว่า เงินลงทุนเป็นแสนล้าน จ้างงานนับหมื่นคนต้องหยุดนั้น ควรต้องชี้แจงด้วยว่าโครงการส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเป็นเวลา 8 ถึง13 ปี ซึ่งควรจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้ไปสร้างความสมดุลให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่ไปสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วม ก่อนที่จะมีบทบังคับตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ความไม่โปร่งใสและเป็นธรรมในการลงทุนนั้นมีอยู่ทั่วโลก เหตุที่หลายประเทศไปลงทุนในประเทศใกล้เคียงไม่ได้เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยโดยเฉพาะประเทศที่ก้าวเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมยุคใหม่ก็ต้องใช้มาตรฐานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าสภาพการเมืองที่มั่นคงไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งและการจ้างแรงงานที่ถูกกว่าจะเป็นจุดผลักดันที่สำคัญในการลงทุนในแต่ละประเทศ

“ปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น กรณีอำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็ไม่ทำกัน เพราะการใช้ชีวิตและสุขภาพร่างกายของประชาชนในชาติเป็นตัวต่อรองให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง”

**เตือนเอกชนเร่งก่อสร้างรับความเสี่ยง

นายไสว จิตเพียร กรรมการฝ่ายช่วยเหลือ สภาทนายความฯ กล่าวว่า ภายใน 15 วันหลังศาลฯ มีคำสั่ง ศาลจะออกหมายบังคับตามคำสั่งศาลแจ้งไปยังหน่วยงานผู้ถูกฟ้องเพื่อให้ออกคำสั่งระงับโครงการไปยังเอกชน เพื่อให้กลับมาดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 ให้ครบถ้วน คือ ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA), ประชาพิจารณ์ และองค์กรอิสระให้ความเห็นว่าดำเนินการได้ หากหน่วยงานผู้ถูกฟ้องไม่กระทำตามคำสั่งศาลจะมีโทษถึงขั้นจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาล

นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความฯ กล่าวถึงกรณีที่เอกชนไม่หยุดการก่อสร้าง ก็สามารถทำได้ แต่จะประกอบกิจการหรือทดสอบการเดินเครื่องโรงงานที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ได้จนกว่าจะดำเนินการให้ครบถ้วนตามมาตรา 67 วรรค 2 เสียก่อน และการออกมาของสภาทนายฯ ไม่ได้คิดไปล้มโครงการแต่อย่างใด

นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสภาทนายความฯ ในฐานะนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า หากเอกชนบอกว่าสามารถก่อสร้างโครงการต่อไปได้ เขาก็ต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้วจะดำเนินการได้หรือไม่ เมื่อเข้าสู่กระบวนการทำ HIA, ประชาพิจารณ์ และองค์กรอิสระแล้วไม่ผ่าน

**ดันร่าง กม.องค์การอิสระประกบ

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เปิดเผยว่า กฎหมายจัดตั้งองค์กรอิสระที่จะออกมา องค์กรอิสระต้องมีอิสระที่แท้จริง ขณะนี้ภาคประชาชนหลายองค์กรได้ประสานงานล่าชื่อประชาชนให้ได้ครบ 15,000 ชื่อ เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ...... ยื่นต่อประธานรัฐสภา ไปประกบกับร่างแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. .... ที่ครม.ให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อสภา กว่ากฎหมายดังกล่าวจะออกมาบังคับใช้ได้ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน

นายศรีสุวรรณ จรรยา กล่าวด้วยว่า ต้องศึกษารายละเอียดร่างแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ..... อีกครั้ง แต่เบื้องต้นตนขอคัดค้านร้อยเปอร์เซนต์ โดยเฉพาะกรณีที่ให้อำนาจรมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงโทษองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นองค์กรอิสระที่แท้จริง จะมีการเคลื่อนไหวคัดค้านถึงที่สุด สู้กันถึงศาลปกครองสูงสุดจนถึงศาลรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้น ร่างแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังระบุว่า กรณีองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมไม่ให้ความเห็นชอบหรือให้ความแตกต่างจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ให้เสนอความเห็นขององค์การอิสระไปให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณาอีกครั้งโดยให้ถือความเห็นของคณะผู้ชำนาญการ เป็นที่สุด และให้ สผ. แจ้งให้คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานอนุญาตพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งเท่ากับว่าอำนาจการตัดสินสุดท้ายยังอยู่ที่ สผ. และ คชก.

“ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ที่ให้มีองค์กรอิสระก็เพื่อคานอำนาจกับคณะกรรมการผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาการพิจารณาอีไอเอของคณะผู้ชำนาญการฯไม่ได้รับความน่าเชื่อถือ แล้วจะยังให้อำนาจตัดสินเด็ดขาดอยู่ที่คณะผู้ชำนาญการฯ ไม่มีระบบถ่วงดุลอำนาจคณะผู้ชำนาญการฯ อย่างนี้องค์กรอิสระก็ไม่มีความหมายเพราะหากมีการตั้งธงเอาไว้แล้วก็จะเอาตามนั้น” นายศรีสุวรรณ กล่าว

**ขอตั้งกองทุนแสนล้านเยียวยาสุขภาพ

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ผู้ฟ้องคดีมีข้อเสนอเพื่อความสมานฉันท์ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยสร้างสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิต โดยข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกันของปัญหา มีดังนี้

1. ให้ ครม.จัดตั้งกองทุนเยียวยาพัฒนาสุขภาพประชาชน และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง 1 แสนล้านเทียบเท่ากองทุนเยียวยาอุตสาหกรรมเพื่อความสมดุล 2. ให้ครม.นำร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ...... ที่ยกร่างโดยภาคประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องไปยื่นให้กับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.51 มาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

3. ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำร่างประเภทโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ได้รับการยกร่างจากคณะกรรมการยกร่างที่แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ จำนวน 19 ประเภทโครงการ ที่ยื่นให้กับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตั้งแต่เดือนก.ย. 51 มาประกาศบังคับใช้

4. ให้ครม.นำร่างหลักเกณฑ์การศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผ่านเวทีการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว มาประกาศบังคับใช้โดยเร็ว

และ 5. ให้ผู้ประกอบการหรือกิจกรรมทั้ง 76 โรงงานที่ศาลปกครองฯ มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ฝ่ายมาร่วมกันพิจารณาว่า โครงการกว่า 500 แห่งทั่วประเทศที่ สผ. ผ่านรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) หลัง รธน. 50 ประกาศใช้ว่า มีโครงการใดเข้าข่ายเพื่อมาดำเนินการทำ HIA และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนการอนุมัติ/อนุญาตก่อนโดยเร็ว

**แฉกฤษฎีกาบอร์ด ปตท.เอียงข้าง

ในวันเดียวกันนี้ คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองและสิทธิชมุชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติได้จัดประชุมเวทีสาธารณะ เรื่อง “สิทธิชุมชน กรณีมาบตาพุด : ความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ การลงทุนกับชีวิตผู้คน สิ่งแวดล้อม”

นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การที่โครงการมาบตาพุดถูกคำสั่งศาลปกครองกลางชะลอการลงทุน ไม่ถือว่าเป็นปัญหามาจากความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 แต่เป็นปัญหาที่การบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ไปจนถึงรัฐมนตรีไม่มีความชัดเจน ซึ่งในระดับเจ้าหน้าที่นั้นหลายคนมีปัญหาถูกเงินง้างจนไม่ทำหน้าที่ใช้กฏหมายปัดเป่าปัญหาให้กับประชาชน ทำให้ในพื้นที่เกิดความแตกแยกไม่สงบสุข ดังนั้น ความเสียหายทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท หน่วยงานรัฐจึงต้องรับผิดชอบ

“ปัญหาที่เกิดขื้นเป็นความบกพร่องของกฤษฎีกาที่ให้ความเห็นทางกฎหมายไม่ชัดเจน ทราบว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่หนึ่งและห้านั้น กรรมการห้าในเก้าคน มีความข้องเกี่ยวกับ ปตท.เพราะนั่งเป็นบอร์ดอยู่ด้วย” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

** สู้ 4 รัฐบาล ป่วยมะเร็งตายแล้ว 6 ราย

นายสุทธิ อัชฌาศัย กล่าวในเวทีดังกล่าวว่า โครงการมาบตาพุดละเมิดสิทธิประชาชนมาตลอด กว่าจะได้มาซึ่งเขตปลอดมลพิษตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ชาวบ้านต้องต่อสู้เรียกร้องมาถึง 4 รัฐบาล คือ รัฐบาลขิงแก่ รัฐบาลนายสมัคร รัฐบาลนายสมชาย และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ทำให้วันนี้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจพื้นที่ ชาวบ้านมองว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 เป็นกลไกที่ช่วยเหลือพวกเขาได้ เนื่องจากขณะนี้ชาวบ้านเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปแล้ว 6 ราย รัฐบาลจึงไม่ควรมุ่งหวังแต่เพียงตัวเลขจีดีพี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคำสั่งของศาลปกครองกลางออกมาแล้ว แต่วันนี้โรงงานในมาบตาพุดก็ยังไม่เคารพกฏหมายโดยยังสร้างมลพิษไม่เลิก ขอฝากไปถึงรัฐบาลว่าควรเลิกโกหกคำโต เพราะที่บอกว่าขณะนี้นักลงทุนหนีไปประเทศเวียดนามนั้น ไม่เป็นความจริงเนื่องจากในภาคใต้ยังมีการขยายการลงทุนโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด แต่รัฐบาลไม่กล้าพูดความจริงเพราะกลัวถูกคนในพื้นที่ประท้วง

**อย่าโยนบาปชุมชนเป็นผู้ร้ายทำลาย ศก.

ด้านนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เงินลงทุน 4 แสนล้านบาทที่อ้างว่าหายไปกับคำพิพากษาฯนั้น จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยทั้งหมด เพราะจากการศึกษาพบว่าไทยได้ประโยชน์ร้อยละ 50 เท่านั้น ดังนั้นภาครัฐไม่ควรโยนความผิดให้กับคนในชุมชนจนกลายเป็นผู้ร้าย

ส่วนกรณีที่รัฐบาลผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่เข้า ครม.นั้น มีประเด็นที่น่าห่วงใยว่าการที่ร่างกฎหมายให้อำนาจ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ถอดผู้บริหารองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งทำให้องค์การอิสระขาดความเป็นอิสระ เชื่อว่าถ้ารัฐบาลไม่แก้ประเด็นนี้ประชาชนคงฟ้องร้องต่อศาลอีก

ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยึดหลักธรรมาภิบาลบริหารจัดการกรณีมาบตาพุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 อย่างเคร่งครัด โดยถือเป็นภารกิจเร่งด่วนในการตัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ที่ประกอบด้วยตัวแทน ทุกภาคส่วน และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด รวมทั้งนำร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฉบับของกระทรวงทรัพยากรฯ และฉบับของภาคประชาชนเข้าสภา เพื่อประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว

อนึ่ง เมื่อวานนี้ ภาคเอกชนได้ประชุมหารือกันในกรณีปัญหาโครงการลงทุนที่มาบตาพุด แต่หลังประชุมไม่มีใครให้สัมภาษณ์เพราะเกรงจะมีปัญหาข้อกฎหมาย หลังจากทางสภาทนายความฯ ออกแถลงการณ์เตือนระวังการให้ความเห็นโต้แย้งคำสั่งศาล
กำลังโหลดความคิดเห็น