xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายความฯออกแถลงการณ์ เตือนรัฐฯ-เอกชนอย่ากดดันศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – สภาทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลและกลุ่มนักลงทุนอย่าสร้างกระแสกดดัน ให้ความเห็นโต้แย้งคำสั่งศาลในทางที่สร้างความเสียหายแก่ดุลพินิจของศาล ชี้การส่งเสริมการลงทุนที่เอาชีวิตและสุขภาพร่างกายของประชาชนเป็นเครื่องต่อรองเป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่ควรทำอย่างยิ่ง

วันนี้ (13 ต.ค.) สภาทนายความแห่งประเทศไทย เปิดแถลงข่าวกรณีคดีช่วยเหลือประชาชนชาวบ้านอำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียง จังหวัดระยอง ซึ่งศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ระงับโครงการและกิจกรรม 76 โครงการเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น จนกลายเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลต้องลงมาแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน อีกทั้งภาครัฐและเอกชนกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างหนัก โดยสภาทนายความฯ ชี้ว่า การให้ความเห็นของรัฐบาลและเอกชนเป็นไปในทางที่สร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดี

สภาทนายความฯ นำโดยนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความฯ และคณะ ได้ออกแถลงการณ์โดยมีรายละเอียด ดังนี้ สืบเนื่องจากกรณีที่สภาทนายความได้รับให้ความช่วยเหลือแก่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านอำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง ผู้ได้รับความเดือดร้อนรวม 43
ราย ในการยื่นคำฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกับพวกรวม 8 ราย และได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งก่อนมีคำพิพากษา

และศาลปกครองกลางได้กรุณามีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 908/2552 ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้วว่าศาลได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ก่อนมีการพิพากษา ดังนี้

“ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารหมายเลข 7 ท้ายคำฟ้อง ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นประเภท โครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ทั้งนี้ไม่รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”

เหตุที่สภาทนายความต้องมีแถลงการณ์มา เพื่อขออธิบายวิธีการดำเนินการในศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนผู้ที่สนใจได้รับทราบโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นการก้าวล่วงดุลพินิจของศาลในคดีนี้ และเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการนำเสนอข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้กับประชาชนและผู้ที่สนใจให้ทราบโดยทั่วกัน ดังนี้

1. ในการเตรียมหรือทำคดีเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้นผู้ฟ้องคดีจำเป็นต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายประกอบการยื่นคำฟ้องโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางราชการ ซึ่งในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 รายได้นำเรียนต่อศาลปกครองกลางในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบกพร่องของการละเลยการปฏิบัติหน้าที่อย่างสำคัญของส่วนราชการในการบริหารกฎหมายและการดูแลให้การบังคับการให้เป็นไปตามสภาพของกฎหมายที่บังคับอย่างแท้จริง

สำหรับการลงทุนในอำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียงจังหวัดระยองได้ถูกปล่อยปละละเลยและสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยสารมีพิษต่าง ๆ ในรูปของขยะและควันพิษมีเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วแต่ก็มีการเพิกเฉยและไม่ได้มีการบังคับอย่างจริงจังตลอดมาโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายเดิมที่ขาดสภาพการบังคับคล่องอย่างจริงจริง

2. บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 ซึ่งเป็นบทกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันแถลงนโยบาย และอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ ศาลปกครองจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาไว้แล้วว่า

“พื้นที่อำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน สมควรให้มีการประกาศให้พื้นที่เหล่านี้ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 59” รายละเอียดปรากฏตามคดีหมายเลขแดงที่ 32/2552 และปัจจุบันนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ลงนามประกาศให้พื้นที่ตามคำพิพากษาเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน2552 และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 และมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นมา

3. โครงการต่าง ๆ ที่ขออนุญาตดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและใกล้เคียง รวมแล้วกว่า 73 โครงการ ซึ่งปรากฏอยู่ตามเอกสารท้ายคำฟ้องแล้วนั้น ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ประกาศใช้แล้ว
 
กรณีจึงเป็นเรื่องที่ขัดกับบทรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง เพราะเป็นการอนุญาตที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนว่ามีการดำเนินการดังกล่าว

ดังนั้น บรรดาโครงการที่กล่าวอ้างว่ามีสิทธิที่จะดำเนินการได้เนื่องจากได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 รายแล้ว รวมถึงอ้างว่าได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนแล้ว ตามข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าได้มีการทำรายงานให้ถูกต้องตามหลักและวิธีการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามที่ได้อ้าง
 
ดังนั้น สิทธิของผู้ฟ้องคดีจำนวน 43 ราย จึงถูกละเมิดโดยการกระทำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อนุมัติให้มีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าวโดยไม่ให้ความสนใจกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

4. สภาทนายความขอเรียนว่า ผลกระทบจากการลงทุนทั้ง 76 โครงการ ที่อ้างว่าจะทำให้มีการถอนการลงทุนย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงหรือทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงประมาณร้อยละ 1.7 รวมทั้งจะมีการลดการจ้างงานลงจากที่ประมาณการไว้ 100,000 คน ก็ดีนั้น คงเป็นแต่เพียงการสร้างกระแสเพื่อให้มีกรณีที่ข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้ออ้างซึ่งไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนคดี ที่มุ่งประสงค์จะออกมาโต้แย้งให้ความเห็นในทางที่สร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดี เพราะเป็นการวิพากษ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดความไม่มั่นใจกับผู้ประกอบการลงทุนและอุตสาหกรรมในเขตจังหวัดระยองโดยรวม

ทางสภาทนายความ เห็นว่าโดยข้อผูกพันของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองก็ล้วนแล้วแต่ให้ความรับรองและหลักประกันเรื่องสุขภาพการกินดีอยู่ดีของคนในสังคมทั่วโลก การที่จะพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนโดยฝ่าฝืนมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และหากจะยกเป็นประเด็นขึ้นกล่าวอ้างก็ขอให้อ้างมาในสำนวนในคดีของผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ควรนำ ข้อเท็จจริงนอกสำ นวนมาใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ภาคอุตสาหกรรมหรือสร้างความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าใจผิด

5. ประเด็นเรื่องของความถูกต้องจึงอยู่ที่ต้องไม่แข่งกันพูดหรือพูดกันคนละที หรือเลือกที่จะพูดแค่ความดีของส่วนตน อยากให้หยุดพูดหรือให้ความเห็นที่ออกมาบอกว่า เงินลงทุนเป็นแสนล้าน จ้างงานนับหมื่นคนต้องหยุดนั้น ควรต้องชี้แจงด้วยว่าโครงการส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเป็นเวลา 8 ถึง13 ปี ซึ่งควรจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้ไปสร้างความสมดุลให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่ไปสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วม ก่อนที่จะมีบทบังคับตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ซึ่งความไม่โปร่งใสและเป็นธรรมในการลงทุนนั้นมีอยู่ทั่วโลก เหตุที่หลายประเทศไปลงทุนในประเทศใกล้เคียงไม่ได้เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยโดยเฉพาะประเทศที่ก้าวเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมยุคใหม่ก็ต้องใช้มาตรฐานเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าสภาพการเมืองที่มั่นคงไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งและการจ้างแรงงานที่ถูกกว่าจะเป็นจุดผลักดันที่สำคัญในการลงทุนในแต่ละประเทศ ปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น กรณีอำเภอมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็ไม่ทำกัน เพราะการใช้ชีวิตและสุขภาพร่างกายของประชาชนในชาติเป็นตัวต่อรองให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง

สภาทนายความเห็นว่าทุกฝ่ายควรน้อมรับคำสั่งชั่วคราวของศาลปกครองกลางไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสภาทนายความรวมทั้งผู้ฟ้องคดียินดีให้ความร่วมมือที่จะทำให้เกิดความสุขความสมดุลย์ในการลงทุนและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทยและนานาอารยประเทศตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น