xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ชงตั้งกองทุนแสนล. อุ้มโครงการมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กกร. ชง 7 แนวทางให้นายกฯแก้มาบตาพุด  ประชดขอตั้งกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนเอกชนแสนล้านบาทหากต้องถูกระงับโครงการ นายกฯเรียกหน่วยงานรัฐหารือวันนี้ (8ต.ค.)หวังดันการออกกฏหมายลูกตามม.67 เข้าครม.สัปดาห์หน้า

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)หารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี วานนี้(7ต.ค.) ว่า ได้เสนอแนวทางการแก้ไขให้กับนายกฯ รวมทั้งสิ้น 7 แนวทาง ซึ่งนายกฯรับปากที่จะเร่งแก้ไขปัญหา โดยวันนี้ (8ต.ค.)จะเรียกหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงสำนักงานอัยการไปหารือเพื่อเร่งออกกฎหมายลูกให้สอดรับกับมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยพยายามที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ภายในสัปดาห์หน้า และนำเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนเสนอเข้ารัฐสภาในเดือนก.พ.-มี.ค. 53

สำหรับข้อเสนอที่ยื่นให้เอกชน ประกอบด้วย 1. ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมกับประชาชน 2 .  รัฐบาลหาข้อสรุปให้เกิดความชัดเจนในการตีความมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลปกครองกลางตีความต่างกัน  3.  ต้องการให้มีการบังคับใช้ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องกำหนด 8 กิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงโดยให้มีผลทางกฎหมายทันที 4. จากการประกาศ 8 ประเภทกิจการที่เข้าข่ายผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรุนแรงนั้นเห็นว่า 76 โครงการไม่ได้เข้าข่าย 8 ประเภทดังกล่าวแต่อย่างใดจึงไม่ต้องดำเนินงานตามมาตรา 67  

5.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งออกกฎหมายให้เร็วที่สุดเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 67 โดยเฉพาะการตั้งองค์กรอิสระ การประกาศบัญชีรายชื่อกิจการที่มีผลกระทบชุมชนรุนแรงที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ)  6. การอ้างอิงข้อมูลทางวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานรัฐควรมีการตรวจสอบและเสนอให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชน 7. ขอรัฐควรมีการจัดตั้งกองทุนบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ จำนวน 100,000 ล้านบาท เนื่องจากคำสั่งระงับโครงการดังกล่าวด้วย  

*** หนุนรวมทำ HIA-EIA
       
นายสันติ กล่าวว่า ภาคเอกชนเองหากมีการจัดทำกฎหมายลูกส่วนของการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) กับรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) หากจัดทำรวมกันได้ก็จะมีผลดีเพราะจะได้ไม่มีความซ้ำซ้อนและไม่แน่ใจว่าจะสามารถอยู่ภายใต้คณะกรรมการองค์กรอิสระชุดเดียวกันหรือไม่ซึ่งจุดนี้คงจะต้องรอผลการสรุปจากรัฐ     

นายพยุงศักดิ์ ชาติสิทธิผล รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ภาคเอกชนนั้นสนับสนุนแนวทางการจัดทำ EIA รวมเป็นแผนเดียวกับ HIA โดยสามารถใส่เงื่อนไขต่างๆ เข้าไปได้ทั้งหมดเพราะหากมีการแยกกันทำไม่แน่ใจว่าจะต้องแยกหน่วยงานกำกับดูแลหรือไม่ซึ่งอาจจะมีผลให้เกิดกระบวนการที่ซ้ำซ้อนและล่าช้า
“ก็ยอมรับว่ามีผู้ไม่เห็นด้วยหากจะแยกจัดทำทั้งนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลจะพิจารณา ระหว่างนี้เอกชนเองก็จะต้องรอคำพิพากษาของศาลฯว่าท้ายสุดจะออกมาอย่างไร เวลานี้ประเมินอะไรไม่ได้ซึ่งหากการจัดทำแผนต่างๆ ที่หารือกันแล้วหากคนที่ยื่นฟ้องเขาไม่ยอมรับอีกก็ยอมรับว่ามันก็ค่อนข้างจะยาก”นายพยุงศักดิ์กล่าว

***ก.อุตฯพร้อมหารือนายกฯวันนี้
นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนเพื่อที่จะเตรียมข้อมูลไปหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในวันนี้(8ต.ค.) ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะมีการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหามาบตาพุดรวมไปถึงการออกกฎหมายลูกและการตั้งองค์กรอิสระเพื่อให้สอดรับกับมาตรา 67 ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2550   ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยเฉพาะกับ สำนักงานอัยการสูงสุด   

แหล่งข่าวจากที่ประชุม กล่าวว่า ได้หารือภาพรวมถึงปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งระงับการดำเนินงาน 76 โครงการซึ่งทั้งหมดจะต้องรอการตัดสินหลังอัยการสูงสุดได้ยื่นคำอุทธรณ์และเพิกถอนคำสั่งระงับ 76 โครงการเป็นสำคัญ และระหว่างนี้หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่มีอำนาจจะไปสั่งระงับการดำเนินกิจการใดๆ ได้

*** สั่งจ่ายคำร้องอุทธรณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 ต.ค.) สำนักงานศาลปกครองสูงสุดได้ส่งคำร้องการยื่นอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาและกลับคำสั่งศาลปกครองกลางที่สั่งระงับบรรเทาทุกข์ชั่วคราวและให้หยุดดำเนินงาน 76 โครงการในพื้นที่บริเวณมาบตาพุด ให้กับนายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด พิจารณาสั่งจ่ายให้กับองค์คณะ

ปรากฏว่าประธานศาลปกครองสูงสุดได้สั่งจ่ายให้คำร้องอุทธรณ์ดังกล่าวให้กับองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด คณะที่ 1 ที่ประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมคณะอยู่ด้วย เป็นผู้พิจารณาคำร้องอุทธรณ์ดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น