xs
xsm
sm
md
lg

“สภาทนาย” ลั่นอย่ากลัวต่างชาติหนี ชี้ ยึดคำสั่งศาลหยุดลงทุนโครงการมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ เรื่องการช่วยเหลือคดีประชาชนชาวบ้าน อ.มาบตาพุด อ.บ้านฉางและใกล้เคียง ใน จ.ระยอง
“สภาทนายความ” ออกแถลงการณ์ แนะทุกฝ่ายเคารพคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวศาลปกครองกลาง ระงับการลงทุน 76 โครงการมาบตาพุด วอนอย่าอ้างกลัวต่างชาติย้ายถิ่นลงทุน แจง ปัจจัยสำคัญอยู่ที่สภาพความมั่นคงการเมือง-ค่าจ้างแรงงาน ด้าน “สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน-ชาวบ้านมาบตาพุด” ออกแถลงการณ์เสนอทางออก 5 ข้อ เพื่อความสมานฉันท์ ตั้งกองทุนเยียวยาสุขภาพ ปชช.-ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแสนล้าน เท่ากองทุนอุตสาหกรรม

วันนี้ (13 ต.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ออกแถลงการณ์ เรื่องการช่วยเหลือคดีประชาชนชาวบ้าน อ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และใกล้เคียง ใน จ.ระยอง ที่สภาทนายความ รับมอบอำนาจ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนรวม 43 ราย ยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกับพวกรวม 8 รายต่อ ศาลปกครองกลาง

นายกสภาทนายความ กล่าวอธิบายวิธีการดำเนินการในศาลปกครองเพื่อให้ประชาชนผู้ที่สนใจได้รับทราบโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นการก้าวล่วงดุลพินิจของศาลในคดีนี้ และเพื่อเป็นการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในการนำเสนอข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้กับประชาชนและผู้ที่สนใจให้ทราบโดยทั่วกัน ว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 43 รายได้ นำเสนอข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองกลาง ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อบกพร่อง การละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการในการบริหารกฎหมายและการดูแลให้การบังคับการให้เป็นไปตามสภาพอย่างแท้จริงสำหรับการลงทุนใน อ.มาบตาพุด อ.บ้านฉาง และบริเวณใกล้เคียง จ.ระยอง ที่ได้ถูกปล่อยให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ดิน น้ำ และการปล่อยสารมีพิษต่าง ๆ ในรูปของขยะและควันพิษมีเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการบังคับอย่างจริงจัง กลับอาศัยช่องว่างของกฎหมายเดิมที่ขาดสภาพการบังคับอย่างจริงจัง ขณะที่ก่อนหน้านี้ศาลปกครองจังหวัดระยอง ได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 32/2552 ไว้แล้วว่า พื้นที่อ.มาบตาพุด-อ.บ้านฉาง และใกล้เคียง เป็นพื้นที่ที่มีปัญหามลพิษส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน สมควรให้มีการประกาศให้พื้นที่เหล่านี้ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรา 59 และปัจจุบันนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้ลงนามประกาศให้พื้นที่ตามคำพิพากษาเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.52 และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2552 และมีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นมา

นายเดชอุดม กล่าวด้วยว่า ส่วนโครงการต่าง ๆ ที่ขออนุญาตดำเนินการในพื้นที่มาบตาพุด - บ้านฉางและใกล้เคียง รวมแล้วกว่า 73 โครงการ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฟ้องคดี ซึ่งได้รับอนุญาตภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญ ปี 50 ประกาศใช้แล้ว เป็นเรื่องที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ปี 50 มาตรา 67 วรรคสอง เพราะเป็นการอนุญาตที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อน ดังนั้น บรรดาโครงการที่กล่าวอ้างว่ามีสิทธิที่จะดำเนินการได้เนื่องจากได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ราย รวมถึงอ้างว่าได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนแล้วนั้น ตามข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าได้มีการทำรายงานให้ถูกต้องตามหลักและวิธีการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตามที่ได้อ้าง

“สภาทนายความขอเรียนว่า ผลกระทบจากการลงทุนทั้ง 76 โครงการ ที่อ้างว่าจะทำให้มีการถอนการลงทุนย้ายไปประเทศเพื่อนบ้าน จะทำให้การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงหรือทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงประมาณร้อยละ 1.7 รวมทั้งจะมีการลดการจ้างงานลงจากที่ประมาณการไว้ 100,000 คนนั้น คงเป็นแต่เพียงการสร้างกระแสเพื่อให้มีข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นข้ออ้าง ซึ่งไม่ได้ปรากฏอยู่ในสำนวนคดี” นายเดชอุดม นายกสภาทนายความ กล่าวและว่า การออกมาโต้แย้งให้ความเห็นต่างๆ นั้นสร้างความเสียหายแก่ดุลยพินิจของศาลในคดี เพราะเป็นการวิพากษ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดความไม่มั่นใจกับผู้ประกอบการลงทุนและอุตสาหกรรมในเขต จ.ระยอง โดยรวม ซึ่งสภาทนายความเห็นว่า ข้อผูกพันของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ล้วนแต่ให้ความรับรองและหลักประกันเรื่องสุขภาพการกินดีอยู่ดีของคนในสังคมทั่วโลก การที่จะพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนโดยฝ่าฝืนมาตรฐานเดียวกันกับที่ใช้ทั่วโลกจึงเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่หากจะยกเป็นประเด็นขึ้นกล่าวอ้างก็ขอให้อ้างมาในสำนวนในคดีของผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ควรนำข้อเท็จจริงนอกสำนวนมาใช้เป็นการประชาสัมพันธ์ภาคอุตสาหกรรม หรือสร้างความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ประชาชนเข้าใจผิด

“ประเด็นเรื่องของความถูกต้องจึงอยู่ที่ต้องไม่แข่งกันพูด หรือพูดกันคนละที หรือเลือกที่จะพูดแค่ความดีของส่วนตน อยากให้หยุดพูดหรือให้ความเห็นที่ออกมาบอกว่า เงินลงทุนเป็นแสนล้าน จ้างงานนับหมื่นคนต้องหยุดนั้น ควรต้องชี้แจงด้วยว่าโครงการส่วนใหญ่ทั้งหมดเป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีอากรขาเข้าเป็นเวลา 8 - 13 ปี ซึ่งควรจะนำสิทธิประโยชน์ที่ได้ไปสร้างความสมดุลให้กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่ใช่ไปสร้างความทุกข์ให้กับประชาชนที่ต้องทนทุกข์ทรมานที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วม” นายกสภาทนายความ กล่าว

นอกจากนี้ เหตุที่หลายประเทศไปลงทุนในประเทศใกล้เคียง ไม่ได้เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย แต่ว่าสภาพการเมืองที่มั่นคง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งและการจ้างแรงงานที่ถูกกว่า เป็นจุดผลักดันสำคัญในการลงทุนในแต่ละประเทศ โดยปัญหาเรื่องมลพิษและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่นกรณี อ.มาบตาพุด - บ้านฉาง และใกล้เคียง จ.ระยอง เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วไม่ทำกัน เพราะการใช้ชีวิตและสุขภาพร่างกายของประชาชนในชาติเป็นตัวต่อรองให้มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง ขณะที่สภาทนายความเห็นว่า ทุกฝ่ายควรน้อมรับคำสั่งชั่วคราวของศาลปกครองกลางไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยสภาทนายความรวมทั้งผู้ฟ้องคดี ยินดีให้ความร่วมมือที่จะทำให้เกิดความสุขความสมดุลย์ในการลงทุนและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดขึ้นและเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับประเทศไทยและนานาประเทศตลอดไป

ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาวบ้านมาบตาพุด ผู้ฟ้องคดี รวม 43 ราย ระบุว่าเนื่องจากนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการสร้างสมดุลระหว่างคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวมาบตาพุด-บ้านฉาง และใกล้เคียง จ.ระยอง ภาคประชาชน และผู้ฟ้องคดี จึงมีขอเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกันของปัญหา ดังนี้

1.ให้คณะรัฐมนตรีจัดตั้งกองทุนเยียวยาพัฒนาสุขภาพประชาชน และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง 1 แสนล้านบาท เทียบเท่ากองทุนเยียวยาอุตสาหกรรม เพื่อความสมดุล

2.ให้ ครม.นำร่าง พรบ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ.... ที่ยกร่างโดยภาคประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ยื่นให้กับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2551 มาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาประกาศใช้เป็นกฎหมาย

3.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นำร่างประเภทโครงการหรือกิจกรรมประเภทรุนแรงที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ได้รับการยกร่างจากคณะกรรมการยกร่างที่แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และผ่านเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั่วประเทศมาแล้ว จำนวน 19 ประเภทโครงการ ที่ยื่นให้กับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2551 มาประกาศบังคับใช้

4.ให้ ครม.นำร่างหลักเกณฑ์การศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ที่ยกร่างโดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผ่านเวทีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว มาประกาศบังคับใช้โดยเร็ว

5.ให้ผู้ประกอบการโครงการหรือกิจกรรมทั้ง 76 โรงงานที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ฝ่ายมาร่วมกันพิจารณาว่าโครงการกว่า 500 แห่งทั่วประเทศมีโครงการใดเข้าข่ายบ้าง เพื่อมาดำเนินการจัดทำ HIA และให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนการอนุมัติ/อนุญาตก่อนโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น