“ศรีสุวรรณ”เผยอัยการยื่นอุทธรณ์ เป็นข้อมูลด้านเดียว ยันผู้ยื่นฟ้องเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น แนะโครงการเอกชนรอฟังคำสั่งศาล อย่าเร่งสร้าง รง. ก่อนเป็นแค่เสาหลักอนุสาวรีย์ ดักคอรัฐหากเยียวยาเอกชน แสนล้าน ภาคประชาชนขอใช้สิทธิบ้าง ขณะที่“นายเดชรัตน์” ชี้ปัญหามาบตาพุด เกิดจากความไม่สมดุล บ.เอกชนขยายโรงงาน รุกที่ชุมชน เผยแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เอื้อหลายโครงการ พ้นอำนาจ รธน.50
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 13 ตุลาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ และนายเดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมพูดคุยถึง ก้าวต่อไปของประชาชนและรัฐบาล หลังศาลปกครองกลางสั่งระงับ 76 โครงการมาบตาพุด
นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงสาเหตุที่สภาทนายต้องออกมาแถลงการณ์ ว่า หลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ปรากฏ ว่า ข้อมูลที่ออกมาสู่สาธารณชนส่วนใหญ่เป็นข้อมูลที่ออกมาจากภาครัฐ โดยอ้างต่างๆนาๆ ว่าเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้หลายคนขาดโอกาสได้งานทำ ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นข้อมูลด้านเดียว เป็นการพยายามเบี่ยงเบนประเด็น ด้วยเหตุนี้ทำให้สภาทนายต้องออกมาแถลงข้อเท็จจริง ว่า มูลเหตุมาจากภาครัฐ ไม่ดำเนินตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ร้องเรียนไปก็เพิกเฉย ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเลือกอื่นใด จำต้องขอความเมตตาจากบารมีศาล ให้คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 50
"คำอุทธรณ์ของอัยการ เป็นการอุทธรณ์ที่ไร้ข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นผู้เจ็บป่วยในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งนี้ข้อมูลที่เราเคยนำเสนอต่อศาล เป็นข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ ก.สาธารณสุข กรมควบคุมโรค กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันศึกษา ลงพื้นที่ทำวิจัย จึงได้ข้อมูลเหล่านั้นออกมา และเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีผู้ที่ฟ้องคดีเสียชีวิตเพราะป่วยเป็นโรงมะเร็ง อันเนื่องมาจากมลพิษในโครงการมาบตาพุด ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้ว แต่น่าเสียดายข้อมูลเหล่านี้ไม่ปรากฏต่อศาล" นายศรีสุวรรณ
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่าเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2552 ศาลปกครองระยอง มีคำสั่งให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นพื้นที่ปลอดมลพิษ คำสั่งนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่า ศาลได้พิจารณาข้อมูลอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าพื้นที่มาบตาพุดมีความเสียงต่อมลพิษจริง จึงได้มีคำวินิจฉัยคุ้มครองออกมา ตรงนี้นายกฯและคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมก็เห็นด้วยกับคำสั่งศาลจึงออกประกาศให้เป็นเขตุควบคุมมลพิษ เพราะถ้าไม่มีปัญหามลพิษรัฐบาลจะไปประกาศควบคุมมลพิษทำไม ฉะนั้นโครงการใดๆ ที่จะไปสร้างต้องทำ อีไอเอ ก่อน ทั้งนี้ที่ผ่านมาตั้งแต่มีกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ได้ออก อีไอเอ ที่ไม่รอบคอบ จนนำมาสู่การบัญญัติ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แต่เผอิญว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงมาใช้รัฐธรรมนูญ 50 แล้วบัญญัติในเรื่องสุขภาพไว้ในมาตรา 67 เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนอย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ผ่านมาสองปีกว่าแล้ว ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมารองรับ มาตรา 67 เลย ทำให้ประชาชนต้องไปฟ้องร้องต่อศาลจนเป็นข้อพิพาทกันอยู่ในขณะนี้
"การที่ศาลสั่งระงับ 76 ไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย เพราะนักลงทุนที่ไปลงทุน ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐด้วยสิทธิพิเศษ ไม่ต้องจ่ายภาษี 8 ปีบ้าง 13 ปีบ้าง แทนที่จะเอาสิทธิพิเศษตรงนี้มาชดเชยให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้โรงงาน ที่ตอนนี้ไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรเลย มีแต่ได้รับมลพิษ" นายศรีสุวรรณ กล่าว
มีคนพูดว่าผู้ที่ฟ้องไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ประเด็นนี้ นายศรีสุวรรณ กล่าวว่าคนที่พูดแบบนี้ไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง เพราะตามกฎหมายผู้ที่จะฟ้องได้ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นเมื่อศาลปกครองรับฟ้องก็แสดงให้เห็นว่า เป็นผู้มีส่วนได้เสีย และจากที่ตนสำรวจผู้ฟ้องร้องทั้ง 42 รายก็อยู่ในพื้นที่มาบตาพุดทั้งสิ้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่าตนไม่แน่ในว่า คำสั่งศาลปกครองกลาง ที่สั่งคุมครองกินความกว้างขนาดไหน แต่หลังจากที่ศาลสั่งระงับโครงการในพื้นที่มาบตาพุด เพราะไม่ทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าศาลคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แม้คำสั่งศาลปกครองจะบังคับเฉพาะโครงการของรัฐ ไม่ครอบคลุมไปถึงโครงการเอกชน ก็ตาม ทำให้บริษัทเอกชน ดำเนินการตอกเสาเข็มอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้เมื่อท่านรู้แล้วแต่ท่านก็ยังดำเนินโครงการต่อ ท่านก็ต้องยอมรับสภาพกับความเสียง ซึ่งอาจทำให้โครงการของท่านเป็นเสาหลักอนุสาวรีย์ได้ หากศาลมีคำสั่งให้โครงการที่ยื่นอุทธรณ์ไปนั้นจะต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ก่อน ดังนั้นทางที่ดีที่สุด ควรรอฟังคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ให้ออกมาเสียก่อน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่ารับไม่ได้กับข้อเสนอของภาคเอกชน ที่เสนอหากต้องหยุดโครงการ ขอให้รัฐบาลตังกองทุน 1 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยา และจากที่ดูท่าทีของรัฐบาล ก็มีแนวโน้มว่าจะอนุมัติเสียด้วย ถ้าเป็นอย่างนี้ ภาคประชาชนก็มีโอกาสเสนอ ได้เช่นเดียวกัน หลังจากที่ นายกฯ เคยพูดว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรม และวิธีชาวบ้านให้เกิดความสมดุล ดังนั้นจะขอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเยียวยา ผู้ได้รับผลประทบ และรักษาผู้ป่วยจากมลพิษ จำนวน 1 แสนล้านบาท เท่ากับกองทุนเยียวยาอุตสาหกรรม
นายเดชรัตน์ กล่าวว่าปัญหาในพื้นที่ใน จ.ระยอง ที่ผ่านมาไม่ได้อยู่ในภาวะที่สมดุล 1.ร้อยละ 80 ของพื้นที่เป็นภาคอุตสาหกรรม กลายเป็นเศรษฐกิจขาเดียว นี่คือความไม่สมดุลประการแรก 2. ที่อ้างว่า จ.ระยองคือบ่อกำเนิดรายได้ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจากที่สำรวจโครงการที่มาลงทุนใน จ.ระยอง ส่วนใหญ่จดทะเบียนที่กรุงเทพฯ ทำให้เม็ดเงินที่เสียภาษีไม่ได้ย้อนกลับไปที่ประชาชนในพื้นที่ และ3. ตอนเริ่มทำแผนอีสเทิร์นซีบอร์ด กำหนดให้ต้องมีพื้นที่กันชน แต่ปรากฏว่าปัจจุบันโรงงานขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้เปลี่ยนพื้นที่ชุมชนไปเป็นโครงการอุตสาหกรรม กติกาที่เคยตั้งไว้ถูกเปลี่ยน ทำให้ไม่เกิดความไม่สมดุลในพื้นที่
ทั้งนี้หลังรัฐธรรมนูญ 50 ออกมาใช้บังคับ ทำให้ผู้ที่จะขอใบอนุญาตทำโครงการ ที่เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงจะกระทำไม่ได้ ต้องทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 เสียก่อน ได้มีการตั้งคณะทำงานรีบจัดทำร่างเป็นพระราชบัญญัติ ทุกอย่างเตรียมพร้อมที่จะดำเนินตามรัฐธรรมนูญ แต่ภาครัฐไม่หยิบยกขึ้นมาบังคับใช้ อ้างว่าสับสนไม่รูว่าจะดำเนินการอย่างไร สิ่งที่ตนเสียใจมากที่สุด นอกจากภาครัฐไม่ดำเนินกาแล้ว ยังไปโทษประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ว่า ทำให้ประเทศด้อยพัฒนา เติบโตล่าช้า ส่งผลกระทบความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งตรงนี้อาจนำไปสู่ความแตกแยกระหว่างผู้ลงทุนกับประชาชนได้
นายเดชรัตน์ กล่าวถึงร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุดรัฐบาลเลือกที่จะแก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมมาตรา 51 ทั้งนี้รัฐบาลอยากให้มีองค์กรอิสระหลายองค์กร โดยต้องไปจดทะเบียนและได้รับการรับรองจาก ก.ทรัพย์ฯ ก่อน ถึงจะออกความเห็นได้ และรัฐบาลจะเป็นผู้เลือกว่าจะส่งรายงานไปให้องค์กรอิสระจดทะเบียน ซึ่งจะเกิดคำถามว่า ส่งให้องค์กรนี้ ทำไมไม่ส่งให้องค์กรนั้น แล้วอย่างนี้ใครจะเป็นคนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามตนเป็นห่วงอยู่ในมาตราหนึ่ง ที่บอกว่าหากหากองค์กรสิ่งแวดล้อมให้ใบอนุญาตโดยไม่เหมาะสม รมว. ทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สามารถเพิกถอนใบอนุญาตนั้นได้ แต่ร่างที่เข้าสภาขณะนี้ไม่ได้รับการเปิดเผย ทำให้ไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น
นายศรีสุวรรณ กล่าวเสริมรัฐบาลผิดตั้งแต่เริมต้น ที่มอบอำนาจให้ ก.อุตสาหกรรม ก.สาธารณสุข และ ก.สิ่งแวดล้อม ไปปิดห้องประชุม โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียร่วมพิจาร ผิดจากนโยบายสวยหรู ที่รัฐบาลเคยประกาศจะรับฟังเสียงประชาชน โดยให้อำนาจผู้ชำนาญการ ในการออกใบอนุญาต ซึ่งเราไม่รู้ว่ารัฐมนตรีจะไปปิดประตูห้องชุมนุม เจรจามีผลประโยชน์กันหรือไม่ ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมที่เราร่างและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลนำมาตรการดังกล่าวเข้าสู่ครม. อย่างนี้เรารับไม่ได้ เพราะไม่สามารถถ่วงดุลได้ แล้วอย่างนี้จะมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมไปทำไม
นายเดชรัตน์ กล่าวว่าการแก้ไขเนื้อหาของ ก.อุตสาหกรรม ทำให้บางโครงการหลายโครงการรอด ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 เราเคยทำการศึกษา มี 19 ประเภทโครงการ แต่ ก.อุตสาหกรรม ประกาศให้โครงการที่ต้องอยู่ในข่ายทำตามรัฐธรรมนูญ 50 แค่ 8 โครงการ เช่น เคยคุยกันว่าเหมืองแร่ทุกประเภท เป็นโครงการที่ได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ตอนประกาศ เหมืองแร่ทองคำ เหมืองแร่ถ่านหิน ไม่อยู่ในข่ายต้องทำ อีไอเอ หรือโครงการ ปิโตรเคมี กับเหล็ก ก็ไปยกตัวเลขให้สูงขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าเงื่อนไขต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 50
"ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 50 ใช้บังคับ เราพบว่ามีโครงการอนุมัติจากผู้ชำนาญการ ไม่ต่ำกว่า 500 โครงการ ตรงนี้เราจะส่งทีมงานลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับประชาชนในพื้นที่ หากพบว่า ส่งผลกระทบต่อประชาชน เราจะเอาโครงการเหล่านั้นมาฟ้องร้องต่อศาล ให้ระงับเช่นเดียวกันกับโครงการในมาบตาพุด" นายเดชรัตน์ กล่าว
นายเดชรัตน์ กล่าวว่าการที่นักลงทุนจะเข้ามาลงทุนเขามองที่ความได้เปรียบในเรื่องการแข่งขัน เช่น วัตถุดิบ กฎหมาย สิ่งแวดล้อม เมื่อเขาเห็นว่าได้เปรียบหลายเรื่องจึงมาลงทุน และเราเป็นประเทศที่เอื้อในทรัพย์ยากร และเอื้อต่อการส่งออก ทำให้เขาตัดสินใจมาลงทุน อีกอย่างรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ก็ไม่ใช่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ตราขึ้นมาบังคับใช้ จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่นักลงทุนจะต้องตกใจ
นายศรีสุวรรณ กล่าวเสริมตนเป็นประธานสภาทนายมากว่า 20 ปี รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านมาเยอะ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แม้แต่โรงเลี้ยงหมู ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ เพราะไปสร้างผิดที่ ซึ่งข้อมูลก็เป็นที่ประจักจากที่ทำคดีให้ชาวบ้าน ข้อมูลเหล่านี้มีอยู่แล้ว แต่ทำไม่ ก.อุตสาหกรรม ไม่เอามาประยุกต์แล้วประกาศให้ครอบคลุมขึ้น ดีกว่าภาครัฐจะสุมหัวประชุม แล้วมาประกาศใช้กับคนทั้งประเทศ ซึ่งการกระทำอย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับประชาชน
นายเดชรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่าส่วนใหญ่เรามักจะนึกว่าปัญหาในมาบตาพุด เป็นเรื่องของนักลงทุนกับชาวบ้าน ซึ่งตนไม่อยากให้คิดอย่างนี้ เพราะชาวบ้านก็คือนักลงทุน เขารักษา เขาหวงแหนทรัพยากร ต่างกันตรงที่สิ่งที่เขารักษามาไม่อาจคำนวณเป็นตัวเงินได้ นักลงทุนหากเขาประสบปัญหาเขาก็ย้ายฐานผลิตไปที่อื่น แต่ชาวระยอง หากเขาเจ็บป่วย เขาจะตายก็ตายที่ระยอง ดังนั้นจึงไม่อยากให้เอาตัวเลขเงินมาเบี่ยงเบนความสนใจ เราอยากมีกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย