xs
xsm
sm
md
lg

"ศรีสุวรรณ"เย้ยรัฐฯทุบดินคุมมลพิษ ยัน EIA "มาบตาพุด" แก้ปัญหาตรงจุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ศรีสุวรรณ" เย้ย แผนควบคุมมลพิษของรัฐ ป่วยการทำกี่ฉบับก็เหมือนเดิม เศร้าคนระยองทำ EIA หวังแค่ผลประโยชน์เล็กน้อย เผย 9 ก.ย.ชุมนุมใหญ่ร้องรัฐปฏิบัติตาม ม.67 ขณะที่"สุรชัย" ยันเจตนารมณ์ รธน.มาตรา 67 บังคับใช้ทันที ไม่จำต้องให้กฤษฎีกาตีความอีก ชี้ช่องโหว่ กม.ไม่มีองค์กรตรวจสอบมลพิษหลัง รง.ได้รับใบอนุญาต ด้าน"สุทธิ" ยันแผนควบคุมมลพิษมาบตาพุด สอดคล้องกับความต้องการของ ปชช. มากที่สุด โวยกลุ่มอุตสาหกรรม เล่นแง่ต่อต้าน จวกหน่วยงานรัฐออกใบอนุญาตตังโรงงาน เป็นการท้าทายศาล รธน.



คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนในข่าว”

รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 2 กันยายน 2552 โดยมี รัตติกรณ์ จารุเกษตรวิทย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และนายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมด้วยนายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ และนายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน มาร่วมพูดคุยถึงมุมมองแผนควบคุมมลพิษมาบตาพุด

นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนมาบตาพุด ว่า ทางเทศบาลได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาหลายชุด มีทั้งนักวิชาการ ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมเสนอความคิดเห็นด้วย โดยเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง ท้องถิ่นเป็นตัวเสริม แล้วให้ราชการเป็นผู้ยอมรับ ซึ่งตนเชื่อว่าการกระทำอย่างนี้ จะเป็นแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยประกาศเขตุควบคุมมลพิษมาแล้วถึง 12-13 ฉบับ แต่ไม่สามารถควบคุมมลพิษได้ เหตุแผนเหล่านั้น คนที่จัดทำแผนคือคนระดับกระทรวง กรม ซึ่งชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

นายศรีสุวรรณ กล่าวถึงความผิดปกติในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งตามหลักหากทำบ่อยๆต้องเก่งขึ้น แต่คนระยองกลับไม่รู้ว่า EIA คืออะไร เขารู้แต่ว่าไปทำแล้วได้เงิน ได้ของติดไม้ติดมือกลับบ้าน ได้ไปเที่ยว ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการรับฟังที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ความไม่โปร่งใสในการทำ EIA อีกประเด็นหนึ่ง คือ มีบางคนที่เป็นผู้ชำนาญการในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นคนในอุตสาหกรรม ดังนั้นหากมีการจัดให้รับฟังกระบวนความคิดเห็นของประชาชน ควรระบุไปเลย ว่า ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริงเท่านั้น ไม่ใช่เอาใครมาก็ได้เหมือนที่เคยทำ

อย่างไรก็ตามเพื่อให้รัดกุมมากขึ้น ควรมีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่เกิดจากสถาบันการศึกษาที่เป็นกลางซึ่งจัดทำการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนNGO รวมตัวกัน เพื่อไปคัดค้านความไม่ถูกต้อง ป้องกันนอมินีของโรงงานเข้าไปนั่งจัดทำแผน EIA ด้วยเหตุนี้ ตนจึงนัดหมายชุมนุมใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในวันที่ 9 กันยายน ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป เพื่อเรียกร้องให้ 1.รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ 2. ล่ารายชื่อหนึ่งหมื่นชื่อ เสนอให้ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ เพื่อเสนอกฎหมายร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า กฤษฎีกาให้ความเห็นในฐานะเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาล จึงไม่ใช่ข้อยุติ ดังนั้นข้อยุติที่ดีที่สุด ต้องใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย ดังนั้นสิ่งที่เครือขายประชาชนภาคตะวันออกร้องให้จัดทำแผนปฏิบัติ หรือเข้าร่วมกับสมาคมต่อต้านโลกร้อน ด้วยการฟ้องให้ปฏิบัติตาม ม.67 จึงป็นกระบวนการที่โปร่งใส แต่สิ่งที่หน่วยงานของรัฐใช้อำนาจทางปกครอง สั่งการให้รีบดำเนินการอนุญาตตั้งโรงงาน ไม่ว่าจะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ ในเมื่อกฎหมายมีเจตนารมณ์บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วหน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตามด้วย

อย่างไรก็ตาม ตนในฐานะนักกฎหมายในฐานะตัวแทนชาวมาบตาพุด ได้ฟ้องไปแล้วหนึ่งคดี เพื่อให้ศาลได้มีคำวินิจฉัย ว่า สิ่งที่หน่วยงานรัฐกำลังอนุญาตขัดหรือแย้งกับ ม. 67 หรือไม่ และเมื่อสองวันที่ผ่านมา อธิบดีกรมโรงงานบอก ว่า มีการอนุมัติตั้งโรงงานอีก 4 แห่ง ตนก็ได้ฟ้องไปอีกหนึ่งคดี เพื่อขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว เพราะหากได้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบการจะสามารถจะสามารถเอาใบอนุญาตไปกู้เงินมาลงทุน ดังนั้นถ้าหากศาลสั่งให้ปิดโรงงานเพราะไม่ทำตามขั้นตอน ผู้ประกอบการย่อมเสียหาย และเมื่อเสียหายเขาย่อมต้องฟ้องหน่วยงานที่อนุญาต หากรัฐแพ้คดีต้องจ่ายเงินให้ผู้ประกอบการ ตนอยากถามว่า เงินที่รัฐจะต้องจ่ายเอามาจากไหน ถ้าไม่ใช่จากภาษีประชาชน ดังนั้นทำไมไม่ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม โดยการจัดการให้เป็นไปตามขบวนการ

“ในฐานะที่ตนเป็นกรรมการสิ่งแวดล้อมของสภาทนายความ มาเกือบ 20 ปี พบเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะมาจากสาเหตุอะไรก็แล้วแต่ สามารถร้องเรียนไปที่สภาทนายความ หรือร้องเรียนมาสมาคมต่อต้านสิ่งแวดล้อม หากหาที่อยู่ไม่ได้ไปค้นดูในเว็บไซน์ http://www.google.co.th ซึ่งจะมีองค์กรพร้อมให้การปรึกษาฟรี โดยหลายๆคดีไม่ว่าจะเป็น แม่เมาะ มาบตาพุด ป่าผลุแม่ลำพึง เคยคัดค้านประสบความสำเร็จมาแล้ว” นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายสุรชัย กล่าวว่า หลังจากศาลประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตุควบคุมมลพิษ รัฐบาลได้ประกาศลงในราชกฤษจานุเบกษา วันที่ 30 เมษายน มีผลบังคับใช้แล้ว และอยู่ในช่วงได้ดำเนินการ ซึ่งเทศบาลกับผู้ว่าต้องจัดทำแผนขจัดมลพิษ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน จากนั้นเทศบาลจะต้องออกไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในแหล่งกำเนิดมลพิษ อย่างไรก็ตามตอนนี้แผนฉบับท้องถิ่นเสร็จแล้ว กำลังเข้าสู่การพิจารณาระดับจังหวัด

ทั้งนี้การเข้ามีส่วนร่วมของประชาชน ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม กำหนดว่า ท้องที่ใดที่ประกาศให้เป็นเขตุควบคุมมลพิษแล้ว ท้องถิ่นต้องจัดทำแผนลดมลพิษ โดยต้องฟังประชาชน หากมองสิทธิในแง่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 66 และมาตรา 67 กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิที่จะรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติอย่างยั่งยืนภายใต้สุขภาพอนามัยที่ดี ตรงนี้เป็นสิทธิที่บัญญัติเพิ่มตามรัฐธรรมนูญ 2550 นอกจากจะระบุเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้วยังให้สิทธิประชาชนที่จะใช้ชีวิตอยู่ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ จึงไม่จำเป็นต้องไปทนกับอากาศเสียอีกต่อไป ดังนั้นเมื่อประชาชนถูกละเมิด ก็มีสิทธิต่อต้านตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 โดยที่รัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริม และให้ความคุ้มครองด้วย

นายสุรชัย กล่าวว่าการบังคับใช้กฎหมายยังมีความหย่อนยาน ไม่มีหน่วยงายเข้าไปตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมาย ปกติการขออนุญาตก่อตั้งโรงงาน จะต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือEIA แต่เมื่อผู้ประกอบการทำ EIA ผ่านแล้วจนได้รับใบอนุญาต ก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปตรวจสอบควบคุมให้เหมือนตอนทำ EIA ทุกวันนี้ต้องให้ประชาชนร้องเรียนก่อน ถึงจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาปฏิรูประบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ให้มีหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ

“รัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่หลายคนบอกว่าต้องมีบทเฉพาะการ อยู่ในมาตรา 303 ที่บอกว่ารัฐต้องไปออกกฎหมายมาประกอบภายในหนึ่งปี ตรงนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 303 เป็นการระบุให้เขียนรายละเอียดเพิ่มเติมส่งเสริมการเข้าถึง มาตรา 67 อย่างไรก็ตามหากไม่มีการเขียนเพิ่มเติม มาตรา 67 ก็ยังมีผลบังคับใช้ได้อยู่ในตัวของมันเอง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องให้กฤษฎีกาตีความว่ามาตรา 67 มีผลใช้บังคับแล้วหรือยัง”นายสุรชัย กล่าว

นายสุรชัย กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ที่บอก ว่า โครงการอะไรก็แล้วแต่ถ้าอาจก่อให้เกิด จะสังเกตเห็นกฎหมายใช้คำว่า อาจ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ผลเกิดก่อน โครงการนั้นต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดหลักการเรียนการสอนด้านสิงแวดล้อมทำความเห็นมาประกอบ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีคำว่าทั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้มีผลบังคับใช้ทันที ไม่ต้องการให้มีกฎหมายลูก

“การพัฒนาอุตสาหกรรม การพัฒนาเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจมันต้องมี แต่อย่าไปเน้น เพราะแม้ว่าอุตสาหกรรมจะเติบโต เศรษฐกิจจะดี จีดีพีจะสูง มันก็ไม่มีประโยชน์ หากสุขภาพของประชาชนตกต่ำ” นายสุรชัย กล่าว

นายสุทธิ กล่าวว่ากรณีมาบตาพุดสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ตนได้รับหนังสือจากเครือข่ายภาคตะวันออก ในการตีความมาตรา 67 เรียนว่า เบื้องต้นเราได้ศึกษารายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการตรวจทานอีกครั้ง สัปดาห์หน้าก็สามารถยื่นต่อนายกฯได้เลย เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนการ ส่วนการจัดทำผังเมือง ม. 85 ไม่ต้องการเห็นปัญหาเหมือน ม.67 เหตุผลที่ต้องการให้จัดทำผังเมือง ต้องการให้มีการโซนนิ่งว่าต้องการให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมตรงไหน เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐโดยตรงที่ต้องเข้าไปดูแล

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า เขตุควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด เป็นพื้นที่แรกที่มีการประกาศโดยประชาชนเรียกร้องให้รัฐประกาศด้วยการฟ้องศาล จึงทำให้ประชาชนตื่นตัวอย่างมาก ส่งผลให้ชาวบ้านเข้าไปใช้สิทธิ์โดยเข้าไปร่วมเป็นคณะอนุกรรมการร่วมกับทางเทศบาล เพื่อพูดคุยหาเหตุผล จึงออกมา 7 มาตรการ เช่นมาตรการดูแลน้ำเสียง อากาศ ขยะ และสุขภาพ ดังนั้นสิทธิของประชาชนจึงเริ่มตั้งแต่การจัดทำแผน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชาชนร่วมคิดตั้งแต่ทีแรก แต่ที่อื่นรัฐประกาศ ทำให้ประชาชนไม่ทราบ จึงทำให้แผนการควบคุมมลพิษไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเสียดาย ที่ล่าสุด หลังแผนผ่านกระบวนการแล้ว ทางกลุ่มอุตสาหกรรมออกมาโจมตีว่าแผนนี้อ่อนไป ซึ่งตนก็ยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่าอ่อนไปคืออะไร ทั้งๆที่แผนการมีการส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงในการตรวจวัด โดยจัดทำอุปกรณ์อย่างง่ายให้ประชาชนได้เก็บสภาพอากาศทันที ที่ส่งผลกระทบ เพราะหากรอให้กรมควบคุมมลพิษมาตรวจ กว่าเจ้าหน้าที่จะเดินทางมาถึงก็ไม่ทันการแล้ว อีกอย่างการจัดทำระบบบัญชีระบายมลพิษ ว่า โรงงานนี้มีปริมาณมลพิษเท่าใด จะรั่วออกมาเท่าไร ประชาชนจะได้ระมัดระวัง เตรียมตัวรับมือได้ถูก หากเกิดการรั่วไหลของสารพิษ

“ความเห็นของกฤษฎีกาไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่ใช่ข้อยุติ ทุกวันนี้มีการตีความผิดจากเจตนารมณ์ที่กฤษฎีกาตีความ เพราะต้องเอา พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการฟังความคิดเห็นของประชาชน ทั้งสองฉบับรวมกันบังคับใช้ และต้องทำให้ครบถ้วนก่อนจึงจะออกใบอนุญาตได้” นายสุทธิ กล่าว

นายสุทธิ กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัย ในมาตรา67 วรรคสอง ว่า กรณีที่มีการดำเนินโครงการ ที่ต้องทำหรือไม่ต้องทำการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม หากปรากฏว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน ประชาชนสามารถฟ้องศาลให้จัดทำการประเมินคุณภาพ ฟังความคิดเห็นประชาชน เมื่อคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ ต้องผูกพันทุกหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นหน่วยงานอนุญาต แน่ใจได้อย่างไร ว่า ความเห็นของกฤษฎีกา หลังใช้ดุลพินิจแล้วให้ออกใบอนุญาตได้ การกระทำตรงนี้เป็นการท้าทายศาลรัฐธรรมนูญ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
นายสุทธิ อัชฌาศัย
นายศรีสุวรรณ จรรยา
กำลังโหลดความคิดเห็น