xs
xsm
sm
md
lg

ราคาอ้อยปี’52/53แตะพันบ./ตันแน่ชี้อ้อยยังไม่พอตั้งรง.ใหม่เจ๊งกันหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ชาวไร่อ้อยมีเฮราคาอ้อยขั้นต้นปี 52/53 เห็นทิศทางชัดเจนแตะระดับพันบาทต่อตันแต่นอนแล้ว หลังราคาโลกแตะ 23 เซนต์ต่อปอนด์สูงสุดรอบ 28 ปี สอน.ยันหากตลาดโลกพุ่งต่ออีกจะไม่มีปัญหาซ้ำรอยเดิมน้ำตาลขาดตลาดแน่มีมาตรการคุมไว้หมดแล้ว ด้านโรงงานโวยรัฐมั่วเปิดเสรีตั้งรง.ใหม่อ้อยที่ปลูกอยู่ยังไม่พอผลิต

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(กอน.) เปิดเผยว่า ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2552/53 จะไม่ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อตันเนื่องจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายที่บริหารโดยบริษัทอ้อยและน้ำตาลทราย(อนท.)ได้ขายออกไปแล้ว 70% ทำราคาได้เฉลี่ย 18.60 เซนต์ต่อปอนด์ ที่เหลือ 30% คาดว่าจะทำราคาได้ไม่ต่ำกว่า 20 เซนต์ต่อปอนด์ส่งผลให้ราคาเฉลี่ยจะอยู่ราว 19เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ค่าเงินบาทอยู่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งถือเป็นระดับที่อ่อนค่าลงมาเล็กน้อยกว่าที่คาดไว้จะเป็นผลดีต่อการคำนวณราคาอ้อยเพิ่มอีก

“ สาเหตุมาจากราคาตลาดโลกปีนี้ดีสุดรอบ 28 ปีโดยล่าสุดราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดโลกส่งมอบล่วงหน้ามี.ค. 53 อยู่ที่ 23 เซนต์ต่อปอนด์ น้ำตาลทรายขาว 533 เหรียญต่อตันเนื่องจากอินเดีย จีน นำเข้าเพิ่มเพราะผลผลิตตกต่ำจากภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง ขณะที่บราซิลนำไปผลิตเอทานอลแทนเพราะน้ำมันแพงส่งผลให้คิดเป็นราคาน้ำตาลทรายที่รวมค่าขนส่งและการบริหารแล้วอยู่ระดับ 19 บาทต่อกิโลกรัมใกล้เคียงกับราคาขายในประเทศ”แหล่งข่าวกล่าว

นายบุญถิ่น โคตรศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารการผลิต การจำหน่าย และการขนย้ายน้ำตาล สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.)กล่าวว่า แม้ว่าราคาตลาดโลกยังขยับตัวสูงขึ้นมากแต่ใกล้เคียงกับราคาในประเทศและหากราคาโลกจะปรับตัวสูงกว่าจะไม่เกิดปัญหาน้ำตาลทรายขาดตลาดเช่น 2-3 ปีที่ผ่านมาแน่เพราะได้มีมาตรการดูแลแล้วตั้งแต่คุมน้ำตาลหน้าโรงงานการปล่อยน้ำตาลสัปดาห์ไม่เกิน 3 แสนกระสอบ ประกอบกับน้ำตาลในประเทศเพื่อการบริโภค(โควตาก.)ที่กันไว้ 19 ล้านกระสอบก็เพียงพอต่อการบริโภคเพราะยังคงมีน้ำตาลค้างกระดานจากปีที่แล้วอีก 8 แสนกระสอบ

นายวิบูลย์ ผานิตวงศ์ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าผลผลิตอ้อยของไทยสูงสุดก็ไม่เคยเกิน 70 ล้านตันต่อปีโดยปีที่แล้วผลิตได้เพียง 67 ล้านตันเท่านั้นเมื่อเทียบกับโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่ถึง 47 แห่งที่สามารถรองรับอ้อยรวมกันได้ถึง 100 ล้านตันทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยเทียบกับต่างประเทศยังค่อนข้างสูงนโยบายการกำหนดระยะที่ตั้งโรงงานเพื่อไม่ให้เกิดการแย่งอ้อยที่ผ่านมาถือเป็นนโยบายที่ดีแล้วดังนั้นการที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายเปิดเสรีตั้งโรงงานใหม่จะยิ่งมีผลให้เกิดการแย่งอ้อยกันเพิ่มขึ้นในที่สุดจะเจ๊งกันทั้งระบบ

“การขยายกำลังผลิตเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรก็พอรับได้แต่ตั้งโรงงานใหม่แบบเสรี ย้ายแบบเสรีรับไม่ได้จะเจ๊งกันทั้งระบบสถาบันการเงินจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นที่ผ่านมาจึงต้องมากำหนดระยะห่างของโรงงานไว้กรอบเดิมก็ดีอยู่แล้ว ราคาตลาดโลกบอกเลยว่าใช่ว่าจะดีทุกปีที่ผ่านมาก็เป็นปัญหาผมมองว่าราคาจะดีแค่ปีเดียวหลังจากนั้นอินเดีย จีน ทุกส่วนก็จะหันมาปลูกเพิ่มแต่ของไทยนั้นโรงงานส่งเสริมการปลูกอยู่แล้วแต่ก็ต้องยอมรับกันว่าพื้นที่มีจำกัด”นายวิบูลย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น