xs
xsm
sm
md
lg

มติ กก.วัคซีนชง ครม.ตั้ง รง.วัคซีน นำร่องไข้สมองอักเสบ-ไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
มติคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ชง ครม.ตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ดูแลพัฒนาวัคซีนพร้อมต่อยอดงานวิจัย เห็นชอบตั้งโรงงานวัคซีนนำร่องไข้สมองอักเสบ ไข้เลือดออก คาดใช้งบสร้างโรงงานแห่งละ 100 ล้านบาท หนุนวิจัยพัฒนาวัคซีนวัณโรคชนิดใหม่ และวัคซีนรวมคอตีบไอกรน บาดทะยัก และดับอักเสบบี ด้าน“มาร์ค” ดีใจตัวเลขผู้ติดเชื้อ-ตาย ไข้หวัด 2009 ลด เตรียมเฝ้าระวังแพร่เชื้อรอบ 2  ยัน ต.ค.นี้แจกวัคซีน ปชช.ได้ สั่ง “สสส.” รณรงค์เข้ม กลัวด้านบริหารจัดการข่าว เหตุกระทบต่อเศรษฐกิจ

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เสนอให้มีการจัดตั้ง สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์การอิสระ ที่เป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเรื่องวัคซีนโดยตรง แต่อยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยจะต้องเร่งออกพ.ร.บ.จัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. ... เสนอให้ ครม.พิจารณา เพื่อขับเคลื่อนนโยบายวัคซีน และการบริการงานต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น เนื่องจากในปัจจุบันการศึกษา วิจัยวัคซีนต่างๆ หน่วยงาน และมหาวิทยาลัย มีศักยภาพในการดำเนินการอยู่แล้ว แต่เป็นการงานแยกส่วนและไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ แต่หากตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้น และมีความก้าวหน้าในสายงานด้วย

“เรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดให้ดำเนินการ เนื่องจากขณะนี้มีโรคหลายโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนไม่ใช่รอให้ป่วยแล้วรักษา ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่า” นพ.มล.สมชาย กล่าว

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างโรงงานนำร่องการผลิตวัคซีนเพื่อการวิจัยทดสอบทางคลินิก โรคไข้สมองอักเสบ และวัคซีนโรคไข้เลือดออก ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยอยู่แล้ว และมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยมหาวิทยาลัยมหิดลได้ทดลองและขณะนี้อยู่ในการทดลองระยะที่ 3 คือ ทดลองวัคซีนในลิงแล้ว ซึ่งหากการวิจัยวัคซีนประสบผลสำเร็จ จะมีการพัฒนาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรมโดยต้องผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) จากองค์การอนามัยโลก เพื่อผลิตวัคซีนเพื่อให้คนไทย และจำหน่ายต่างประเทศ

นพ.จรุง กล่าวต่อว่า ส่วนงบประมาณจะต้องขอสนับสนุนจากรัฐบาลใช้งบในส่วนโครงการคนไทยเข้มแข็ง แต่ยังไม่มีการคำนวณตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะเสนอขอจำนวนเท่าใด ต้องหารืออีกครั้ง แต่ตามปกติการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ โรคไข้สมองอักเสบ จะใช้งบประมาณ ราว 20 ล้านบาท ส่วนโรงงานต้นแบบ โรคไข้เลือดออก ใช้งบประมาณ ราว 80 ล้านบาท ซึ่งสามารถรวมเป็น 1 โรงงาน แต่ในที่ประชุมมีการเสนอให้มีโรงงานผลิตวัคซีนต้นแบบ อย่างน้อย 3 แห่ง คือ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สธ.ที่มหาวิทยาลัยมหิดล และที่องค์การเภสัชกรรม เพราะทั้ง 3 หน่วยงานมีการวิจัยพัฒนาวัควีนอยู่แล้ว มีนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญการผลิตวัคซีน แต่ที่ผ่านมาไม่มีงบประมาณสนับสนุนในการศึกษาต่อยอดผลิตวัคซีนเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งอาจต้องใช้งบประมาณแห่งละ 100 ล้านบาท

“สำหรับโรงงานต้นแบบนี้ จะใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยง ซึ่งต่างจากโรงงานต้นแบบ ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากการฝักเชื้อในไข่ไก่ แต่ในอนาคต ประเทศไทยจะศึกษาพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จากการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงด้วย ซึ่งมีข้อดี คือ สามารถผลิตวัคซีนได้ในปริมาณที่มากๆ อย่างไรก็ตาม ทั่วโลกยังไม่มีประเทศใดผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่จากการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงได้” นพ.จรุง กล่าว

นพ.จรุง กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติให้สนับสนุนการศึกษาพัฒนาวัคซีนอีก 2 ชนิด คือ 1.โรควัณโรคชนิดใหม่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งวัณโรคปอด และวัณโรคแพร่กระจาย เช่น วัณโรคตับ วัณโรคเยื้อหุ้มสมอง เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีการเริ่มวิจัยแล้วแถบยุโรป และสหรัฐฯ อยู่ในการทดลองระยะที่ 2 ขณะที่วัคซีนป้องกันวัณโรคที่ใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนวัณโรคชนิดแพร่กระจายเท่านั้น และ 2.สนับสนุนให้ศึกษาพัฒนาวัคซีนรวมในเด็ก ประกอบด้วย โรคคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และตับอักเสบชนิดบี ซึ่งในประเทศไทยมีปริมาณการใช้วัคซีนชนิดนี้มากถึงปีละ 3 ล้านเข็ม รองรับเด็กไทย 8 แสนคน และไทยยังมีการขยายโครงการให้วัคซีนชนิดนี้ในเด็กต่างชาติด้วย

“หากสามารถผลิตวัคซีนใช้ได้เอง ไทยจะประหยัดงบประมาณในการสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 เพียง 2 ล้านโดส แต่ใช้งบประมาณสูงถึง 600 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การวิจัย การผลิตวัคซีน ต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะสำเร็จเห็นผล ไม่ใช่แค่ 1-2 ปี ก็สำเร็จ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งสนับสนุนต่อยอดงานวิจัยเดิมที่มีอยู่ทันที” นพ.จรุง กล่าว
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขาลงของการระบาดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า ยังไม่ชัดแต่มีโอกาส พยายามดูตัวเลขในภาพรวม ต้องดูตัวเลขภายใน 1-2 อาทิตย์ ว่าถึงจุดสูงสุดหรือยัง แต่เท่าที่ถาม นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข  เชื่อว่า น่าจะสู่จุดที่ลดลง ส่วนใหญ่จะดูอัตราเข้ารับบริการและอัตราการเสียชีวิตด้วย
 
ต่อข้อถามที่ว่า การลดลงจะมีปัญหาอื่นตามมาหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การลดลงไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะจบ ลดลงแปลว่าเราต้องเตรียมขั้นต่อไปในการเฝ้าระวังติดตามเรื่องการที่จะมีรอบสองหรือไม่ หรือปัญหาแทรกซ้อนตามธรรมชาติของโรคระบาด เมื่อถามว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอให้การผลิตวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การผลิตวัคซีนเรามีความพร้อมเพราะฉะนั้นในส่วนที่ซื้อจะสามารถแจกจ่ายประชาชนได้ในเดือนต.ค. นี้  โรงงงานนำร่องได้รับการรับรองแล้ว ตั้งใจว่าจะสามารถเดินหน้าได้  แม้ว่าจะมีความไม่มั่นใจในการผลิต ก็ต้องดำเนินการเดินหน้าให้ความมั่นใจว่าทุกอย่างเรียบร้อย
 
ส่วนกรณีการดื้อยานั้นนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การดื้อยาเท่าที่ผ่านมาในประเทศไทยพบบ้าง แต่ยังไม่ถือว่าผิดปกติแต่ไม่ถึงกับว่าไม่สามารถใช้ยาได้ในกรณีทั่วไป  มีพบบ้าง 1-2 คน แต่ต้องมีการศึกษา เมื่อถามว่า จะรอสัญญาณว่าจะมีการลดลงแน่แล้วจริงหรือไม่ ต้องทำอย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การทำงานก็ยังเหมือนเดิมการทำงานในเชิงรุกในการป้องกันโดยเฉพาะ สสส.จะมีการรณรงค์อย่างเข้มข้นมากขึ้น ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาลหากการจ่ายยาลงตัวแล้วก็น่าจะเบาลง และภาระหน่วยบริการต่างๆ จะลดลง แต่ที่น่าสะพรึงกลัว คือ การบริหารจัดการข่าว เพราะเป็นตัวที่กระทบต่อเศรษฐกิจ

 
กำลังโหลดความคิดเห็น