xs
xsm
sm
md
lg

อนุฯหวัดเผยคนไข้รามา แค่สงสัยดื้อยา ไม่ใช่รายแรก ชี้ “ทามิฟลู” ยังเอาอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โอเซลทามิเวียร์ หรือ ทามิฟลู (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
คณะอนุกรรมการ ชี้ ผู้ป่วยดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ ที่รพ.รามา แค่ต้องสงสัยดื้อยาเท่านั้น เหตุยังไม่ตรวจยืนยันผลดื้อยาจริงหรือไม่ เผยไทยมีแล็บที่ตรวจได้เพียง 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์ และ รพ.ศิริราช เท่านั้น แถมไม่ใช่รายแรกของประเทศ พบฮ่องกงติดเชื้อตามธรรมชาติก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ต้องตระหนกยาโอเซลทามิเวียร์ยังใช้ได้ผล

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 10 กรกฎาคม ที่กรมควบคุมโรค ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการ นานร่วม 4 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมพิจารณากรณีพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 มีเชื้อดื้อยารายแรกของประเทศไทย ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งจากข้อมูลที่โรงพยาบาลรามาฯ รายงานให้ทราบว่า

โรงพยาบาลได้เก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสของผู้ป่วยรายดังกล่าว เพื่อทดสอบการดื้อยาด้วยวิธีวิเคราะห์ตำแหน่งลำดับของสารพันธุกรรม ตรวจสอบว่ากรดอะมิโนของไวรัสต่อตัวอย่างไร ถ้าฮิสทิดีน (Histidine) ของกรมอมิโน เปลี่ยนเป็น ไธโรซีน (Tyrosion) ในตำแหน่งที่ 274 หมายถึงเชื้อไวรัสมักจะดื้อยาหรืออาจดื้อยาได้ ซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจสอบการดื้อยาวิธีนี้ได้เพียง 5 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามา และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร

เผยผลตรวจดื้อยาไม่ครบสูตร
ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า จากนั้นจะต้องนำเชื้อดังกล่าว มาตรวจสอบซ้ำด้วยวิธีดูคุณลักษณะของสารพันธุกรรม โดยทดสอบกับยาต้านไวรัสชนิดนั้นๆ โดยตรง ซึ่งต้องประสานกับบริษัทผู้ผลิตยาชนิดนั้น เพื่อให้จัดส่งยาต้านไวรัสชนิดบริสุทธิ์มาตรวจสอบเท่านั้น ซึ่งในประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการที่ทดสอบได้เพียง 2 แห่ง คือ กรมวิทยาศาสตร์ฯ และโรงพยาบาลศิริราช เท่านั้น ซึ่งต่อไปหากมีห้องปฏิบัติการใดตรวจพบเชื้อไวรัสดื้อยา จะต้องส่งตัวอย่างเชื้อมาให้ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์ และโรงพยาบาลศิริราช ทดสอบทันที

“แต่กรณีผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรามา ที่ทดสอบพบเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์นั้น ได้ตรวจสอบดูตำแหน่งสารพันธุกรรมเท่านั้น คือ กรมอมิโนเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง 274 จริง แต่ไม่ได้ทำการตรวจคุณลักษณะของสารพันธุกรรมซ้ำ เพราะตัวอย่างเชื้อไวรัสหมด และจากการซักประวัติ ทราบว่า ผู้ป่วยรายนี้ไม่เคยได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มาก่อนด้วย ดังนั้น จึงถือว่าเป็นเพียงผู้ป่วยต้องสงสัยพบเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ตามธรรมชาติ โดยไม่ได้รับยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์มาก่อนเท่านั้น” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการไม่จำเป็นต้องรายงานการพบเชื้อไวรัสดื้อยาดังกล่าวให้องค์การอนามัยโลกรับทราบ เพราะในที่ประชุมมีผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรมการอยู่แล้ว และล่าสุด ผู้ป่วยรายดังกล่าวรักษาหายเป็นปกติแล้ว และไม่มีการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นอีก

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า เชื้อไวรัสดื้อยา เกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ 1.เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่ผู้ป่วยไม่เคยทานยามาก่อน ซึ่งกรณีนี้นักวิจัยก็ยังหาสาเหตุไม่ได้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเมื่อปี 2551 ที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ตัวเก่า เกิดการดื้อยาขึ้นเองตามธรรมชาติ ทั้งที่ไม่ได้ทานยามาก่อน และ 2.เกิดจากผลกระทบจากการทานยา ซึ่งพบเห็นได้บ่อยในประเทศที่ใช้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จำนวนมาก

เสนอสำรองยาซานามิเวียร์เพื่อความมั่นคงหากโอเซลฯดื้อ
ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังเชื้อไวรัสดื้อยาโอเซลทามิเวียร์อยู่แล้ว และเป็นไปอย่างเข้มงวด คือ ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาฯ และโรงพยาบาลศิริราช ยกตัวอย่างเช่น กรมวิทยาศาสตร์ มีการสุ่มเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสจากผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต ทุกสัปดาห์ๆ ละ 10 ตัวอย่าง รวมเดือนละ 400 ตัวอย่างอยู่แล้ว และจากการตรวจสอบล่าสุด ทุกห้องปฏิบัติการยังไม่พบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์แต่อย่างใด

“ปัญหาเชื้อไวรัสการดื้อยา ถือเป็นเรื่องปกติเป็นธรรมชาติของไวรัสอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนกตกใจ เป็นสิ่งที่นักวิชาการคาดหวังว่าจะพบอยู่แล้ว เหมือนกับโรคเอดส์ ที่ช่วงแรกมียารักษาเพียง 1 ชนิด แต่ปัจจุบันมียารักษาหลายชนิด ก็เป็นเพราะเจอปัญหาเชื้อไวรัสดื้อยาเช่นกัน ซึ่งกรณีของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ไม่น่าวิตก เพราะยังมียาต้านไวรัสชื่อซานามีเวียร์ยังรักษาได้อยู่ แต่ สธ.ก็ไม่ประมาทต้องระมัดระวังการใช้ยาโอเซลทามิเวียร์ให้เข้มงวดขึ้น ใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น” ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าว
โอเซลทามิเวียร์ หรือ ทามิฟลู (ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต)
ไทยไม่ใช่รายแรกดื้อยาโอเซลฯตามธรรมชาติ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญ เฉพาะทางด้านไวรัส วิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีโรงพยาบาลรามาธิบดี พบผู้ดื้อยาโอเซลทามิเวียร์โดยธรรมชาติ ไม่ถือเป็นรายแรก เนื่องจากพบชาวฮ่องกงดื้อยาโอเซลทามิเวียร์โดยไม่มีประวัติการรับยาโอเซลทามิเวียร์มาก่อนหน้านี้ 1 ราย สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกขณะนี้ พบการดื้อยาโอเซลทามิเวียร์มากที่สุด คือ ญี่ปุ่น 3 ราย แคนาดา เดนมาร์ก และ ฮ่องกง แห่งละ 1 ราย รวมพบผู้ที่ดื้อยาเพียง 6 รายเท่านั้น และจากการติดตามอาการผู้ป่วยพบว่าไม่มีรายใดที่แพร่เชื้อโรคดื้อยาไปสู่ผู้อื่น ส่วนการตรวจเชื้อดื้อยาทางห้องปฏิบัติการจากจุฬาฯ จำนวน 200 ราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 50 ราย และโรงพยาบาลศิริราชก็ยังไม่พบการดื้อยาเช่นกัน

“จริงๆ แล้วเคสคนไทยรายนี้ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นผู้ดื้อยาโดยธรรมชาติ เพราะเป็นผลการตรวจขั้นต้นยังไม่มีการตรวจยืนยันผลที่ชัดเจน” ศ.นพ.ยง กล่าว

สปสช.ศึกษาตั้งกองทุนฉุกเฉินฯ เสนอบอร์ดครั้งหน้า

นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการใช้งบประมาณกว่า 450 ล้านบาท ตามมาตรา 69 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งเป็นงบที่เหลือจากการดำเนินเงานในส่วนของกลุ่มงานประกันสุขภาพ ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากการขายบัตรประกันสุขภาพ 500 บาทเดิม (บัตรสงเคราะห์สวัสดิการรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อย) ซึ่งตรงนี้เดิมมีการคิดกันว่า จะจัดเตรียมเป็นกองทุนสำหรับกรณีฉุกเฉินประมาณกว่า 100 ล้านบาท และสนับสนุนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสำหรับการติดตามนิเทศงาน และประเมินผลเรื่องการทำซีแอลยา การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพก็มีการอภิปราย โดยประเด็นสำคัญคือ ไม่แน่ใจว่าในทางกฎหมายจะสามารถใช้เงินจำนวนนี้ได้อย่างไร ซึ่งมีคณะกรรมการเสนอมว่า ต้องส่งคืนกระทรวงการคลัง ดังนั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไปศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจนสำหรับการใช้งบประมาณส่วนนี้ และเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯใหม่ในครั้งต่อไป

คลินิกร่วมจ่ายโอเซลทามิเวียร์เพิ่มจากเดิม 5-10%
นพ.ไพจิตร์ วราชิต
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ภายหลังจากการหารือร่วมกับผู้ตรวจราชการกระทรวงเพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในส่วนของคลินิกที่รับกระจายโอเซลทามิเวียร์ขณะนี้มีเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5-10% ของจำนวนคลินิกทั้งหมดในระดับภูมิภาค จากเดิมที่สมัครใจเข้าร่วมประมาณ 10% ทั้งนี้ไม่สามารถระบุจำนวนได้ชัดเจน เนื่องจากรายละเอียดยังไม่ครบถ้วน ส่วนเรื่องการดื้อยานั้นไม่ห่วง เนื่องจากมีแนวทางปฏิบัติ 8 เงื่อนไขที่ฝ่ายวิชาการได้เสนอแนะมาเพื่อเป็นแนวทางให้ปฏิบัติอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น