xs
xsm
sm
md
lg

อภ.สำรอง “ซานามิเวียร์” กันหวัด09 ดื้อ “ทามิฟลู” ขณะที่ยอดจ่ายยาต้านทะลุ 9 ล้านเม็ดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
อภ.ลงนามร่วมมือบริษัทยาเข้าถึงยาซานามิเวียร์สำรองกันโอเซลทามิเวียร์ดื้อ ป้องกันระบาดรอบสอง สั่งคณะอนุกรรมการพิจารณาวางแผนกระจายยาให้ รพ.ศูนย์ พร้อมเผยกระจายโอเซลทามิเวียร์ไปแล้ว 9 ล้านเม็ดทั่วประเทศ ขณะที่ สธ.แจกเจล-หน้ากาก ให้ ขสมก.ประกาศพื้นที่ปลอดหวัด ส่วนยอดผู้ตายหวัดเพิ่ม 16 ราย 11 รายมีโรคประจำตัว

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 11 ส.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือการเข้าถึงยาซานามิเวียร์ พร้อมสำรองใช้ภายในประเทศ ระหว่าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กับ นายเนมี ลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (จีเอสเค)

นายวิทยา กล่าวว่า โครงการความร่วมมือการเพิ่มการเข้าถึงยาชื่อสามัญ ยาต้านไวรัสซานามิเวียร์ เพื่อลดผลกระทบของผู้ป่วยต่อการเสียชีวิตจากการะบาดละลอกใหม่ของไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1เอ็น1 และสร้างความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นยาที่ได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกให้สำรองใช้กรณีเชื้อดื้อยาโอเซลทามิเวียร์ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการกระจายยาชนิดนี้ให้โรงพยาบาลรัฐต่างๆ เพราะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ โดยจะให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ เป็นผู้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการกระจายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐ

**ยอดกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ 9 ล้านเม็ด

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า อภ.ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้แทนในการจำหน่ายยาซานามิเวียร์ให้เฉพาะโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศแต่เพียงผู้เดียว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคมนี้ เป็นต้นไป เนื่องจากยาซานามิเวียร์ เป็นยาควบคุมพิเศษเช่นเดียวกับยาโอเซลทามิเวียร์ ส่วนปริมาณการสั่งซื้อยานั้น ต้องมีการพิจารณาอีกครั้ง ว่า อภ.จะสั่งซื้อในปริมาณเท่าใด แต่เบื้องต้นขณะนี้ประเทศไทยมียาซานามิเวียร์สำรองอยู่แล้ว 20,000 ชุด ซึ่งสำรองไว้ที่กรมควบคุมโรค โดยมีการเบิกจ่ายยาไปใช้แล้วประมาณ 5 ชุดรักษา จากโรงพยาบาลศิริราช และจุฬาลงกรณ์ โดยคาดว่าจะต้องกระจายยาไปยังโรงพยาบาลศูนย์แห่งละประมาณ 3-5 ชุด

“สำหรับยอดการกระจายยาโอเซลทามิเวียร์ ขณะนี้ได้กระจายไปยังสถานพยาบาลแล้ว 9 ล้านเม็ด ซึ่งขณะนี้สต๊อกยามีเหลืออยู่ที่ อภ.6 ล้านเม็ด และกรมควบคุมโรค 6 แสน มีวัตถุดิบพร้อมผลิต 30 ล้านเม็ด ขณะนี้มีรายงานการใช้ยาจากโรงพยาบาลต่างๆ กลับมาจำนวน 600 แห่ง จาก 1,021 แห่ง ซึ่งกำลังเร่งรวบรวมปริมาณการใช้จริงเพื่อให้ทราบจำนวนการใช้แบบขรายวัน”นพ.วิทิต กล่าว

**จีเอสเคพร้อมหนุนยาต้านซานามิเวียร์ให้ไทยเต็มที่

ด้านนายเนมี ลิม กรรมการผู้จัดการบริษัท จีเอสเค กล่าวว่า สำหรับยาซานามิเวียร์ จำนวน 1 ชุดรักษา (กล่อง) ราคา 450 บาท ประกอบด้วย แผ่นยา 5 แผ่น แต่ละแผงมีช่องบรรจุผงยาแผ่นละ 4 ช่อง ขนาดช่องละ 5 มิลลิกรัม พร้อมเครื่องสูดยา โดยผู้ป่วยต้องสูดยาครั้งละ 2 ช่อง วันละ 2 ครั้ง เช้า/เย็น ติดต่อกัน 5 วัน และควรใช้ภายใน 48 ชั่วโมง โดยข้อบ่งชี้ในการใช้ คือ ไม่ใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และผู้ที่แพ้สารประกอบของยา รวมถึงแลคโตส ซึ่งประกอบด้วยโปรตีนจากนม ส่วนอาการข้างเคียง อาจทำให้เกิดอาการหดเกร็งของหลอดลมทำให้เกิดอาการหอบ หืด และหากเกิดอาการหลอดลมหดเกร็งหรือการทำงานที่เกี่ยวกับการหายใจลดลง ในผู้ที่ไม่มีประวัติเคยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมาก่อน ควรหยุดการใช้ยาและปรึกษาแพทย์ ส่วนผู้ป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจอยู่เดิม ควรได้รับยาขยายหลอดลม ชนิดออกฤทธิ์เร็วร่วมด้วย ทำให้การใช้การต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ หากมีประวัติการแพ้ยาควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง

นายเนมี กล่าวต่อว่า บริษัท จีเอสเค พร้อมสนับสนุนการสำรองยาซานามิเวียร์ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ซึ่งการลงนามในสัญญากับ อภ.เพื่อให้แผนการสำรองยาของประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการผลิตและสำรองยาของบริษัท จีเอสเค ซึ่งหลังจากมีการสั่งซื้อยา จีเอสเค จะสามารถจัดส่งยาได้ภายในเวลา 1-3 เดือน โดยขณะนี้บริษัทเพิ่มกำลังการผลิตยาซานามิเวียร์อย่างเต็มที่ เพราะไม่สามารถว่าในอนาคตจะเกิดการระบาดระลอก 2 อีกหรือไม่ และสถานการณ์การระบาดจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่

“นอกจาก อภ.เป็นผู้กระจายยาให้กับโรงพยาบาลรัฐแล้ว จีเอสเค ยังได้จำหน่ายยาซานามิเวียร์ให้กับโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยบ้างแล้วด้วย ประมาณ 2,000 ชุดรักษา หรือประมาณร้อยละ 10 ของปริมาณการสำรองยาชนิดนี้ของกรมควบคุมโรค และในอนาคตจีเอสเค จะมีการเสนอการจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ต่อประเทศในเร็วนี้ด้วย โดยวัคซีนของบริษัท เป็นชนิดฉีดที่ต้นแขน” นายเนมี กล่าว

**สธ.แจกเจล-หน้ากาก ให้ ขสมก.ประกาศพื้นที่ปลอดหวัด

เมื่อเวลา 14.00 น. นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ได้มอบหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือให้กับ นายโอภาส เพชรมุนี ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ นายวิทยา กล่าวว่า สธ.ร่วมมือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วางมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยการสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมโครงการกับ สสส.ทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟฯ การบินไทย รณรงค์ให้พนักงานสวมใส่หน้ากากอนามัยและล้างมือเป็นประจำขณะปฏิบัติงานตลอดเวลา

“ได้ขอความร่วมมือรถโดยสารปรับอากาศ จะถอดผ้าม่านหน้าต่างออก เพื่อให้แสงแดดส่องถึงฆ่าเชื้อโรคไปในตัวพิจารณาจุดติดตั้งเจลล้างมือตามอู่รถโดยสาร ป้ายรถโดยสาร และบนรถโดยสาร”นายวิทยา กล่าว

นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า นอกจากนี้ อภ.ยังได้บริจาคหน้ากากอนามัยชนิดผ้า 5,000 ชุด และเจลล้างมือ ขนาด 400 กรัม จำนวน 5,000 กระปุกให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และเพื่อร่วมรณรงค์ให้กับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้โดยสารระบบขนส่งมวลชนรู้จักวิธีป้องกันตนเองด้วยการล้างมือเป็นประจำ

**ยอดผู้ตายหวัดเพิ่ม 16 ราย 11 รายมีโรคประจำตัว

เมื่อเวลา 15.00 น. นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 มีผู้ป่วยเสียชีวิตในรอบสัปดาห์ จำนวน 16 ราย เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งมีผู้เสียชีวิต 16 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 97 ราย โดย 11 รายมีโรคประจำตัว คือ เบาหวาน หัวใจหลอดเลือด โรคไต โรคปอด และตั้งครรภ์ 1 ราย ค่าเฉลี่ยการได้รับยาเร็วขึ้นเป็น 5-6 วัน จากเดิม 7 วัน โดยร้อยละ 50 ของผู้เสียชีวิตเริ่มป่วยก่อนที่จะมีนโยบายกระจายยาต้านสู่คลินิก อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่น 3-4 สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้เริ่มชะลอตัวและจะค่อยๆลดลง ซึ่งต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้

**แนวโน้มผู้ป่วย 6-20 ปี กทม.-ปริมณฑล ลดลง

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มการระบาดในเขต กทม.และปริมลฑลขณะนี้ลดลง โดยพิจารณาจากปริมาณผู้ป่วยที่เข้าโรงพยาบาลที่ลดลงครึ่งหนึ่ง ส่วนในระดับภูมิภาคบางจังหวัดชะลอตัว บางจังหวัดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยอายุ 6-20 ปี มีการติดเชื้อน้อยลงสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการต่างๆ เช่น หยุดอยู่บ้านเมื่อป่วย เริ่มเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป ส่วนกลุ่มเกษตรกร มีแนวโน้มการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป แสดงให้เห็นว่า ต้องรีบป้องกันเชื้อในชุมชน โดยมีการเร่งให้อาสาสมัครเร่งคัดกรองผู้ป่วย เพื่อป้องกันการระบาดและแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งจะเข้าร่วมเครือข่ายด้านสุขภาพอื่นๆ หลังจากเข้าร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ไปแล้ว จะมีการเข้าร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพเป็นจำนวนมาก

นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้การกระจายยาต้านไวรัสลงคลินิกเอกชน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 15 โดยนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข ได้เร่งรัดผู้ตรวจ 18 เขต เร่งรัดดำเนินการให้ความเข้าใจแพทย์เจ้าของคลินิกแล้ว เชื่อว่า จะมีคลินิกเข้าร่วมโครงการกระจายยามากขึ้น ซึ่งจะเน้นคุณภาพของคลินิกให้เข้าตามข้อกำหนด 8 ข้อ โดยจะปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการวันที่ 17 ส.ค.นี้ จึงจะสามารถสรุปได้ว่ามีจำนวนคลินิกเข้าร่วมเท่าใด มาตรการลดการแพร่กระจาย อย่างไรก็ตาม คลินิกบางส่วนได้แสดงความจำนงเป็นเครือข่ายในการคัดกรองผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น