xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายต้านโลกร้อน ขู่นายกฯ ลักไก่เซ็นอุ้มนิคมมาบตาพุด ระวังคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมต้านโลกร้อน จี้นายกฯ- ขรก.ลักไก่เซ็นให้ใบอนุญาตโรงงานอุ้มนิคมมาบตาพุด คิดแต่หาเงินเข้ากระเป๋า ชี้ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ตามศาลสั่ง ระวังติดคุกก่อนเกษียณ

วันนี้ (23 ส.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยต่อกรณีความขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ว่า เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 3/2552 ลงวันที่ 18 มี.ค.52 ตามที่ศาลปกครองสูงสุดส่งคำโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มาตรา 46 วรรคหนึ่ง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 56 วรรคสอง และมาตรา 59 หรือไม่

แต่เนื่องจากปัจจุบันได้มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 แล้ว และมาตรา 56 วรรคสองมีหลักการอย่างเดียวกันกับบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ศาลจึงวินิจฉัยไปตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สรุปได้ว่า...“พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 มีเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมประชาชนและองค์กรเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมรวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อมิให้มีผลกระทบต่อการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับโดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัติการมาใช้บังคับก่อน การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 46 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 จึงต้องดำเนินการให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ด้วย

ดังนั้น ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการ หรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการ หรือกิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ดี หากปรากฏว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชนทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสาม

เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น จัดให้มีการศึกษาและประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง”

นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้นการที่ คณะกรรมการ กรอ. นายกรัฐมนตรีหรือรัฐบาล หน่วยงานอนุญาตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คิดจะลักไก่เซ็นต์ให้ใบอนุญาตโรงงานใดๆ ไปก่อน โดยไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อน โดยมีข้ออ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ขอให้ชั่งใจและทบทวนความคิดนี้ให้ดี หรือถ้าอยากจะติดคุกก่อนเกษียณก็ตามใจ อย่าหาว่าสมาคมไม่เตือน

รายงานข่าวแจ้งว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม สรุปบัญชีโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 เพื่อจัดทำใบอนุญาตการขอขยายกิจการหรือตั้งโรงงาน (ที่ได้ผ่านขั้นตอนของกฎหมายปัจจุบัน) ที่ยังคงค้างอยู่ให้กับนักลงทุนที่ได้รับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

“กระทรวงอุตสาหกรรม จะเร่งจัดทำบัญชีเพื่อทำการออกใบอนุญาต เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ในวันพุธที่ 26 ส.ค.นี้ โดยทางกระทรวง ระบุว่า ทำเสร็จแล้วเชื่อว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้สัปดาห์นี้”

ขณะที่ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยังเข้ายื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล และประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่คณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) มีมติให้สามารถออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยขอให้ทบทวนมติดังกล่าวและผลักดันให้รัฐบาลออกระเบียบให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 67
กำลังโหลดความคิดเห็น