xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องเพิกถอนEIA76รง.มาบตาพุดเครือปตท.เจอแจ๊กพ็อต8โครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง พร้อมใจร่วมกันฟ้อง 8 หน่วยงานรัฐต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอน EIA ที่ศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ รวม 76 โรงงาน เฉพาะเครือปตท. เจ้าเดียวนำโด่ง 8 โครงการ พิลึกอนุมัติ EIA สัปดาห์ละโครงการเอาเวลาไหนมาศึกษาเอกสารเป็นพันๆ หน้า

วานนี้ (19 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉาง จ.ระยอง จำนวนกว่า 40 คน ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.), รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม, รมว.กระทรวงพลังงาน, รมว.กระทรวงคมนาคม, รมว.กระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต่อศาลปกครองกลาง

ในความผิดฐานที่เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร จากการที่ร่วมกันเห็นชอบหรืออนุญาตให้เจ้าของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ไปดำเนินการก่อสร้างหรือขยายโรงงานในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียง ที่ผิดไปจากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 หรือกระทำการโดยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ 3 ประการ คือ

1)ไม่ทำการศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ 2)ไม่จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และ 3)ไม่ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ดังกล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า นับตังแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2550 และกฎหมายสุขภาพแห่งชาติประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2550 เป็นต้นมา หน่วยงานทางปกครองของรัฐทั้ง 8 หน่วยงานข้างต้นกลับเพิกเฉยหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการหรือสั่งการใด ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่ปล่อยให้เอกชนสามารถยื่นเรื่องขออนุญาตก่อสร้างและขยายกิจการโรงงานหรือโครงการในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉางและพื้นที่ใกล้เคียงได้โดยง่าย ทั้ง ๆ ที่ปัญหามลพิษในพื้นที่ดังกล่าวมีปริมาณมากเกินกว่าศักยภาพของพื้นที่จะรองรับได้อีกแล้ว (Over Carrying Capacity)

อีกทั้งไม่เคยคำนึงเลยว่าศาลปกครองระยองได้สั่งให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษไปแล้ว และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษามาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2552 เป็นต้นมา แต่โครงการต่าง ๆ ยังคงเดินหน้าก่อสร้าง ขยายกิจการ เพิ่มปริมาณการผลิต จนก่อให้เกิดปัญหามลพิษแพร่กระจายเพิ่มพูนมากขึ้นไปทั่ว ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง เสียงดัง น้ำเน่าเสีย ขยะพิษ ขยะชุมชนทิ้งกันเกลื่อนกลาด ในพื้นที่พักอาศัยชั่วคราวของคนงานก่อสร้าง รวมทั้งเกิดการทะเลาะเบาะแว้งของคนงานต่างถิ่นและต่างด้าว เกิดอาชญากรรมต่าง ๆ ตามมามากมาย ไร้การควบคุมดูแล เป็นต้น

“ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงไม่อาจนิ่งทนต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเคยร้องขอให้หน่วยงานต่าง ๆ ยุติการอนุญาตหรือขยายโรงงานต่าง ๆ ในพื้นที่แล้ว แต่กลับเพิกเฉย ชาวบ้านจึงต้องมาขอพึ่งอำนาจศาลในการยุติปัญหาดังกล่าว” นายศรีสุวรรณ กล่าว

พิลึกอนุมัติอีไอเอสัปดาห์ละโครงการ

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้เป็นต้นมาถึงปัจจุบันเพียง 1 ปี 9 เดือนเศษแต่ สผ. โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ((Environmental Impact Assessment - EIA) ที่เป็นโครงการประเภทรุนแรงในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียงไปแล้วกว่า 76 โรงงาน เฉลี่ยเห็นชอบอาทิตย์ละ 1 โครงการฯ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผู้ชำนาญการที่ทำหน้าที่พิจารณา จะมีเวลาอ่านและทำความเข้าใจเอกสารโครงการละกว่า 1,000 หน้ากระดาษได้โดยสะดวกไม่ติดขัดปัญหาอะไร ทั้งนี้ไม่รวมรายงาน EIA ประเภทอื่นอีกกว่า 500 โครงการทั่วประเทศที่เห็นชอบไปแล้วอีกเช่นกันในช่วงเวลาดังกล่าว

“การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียได้เข้ามามีส่วนร่วมและให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พิจารณาช่วยให้ความเห็นประกอบก่อนการดำเนินการ น่าที่จะช่วยให้ สผ., คชก. ได้พิจารณา EIA ต่าง ๆ ได้ง่ายและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น แต่ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม ภาครัฐจึงหวงอำนาจ ไม่พยายามที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทั้งปวง หรือมีอะไรที่ซ่อนเร้น บิดบัง อำพราง หรือมีผลประโยชน์ได้เสียอะไรแฝงอยู่ จึงเพิกเฉยหรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่ จนชาวบ้านต้องออกมาฟ้องร้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย” นายศรีสุวรรณ กล่าว

ขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราว

ในการฟ้องคดีครั้งนี้ ผู้ฟ้อง ยังได้ขออำนาจศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา โดยมีคำขอต่อศาล ดังนี้ 1) ขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 หรือที่ 2 เพิกถอนรายงานการ
ประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง จำนวน 76 โครงการ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 50 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาทั้งหมด

และขอให้ศาลสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

2) ขอให้ศาลพิพากษาหรือสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 เพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่อยู่ในพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

และขอให้ระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ ในปัจจุบันสำหรับโครงการหรือกิจกรรมหรือกิจการที่ผู้ขออนุญาต หรือเจ้าของโครงการหรือกิจกรรมหรือกิจการ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และ/หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และ/หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 แล้วแต่กรณีได้อนุญาตไปแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 50 ๒๔ เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษานั้นได้ยุติลงก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อให้กลับไปทำการศึกษาและการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ครบถ้วนก่อนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 67 วรรคสอง และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

3) ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ หรือการอื่นใดตามขั้นตอนทางกฎหมายภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม หรือบริษัทที่ปรึกษาที่รับทำรายงานการประเมินหรือวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 67 และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยถูกต้อง ดังนี้

หนึ่ง จัดให้มีการศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน ที่โครงการหรือกิจกรรมนั้นไปก่อตั้งหรือดำเนินการในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรอบด้าน

สอง จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน อย่างทั่วถึงและรอบด้าน

สาม จัดให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ ซึ่งรายละเอียดปรากฏตามคำฟ้อง และคำขอท้ายฟ้องแล้ว

สำหรับโครงการอยู่อยู่ในบัญชีรายชื่อ 76 โครงการที่ผู้ฟ้องคดีขอให้เพิกถอน EIA เช่น โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ตั้งที่ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอทิลีน 50,000 ตัน/ปี ตั้งที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน), โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอทิลีน (การติดตั้งหน่วยผลิต Compound Production Unit) ตั้งที่นิคมฯ มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัทปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน),

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโรงงานอะโรเมติกส์ หน่วยที่ 1 ระยะที่ 3 ตั้งอยู่ที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน), โครงการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มประสิทธิภาพไบโอดีเซล ตั้งอยู่ที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัทปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน), โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ ตั้งที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัทปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

โครงการนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) ส่วนขยาย ตั้งที่ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของ กนอ. ร่วมกับบริษัทอิสเทิร์น อินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด, โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ตั้งที่นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ของบริษัทโกลว์ เหมราช พลังงาน จำกัด, โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทมาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด ของบริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
กำลังโหลดความคิดเห็น