xs
xsm
sm
md
lg

ตอบคำถามข้อห่วงกังวล เขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

.
เดชรัต สุขกำเนิด คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
Email: suphakit.sharing@gmail.com

หลังจากศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดและตำบลบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 หน่วยงานของรัฐและธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แสดงข้อห่วงกังวลหลายประการ บทความนี้จึงตอบคำถามเหล่านี้ ซึ่งได้แก่

o ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดมีแนวโน้มดีขึ้นแล้ว เนื่องจากแผนลดและขจัดมลพิษที่จัดทำในปี 2550 มีความคืบหน้า จึงไม่จำเป็นต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษ

o การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะโอนอำนาจจากส่วนกลางไปท้องถิ่น ซึ่งมีขีดความสามารถไม่เพียงพอ ทำให้การแก้ไขปัญหาลำบากขึ้นกว่าเดิม

o การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะกระทบต่อการลงทุนและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง จะกระทบการท่องเที่ยว ผักผลไม้จากระยองขายไม่ได้ การพิจารณารายงานสิ่งแวดล้อมของโครงการใหม่จะเข้มงวดและเป็นอุปสรรคในการลงทุน

o การประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มขึ้นอย่างไร แตกต่างจากการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาอย่างไร และมีปัญหามลพิษใดที่จำเป็นต้องแก้ไขด้วยการประกาศเขตควบคุมมลพิษ

o หากรัฐบาลไม่อุทธรณ์ จะเสียสิทธิที่มีตามกฎหมายหรือไม่

โดยมีคำตอบและข้อมูลหลักฐานต่างๆ ดังนี้

1. ถาม : ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดในปัจจุบัน มีแนวโน้มดีขึ้นแล้วหรือไม่?

ตอบ : คำพิพากษาของศาลปกครองระยอง มีการพูดถึงข้อโต้แย้งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ ข้อมูลหลักฐานต่างๆ จนถึงปี 2551 ตลอดจนข้อมูลการศึกษาทางวิชาการจำนวนมาก สรุปว่า ปัญหามลพิษมีผลกระทบรุนแรงจริง แม้รัฐบาลจะดำเนินการตามแผนอื่นๆ โดยการไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่ปัญหามลพิษยังไม่มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกลับมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานหลายเท่า โลหะหนักปนเปื้อนในบ่อน้ำที่ชาวบ้านต้องใช้ เพราะยังไม่มีน้ำประปา การลักลอบทิ้งขยะพิษอุตสาหกรรม หรืออุบัติภัยสารเคมีที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทำให้ทรัพย์สินเสียหายและประชาชนได้รับบาดเจ็บ ฯลฯ

2. ถาม : แผนลดและขจัดมลพิษที่จัดทำในปี 2550 ใช้แนวทางของเขตควบคุมมลพิษแล้ว และมีดำเนินการคืบหน้าอย่างดี จึงไม่จำเป็นต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษ?

ตอบ : คำพิพากษาของศาลปกครองระยองชี้ว่า รัฐบาลมีการดำเนินการแก้ปัญหามานานแล้ว ทั้งการจัดทำแผน กำหนดมาตรการ งบประมาณ เป้าหมาย ระยะเวลา และการเฝ้าระวัง แต่ยังไม่สามารถควบคุมและขจัดมลพิษได้ ซึ่งรัฐบาลไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจโดยอ้างเหตุผลว่า ขณะนี้โรงงานให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาตามแผนลดและขจัดมลพิษอยู่แล้ว การไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ข้างเคียง จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

3. ถาม : ที่มาของการฟ้องร้องคดีให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษต่อศาลปกครองระยอง คืออะไร?

ตอบ : ความไม่เข้มงวดและไม่เอาจริงเอาจังของภาครัฐในการจัดการปัญหามลพิษ เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดลุกลามบานปลาย ดังเช่น การยอมให้มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่เขตกันชนที่รัฐเป็นผู้กำหนดไว้เอง ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมหนักมาอยู่ติดชิดกับชุมชน จนมีการย้ายโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคารออกนอกพื้นที่ในปี 2540-2541 และย้ายโรงพยาบาลมาบตาพุดในปี 2550

ชาวมาบตาพุด จึงใช้สิทธิในการพิทักษ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมของตนเอง โดยฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้รัฐบาลได้นำอำนาจและหน้าที่ที่ภาครัฐมีอยู่ มาบังคับใช้อย่างเข้มงวดและจริงจังเพื่อบำบัดทุกข์ของประชาชน ซึ่งก็คือการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐบ่ายเบี่ยงที่จะใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าว โดยอ้างว่าเกรงจะกระทบต่อการลงทุน และไม่เชื่อว่าจะเป็นมาตรการที่สัมฤทธิ์ผลจริง ในที่สุด คำพิพากษาของศาลปกครองระยองทำให้ได้ข้อยุติว่า รัฐบาลไม่อาจบ่ายเบี่ยงในการใช้อำนาจตามกฎหมายของตนได้อีกต่อไป

4. ถาม : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะนำไปสู่การจัดการปัญหามลพิษอย่างเข้มงวดและจริงจังอย่างไร?

ตอบ : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะช่วยให้มาตรการป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพมีความเข้มงวดและเอาจริงเอาจังมากขึ้น ทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ การกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดและมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นได้ รวมถึงการใช้มาตรการที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เช่น การกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาการหายไปของพื้นที่กันชน และการรุกล้ำของโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปเขตชุมชน ดังที่ประสบอยู่ทุกวันนี้

5. ถาม : ถ้าประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้ว ต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและมีอำนาจ แต่ท้องถิ่นไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ จึงไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษได้และไม่เป็นที่ยอมรับของนักลงทุน?

ตอบ : ประการแรก กฎหมายไม่ใช่ให้อำนาจทั้งหมดไปที่ท้องถิ่น แต่เฉพาะการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ ซึ่งจะมีกรมควบคุมมลพิษและเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนเทศบาลหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำแผน

เมื่อท้องถิ่นจัดทำแผนฯ แล้วไม่ใช่บังคับใช้ได้เลย แต่จะต้องเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรวมไว้ในแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมจังหวัดและต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อน จึงจะดำเนินการได้

สำหรับอำนาจในการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้น ไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น แต่อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ในการกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิด เช่น ปลายปล่อง ปลายท่อ ให้เข้มงวดขึ้นได้ และอยู่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ในน้ำทะเล ในคลอง ในอากาศ ให้เข้มงวดขึ้นได้

ในขณะที่อำนาจในการกำหนดมาตรการอื่นๆ เช่น กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือห้ามการกระทำหรือกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายหรือก่อผลกระทบ อยู่ที่รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีก่อน

6. ถาม : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะโอนอำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่นแทนหน่วยราชการส่วนกลาง จะทำให้การแก้ปัญหาทำได้ยากลำบากขึ้นกว่าเดิม?

ตอบ : องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมิได้มีอำนาจเหนืออำนาจอื่นๆ ที่หน่วยราชการมีอยู่ อำนาจหน้าที่เดิมของส่วนราชการไม่ได้หายไป หน่วยราชการจึงยังคงสามารถใช้และจำเป็นต้องใช้อำนาจของตนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างเต็มที่ต่อไป เช่น กรมควบคุมมลพิษและสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ยังต้องติดตามตรวจสอบมลพิษและการดำเนินมาตรการลดผลกระทบต่างๆ ของโรงงานต่อไป หากพบว่ามีการละเมิดกฎหมาย ก็ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่อยู่แล้ว

7. ถาม : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงหรือไม่?

ตอบ : จากข้อมูลที่ผ่านมา มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษมาแล้ว 17 พื้นที่ใน 12 จังหวัด โดยการวิเคราะห์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด 5 ปีก่อนหน้าการประกาศเปรียบเทียบกับ 5 ปีหลังการประกาศ ปรากฏว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเหล่านั้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะในกรณีของจังหวัดสมุทรปราการและสระบุรี ซึ่งมีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากพบว่า มีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าก่อนที่จะประกาศเขตควบคุมมลพิษ

การประกาศเขตควบคุมมลพิษนั้น ไม่ได้เป็นการจำกัดการลงทุน โดยสถานการณ์ปัญหามลพิษและผลกระทบในพื้นที่มาบตาพุด ยิ่งต้องการการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ใช่การลงทุนในลักษณะเดิม หากจำเป็นต้องมีการลงทุนในการลดและขจัดมลพิษ เช่น เทคโนโลยีสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน ฯลฯ ซึ่งมาตรการเหล่านี้สร้างการจ้างงานและส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เพราะมีสัดส่วนการจ้างงานต่อเงินลงทุนสูงกว่า และมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศต่ำกว่า

8. ถาม : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะกระทบต่อการท่องเที่ยวและจะทำให้ขายผักผลไม้ไม่ได้หรือไม่?

ตอบ : หลายพื้นที่ซึ่งประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษก่อนหน้านี้แล้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน ชะอำ หมู่เกาะพีพี และหาดใหญ่ ซึ่งประกาศมาแล้วนับสิบปี ไม่มีผลกระทบให้การท่องเที่ยวลดลง ส่วนพื้นที่เขตควบคุมมลพิษอื่นๆ เช่น จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม รวมทั้งพื้นที่เขตควบคุมมลพิษอื่นๆ ไม่เคยมีข้อมูลหลักฐานปรากฏว่า ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการตลาดสินค้าเกษตรแต่อย่างใด

9. ถาม : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะส่งผลต่อการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างไร?

ตอบ : ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ความเกี่ยวข้องที่อาจจะมี ก็ต่อเมื่อ

1) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้อำนาจในการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้น หรือ

2) แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบ มีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ

3) รัฐมนตรีฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินมาตรการที่มีความเกี่ยวข้องกับรายงายผลกระทบ สิ่งแวดล้อม

จึงจะมีผลว่า การพิจารณาเห็นชอบรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง

10. ถาม : การประกาศเขตควบคุมมลพิษ จะเป็นแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนที่แตกต่างจากเดิมอย่างไร?

ตอบ : การบัญญัติให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ คือนัยยะของการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น และเป็นการเปิดโอกาสสำหรับชาวมาบตาพุดในการมีส่วนร่วมจัดการ ดูแล ควบคุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง โดยผ่านกระบวนการจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ ไม่เหมือนการจัดทำแผนควบคุมมลพิษในปี 2550 ที่เปิดให้ประชาชนเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นได้ 2 ครั้ง ซึ่งไม่เพียงพอกับการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาที่รุนแรงในพื้นที่

11. ถาม : มีปัญหาอะไรที่จำเป็นจะต้องกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้นหรือไม่?

ตอบ : ข้อมูลปัญหามลพิษจากสารปรอท ซึ่งอาจจะปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มาบตาพุดได้ทั้งทางน้ำและอากาศ สามารถก่อผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพน้ำทะเล สัตว์ทะเล และประชาชน จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและกำหนดมาตรฐานการปล่อยสารปรอทให้เข้มงวดมากกว่าเดิม

สำหรับปัญหาสารอินทรีย์ก่อมะเร็งที่ตรวจพบในปี 2548 เกินค่ามาตรฐานนานาชาติถึง 19 ชนิด แต่มีการกำหนดค่ามาตรฐาน 9 ชนิดในปี 2550 โดยใช้การเทียบเคียงจากต่างประเทศซึ่งมีฐานในการกำหนดมาจากสภาวะปกติไม่ควรเกินค่าที่กำหนดไว้ แต่ในกรณีมาบตาพุดมีงานวิจัยของหน่วยราชการต่างๆ และองค์กรอื่นๆ ยืนยันมานานนับสิบปีแล้วและชาวบ้านได้รับสัมผัสมาโดยตลอด จึงน่าจะต้องกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้น

12. ถาม : หากรัฐบาลไม่อุทธรณ์คำพิพากษา จะไม่รักษาผลประโยชน์ของรัฐและเป็นการเสียสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เปิดโอกาสให้สามารถอุทธรณ์ได้หรือไม่?

ตอบ : การฟ้องคดีนี้ ไม่ใช่การเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใด แต่เรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งกำหนดไว้ในกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน หากรัฐบาลอุทธรณ์ จึงแสดงว่า รัฐบาลจะร้องขอต่อศาลไม่ให้ตนใช้อำนาจหน้าที่ที่ตนมีอยู่ในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน เนื่องจากไม่เชื่อว่ากลไกตามกฎหมายของตนจะแก้ไขปัญหาได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็ไม่ปรับปรุงกลไกดังกล่าวให้มีประสิทธิผลมากขึ้น ตลอดระยะเวลาที่บังคับใช้กฎหมายนี้มา 17 ปีแล้ว

13. ถาม : คำพิพากษาของศาล กำหนดให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน มีขั้นตอนในการประกาศอย่างไรและจะสามารถดำเนินการได้ทันหรือไม่?

ตอบ : ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะจัดเตรียม ร่างประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา และตำบลบ้านฉางเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งระบุเหตุผลในการประกาศและแผนที่ เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบ โดยเคยจัดทำไว้เบื้องต้นแล้วตั้งแต่ปี 2548

โดยสรุป ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดมีผลกระทบรุนแรงจริง โดยไม่มีแนวโน้มลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น ภาครัฐมีการดำเนินการแก้ไขมานานแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้การลดและขจัดมลพิษมีความเข้มงวดและจริงจัง โดยอำนาจตามเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้จำกัดเฉพาะท้องถิ่น แต่ยังรวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด รัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยส่วนราชการอื่นๆ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายซึ่งต้องดำเนินการอยู่แล้ว

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินการจัดการมลพิษตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีประเด็นใดที่ต้องกังวล ในขณะที่การท่องเที่ยวและภาคเกษตร ไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษแต่อย่างใด สำหรับรัฐบาล การประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการลดและขจัดมลพิษให้ลุล่วง และเป็นโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการปรับไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ไม่ก่อมลพิษอย่างรุนแรงและมีความยั่งยืน ซึ่งสร้างประโยชน์ระยะยาวให้กับประชาชนและประเทศชาติ
กำลังโหลดความคิดเห็น