xs
xsm
sm
md
lg

สั่งมาบตาพุดเขตคุมมลพิษธุรกิจชี้กระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา– ศาลปกครองพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศพื้นที่มาบตาพุด – บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ภายใน 60 วัน หลังเครือข่ายภาคประชาชนยื่นฟ้องพร้อมหลักฐานจากหลายหน่วยงานยืนยันตรงกันพื้นที่โรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ผาแดง เอเชีย และเหมราชตะวันออก สร้างปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ มีแนวโน้มอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เอกชนหวั่นกระทบลงทุนระยะยาว
วานนี้ (3 มี.ค.) ที่ศาลปกครองระยอง ต.เนินพระ อ.เมืองระยอง นางสายสุดา เศรษฐบุตร อธิบดีศาลปกครองระยอง เจ้าของสำนวน นายประสิทธิศักดิ์ มีลาภ รองอธิบดีศาลปกครองระยอง และ นายสรศักดิ์ มไหศิริโยดม ตุลาการศาลปกครองระยอง ได้อ่านคำพิพากษาคดี นายเจริญ เดชคุ้ม พร้อมพวก รวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
ตามคำฟ้อง ระบุว่า การดำเนินการของนิคมอุตสาหกรรมในเขตเทศบาลมาบตาพุด ได้ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดอย่างรุนแรง ทั้งมลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษจากกากของเสียอันตรายทำให้ประชาชนในท้องถิ่นเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติละเลย มิได้ประกาศกำหนดให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุดและเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมร้ายแรงฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 บัญญัติไว้
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ปรากฏตามรายงานของกรมควบคุมมลพิษ เอกสารแนบท้ายการประชุมของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 11/2548 ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศพบสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด ใน 20 ชนิดพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกินระดับเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศจำนวน 19 ชนิด สรุปว่า หากแหล่งกำเนิดทุกแหล่งในพื้นที่มาบตาพุดระบายมวลสารทางอากาศออกในอัตราสูงสุด ตามค่าที่ได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมวลสารในบางค่าสูงกว่ามาตรฐาน
ในปี พ.ศ.2540-2544 สถาบันมะเร็งแห่งชาติ นำเสนอข้อมูลจากโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งทุกชนิดในประเทศไทยของ จ.ระยอง สถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิดและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของ อ.เมืองระยอง สูงกว่าอำเภออื่นเป็น 3 เท่าและ 5 เท่า คุณภาพน้ำคลองสาธารณะ ปี พ.ศ.2550 คลองสาธารณะส่วนใหญ่ในพื้นที่มาบตาพุดอยู่ในระดับเสื่อมโทรมพบสารปนเปื้อนโลหะหนักสูงเกินค่ามาตรฐาน
ศาลรับฟังได้ว่าเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด เป็นพื้นที่ซึ่งมีปัญหามลพิษ มีแนวโน้มที่ร้ายแรงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงสมควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษได้ในเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ตำบลบางส่วนอยู่ในพื้นที่ ต.เนินพระ ตำบลมาบข่าและตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง เป็นเขตควบคุมมลพิษด้วย
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านฉาง พบว่า คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งหาดพยูน มีแบคทีเรียและเหล็กมีค่าเกินมาตรฐาน
ศาลจึงมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดี ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา อำเภอเมืองระยองทั้งตำบล ตลอดจนท้องที่ตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉางทั้งตำบล เป็นเขตควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหกสิบวัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
อนึ่ง แหล่งปล่อยมลพิษที่สำคัญมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดและใกล้เคียงโดยผลการศึกษาต่างๆ สรุปได้สอดคล้องกันว่านิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย นิคมเหมราชตะวันออก เป็นพื้นที่มีปัญหามลพิษทางน้ำ อากาศ ขยะพิษ และมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหาย
ภายหลังศาลฯอ่านคำพิพากษา เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก พร้อมทีมทนายความและผู้ฟ้องคดี ร่วมแถลงข่าวว่า ดีใจและหายเหนื่อยหลังต่อสู้เรื่องนี้มานาน และเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ช่วยแจ้งต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขออย่าอุทธรณ์คดีนี้เลย เพราะประชาชนในเขตมาบตาพุดปัจจุบันอยู่ในสภาพตายผ่อนส่งและบางคนได้เสียชีวิตไปแล้วโรงงานอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นอีก และยังจะมีการประกาศพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้นอีก ขอให้ยึดหลักธรรมาภิบาลอยู่ร่วมกัน เพื่อพี่น้องประชาชนชาวระยอง
นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ กล่าวว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ และเป็นคดีตัวอย่างที่ประชาชนมาบตาพุดได้รับผลกระทบ จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ให้หน่วยงานรัฐปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะปัจจุบัน มาบตาพุดมีความรุนแรงเรื่องมลพิษ และขอขอบคุณนักวิชาการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่นำข้อมูลยืนยันมาบตาพุดมีปัญหารุนแรงเรื่องมลพิษ ส่วนผลคดีผู้ถูกฟ้องสามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน การประกาศเขตพื้นที่ควบคุมมลพิษเป็นแค่เงื่อนไขหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมาย
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม กล่าวว่า ผลของคดีจะมีผลต่อการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดขึ้นและเปิดทางให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบฟ้องร้องผู้ปล่อยมลพิษได้มากขึ้น ขณะที่บริษัทที่กำลังขยายการลงทุนจะได้คิดวางแผนการจัดการด้านมลพิษอย่างจริงจัง ทั้งนี้คดีดังกล่าวยังต้องรอดูว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ และการนิคมฯ จะอุทธรณ์หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทั้งฝ่ายเอกชนและรัฐมักอ้างตลอดว่ามีแผนการจัดการ ลด ละ และขจัดมลพิษ อยู่แล้ว
อนึ่ง ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ส่วนที่ 3 เขตควบคุมมลพิษ มาตรา 59 ถึง 63 สรุปได้ว่า กรณีปรากฏว่าท้องที่ใดมีปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นอันตรายต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจประกาศให้ท้องที่นั้นเป็นเขตควบคุมมลพิษ และให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้น เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรวมไว้ในแผนปฏิบัติการเพื่อการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด พร้อมกับกำหนดแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษไว้ในมาตรา 60 ซึ่งต้องมีการเสนองบประมาณแผ่นดินและกองทุนสำหรับก่อสร้างหรือดำเนินการเพื่อกำจัดของเสียรวมที่จำเป็นต่อการลดและขจัดมลพิษในเขตควบคุมมลพิษนั้นด้วย หากไม่สามารถจัดหาที่ดินของรัฐได้ก็ให้จัดหาที่ดินของเอกชนเพื่อคัดเลือกเป็นที่ตั้ง ฯลฯ โดยให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้กำกับดูแล

***เอกชนหวั่นกระทบลงทุนระยะยาว
นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า เมื่อศาลตัดสินออกมาให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ผลกระทบต่อการลงทุนระยะสั้นคงไม่มี เพราะโครงการใหม่ชะลอไปตามภาวะเศรษฐกิจ และโครงการที่อยู่ระหว่างการลงทุนก็คงต้องดำเนินการต่อไป เพราะได้ผ่านความเห็นชอบจากอีไอเอแล้ว
สิ่งที่เป็นห่วงคือการลงทุนในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการขยายกำลังการผลิตหรือโครงการลงทุนใหม่  เพราะหากมีการใช้คำสั่งศาลฯเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาจะทำให้การลงทุนใหม่ในไทยเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นภาครัฐควรต้องเข้ามามีบทบาทในการวางกรอบหลักเกณฑ์การพิจารณาให้อีไอเอชัดเจน นอกจากนี้ คำสั่งศาลฯดังกล่าวอาจกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากระยองเป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ
อย่างไรก็ตาม  การประกาศเขตควบคุมจะกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างชาติ ซึ่งขณะนี้เองประเทศเพื่อนบ้านของไทยพยายามดึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปลงทุนยังประเทศของตน อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่อาจจะต้องชะลอออกไป หรือย้ายฐานไปลงทุนในประเทศอื่นแทน  ดังนั้นทางส.อ.ท.จะมีการประชุมสมาชิกในเร็วๆนี้เพื่อหารือในเรื่องดังกล่าวรวมทั้งเตรียมชี้แจงข้อมูลให้นักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับการประกาศดังกล่าวให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าไม่ได้ส่งผลเลวร้ายแต่อย่างใด
***ยันเอกชนเข้มงวดสวล.อยู่แล้ว
นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกลุ่มอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)  และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด(มหาชน)  โรงงานตั้งอยู่ที่มาบตาพุด จ.ระยอง กล่าวว่า กำลังศึกษาคำตัดสินของศาลฯที่ออกมาว่าจะมีผลกระทบต่อการอย่างไรบ้าง และต้องดูในเรื่องของกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ก่อนหน้านี้ การลงทุนโครงการใหม่ๆ ในเขตมาบตาพุดต้องลดมลพิษในเขตดังกล่าวให้ได้ก่อนจึงจะลงทุนได้ หากลดมลพิษได้ 100% จะสามารถลงทุนได้เพียง 80% โครงการที่จะลงทุนต้องผ่านแผนการรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ด้วย
ที่ผ่านมากลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ๆ ได้ลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก เพื่อปฏิบัติกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องของการอุทธรณ์คงเป็นหน้าที่ของภาครัฐในการพิจารณา
แหล่งข่าวระดับสูงจากบมจ.ปตท.เคมิคอล กล่าวว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษจะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆของบริษัทในมาบตาพุด เนื่องจากได้ปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการลงทุนโครงการใหม่ๆซึ่งทยอยแล้วเสร็จภายใน 1-2ปีข้างหน้านี้ ส่วนโครงการลงทุนใหม่ๆนั้น บริษัทไม่ได้มองการลงทุนเฉพาะในไทยแต่มองไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย เนื่องจากเข้าใจดีกว่าการลงทุนในไทยนับจากนี้ไปจะทำได้ยากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องมลภาวะ  

//////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น