xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนกร้าวขู่ฟ้องบอร์ดสวล.ปิโตรเคมีโอดส่งออกกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ภาคเอกชนขู่ฟ้องบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติหากไม่ยื่นอุทธรณ์กรณีมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ลั่นต้องการโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลบ้าง ร่อนหนังสือถึงนายกฯ -กระทรวงอุตฯ – ทส. แล้ว เร่งอุทธรณ์ก่อนหมดเวลา 2 เม.ย.นี้ ด้านผู้ส่งออกปิโตรเคมีโวยลูกค้าต่างประเทศเริ่มจับตาชะลอซื้อไม่มั่นใจคุณภาพ นักวิชาการชี้คำพิพากษาศาลสะท้อนแผนลดและขจัดมลพิษล้มเหลวซ้ำรุนแรงขึ้น ยกผลศึกษายืนยันพื้นที่คุมมลพิษ 17 แห่งทั่วประเทศไม่ส่งผลกระทบลงทุน-ท่องเที่ยว-เกษตร

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้ทีมงานด้านกฏหมายของส.อ.ท.ศึกษาความเป็นไปได้ในการที่เอกชนในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองโดยตรงได้หรือไม่หากกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อกรณีการประกาศให้พื้นที่บริเวณมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
“หากไม่มีการยื่นอุทธรณ์เอกชนก็กำลังดูความเป็นไปได้ในการยื่นตรงเอง หรือหากทำไม่ได้จริงก็อาจนำไปสู่การยื่นฟ้องบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในฐานะที่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายและไม่ได้มีโอกาสเข้าไปชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล”นายสันติกล่าว
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ขณะนี้กกร.ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รมว.อุตสาหกรรม และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แล้ว เพื่อให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันซึ่งวันที่ 2 เม.ย.ก็จะครบกำหนดการยื่นอุทธรณ์แล้ว ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลฯเพื่อให้ข้อเท็จจริงในทุกๆ ด้านโดยเฉพาะมาตรการและแผนการดำเนินงานในการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จ.ระยอง
นอกจากนี้ยังให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของปัญหาเนื่องจากปัจจุบันยังขาดข้อมูลที่เป็นระบบและการยอมรับจากทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2552 ศึกษาผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาประเทศทั้งด้านท่องเที่ยว การบริการ เกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดแผน(Master Plan) สำหรับพื้นที่ดังกล่าว รวมไปถึงให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิเศษเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

******ส่งออกปิโตรฯเริ่มกระทบ

นายวิโนด กุมาร์กุปต้า ผู้บริหารจากบริษัทอินโดราคากรุ๊ป และเลขาธิการธุรกิจไทย-อินเดียกล่าวว่า ค่อนข้างเป็นห่วงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากข่าวที่ออกไปเริ่มมีผลกระทบต่อลูกค้าที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเริ่มจัดเราอยู่ในรายการที่ต้องจับตาหรือ Watch List มีบางส่วนหันไปซื้อที่อื่นก่อนแล้วเพราะไม่มั่นใจในมาตรฐานและคุณภาพสินค้าจากไทยหากประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษปัญหาการส่งออกจะมากขึ้นในยามเศรษฐกิจเช่นนี้รัฐควรจะมีความรอบคอบ
“ เราไม่ได้กลัวในการปฏิบัติตามกฏหมาย แต่เรากลัวว่าจะมีกลุ่มคนเข้ามามีบทบาท ตอนที่ปิดสนามบินทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจไทยแต่เราอยู่มานานเรารู้จักดีก็ไม่ห่วงเท่าไร แต่วันนี้คำพิพากศาลเรื่องนี้มันก็ทำให้เราไม่มั่นใจว่าเราควรจะขยายการผลิตต่อไปหรือไม่”นายวิโนดกล่าว
นาย พี.เอ็ม. บาจา (P.M.Bajaj) ประธานบริหารบริษัทกลุ่มไทยเรยอน ผู้ผลิตปิโตรเคมีในมาบตาพุดกล่าวว่า ข่าวที่ออกไปในเรื่องของการประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเป็นผลในเชิงลบมากกว่าบวกซึ่งเอกชนมีการส่งออกสินค้าการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นได้คำนึงทุกมิติหากไม่เช่นนั้นคงส่งออกไม่ได้ หากประกาศจริงจะเท่ากับกระทบกับภาคส่งออกเป็นการซ้ำเติมช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทมีแผนขยายกิจการในมาบตาพุด 2.5 พันล้านบาทมีการซื้อที่ดินแล้วตอนนี้เกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรต่อไปทุกอย่างไม่ชัดเจน และอนาคตก็จะเกิดคำถามว่าจะมีแบบนี้อีกหรือไม่

*****เอกชนลั่นต้องการเวทีชี้แจงข้อเท็จจริง

นายชายน้อย เผื่อโกสุม ประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.กล่าวว่า เอกชนยืนยันว่าแผนลดมลพิษได้ดำเนินการตามมาตรฐานสากลทุกประการหากแต่ที่ต้องการอุทธรณ์เพราะต้องการโอกาสชี้แจงเพราะคำตัดสินของศาลมีข้อมูลเพียงด้านเดียว ประกอบกับหากเปลี่ยนแผนจัดการมลพิษใหม่เอกชนกังวลว่าโครงการที่ผ่านรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอแล้วจะทำอย่างไร
นายศุภชัย วัฒนางกูร ประธานกลุ่มปิโตรเคมีส.อ.ท. กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าโครงการที่เข้าข่ายของกลุ่มเอ็นจีโอที่ต้องการให้ชะลอการลงทุนคือโครงการที่ได้รับอนุมัติอีไอเอที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเดิมและโครงการที่มีการปล่อยมลพิษที่เข้ามาลงทุนภายใต้เงื่อนไขการปรับลดและสำรองสัดส่วนค่าการระบายมลพิษ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 43 โครงการเงินลงทุน 3.9 แสนล้านบาทโดยจะมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม 1.7 หมื่นล้านบาท หากมีการชะลอการลงทุนดังกล่าวทำให้ประเทศขาดรายได้ถึง 2.8 แสนล้านบาทต่อปีและลดการจ้างงานลง 3,390 คน

***ชี้แผนลดมลพิษล้มเหลว
นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายศุภกิจ นันทะวรกร นักวิชาการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ เปิดเผยว่า ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดปัจจุบันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจริง ซึ่งตามคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง มีการพูดถึงข้อโต้แย้งของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ และหลักฐานข้อมูลต่างๆ จนถึงปี 2551 ซึ่งข้อมูลการศึกษาทางวิชาการจำนวนมาก สรุปตรงกันว่า ปัญหามลพิษมีผลกระทบรุนแรงขึ้น
“แม้รัฐบาลจะดำเนินการตามแผนลดและขจัดมลพิษ ที่จัดทำในปี 2550 โดยไม่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ แต่ปัญหาก็ยังไม่มีแนวโน้มลดลง ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานหลายเท่า โลหะหนักปนเปื้อนในบ่อน้ำที่ชาวบ้านต้องใช้ เพราะยังไม่มีน้ำประปา การลักลอบทิ้งขยะพิษอุตสาหกรรม หรืออุบัติภัยสารเคมีที่เกิดขึ้นเสมอ”
ดังนั้น หากประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดจะนำไปสู่การจัดการปัญหามลพิษอย่างเข้มงวดและจริงจัง ทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและขจัดมลพิษ การกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดและมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการใช้มาตรการที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ เช่น การกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาการหายไปของพื้นที่กันชน และการรุกล้ำของโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปเขตชุมชน ดังที่ประสบอยู่ทุกวันนี้
สำหรับอำนาจในการกำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดมากขึ้นไม่ได้อยู่ที่ท้องถิ่น แต่อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในการกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำหนด เช่น ปลายปล่อง ปลายท่อ ให้เข้มงวดขึ้นได้ และอยู่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ในน้ำทะเล น้ำในคลอง และคุณภาพอากาศให้เข้มงวดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม คงจะไม่กระทบต่อการลงทุนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เพราะจากข้อมูลที่ผ่านมา มีการประกาศเขตควบคุมมลพิษมาแล้ว 17 พื้นที่ ใน 12 จังหวัด จากการวิเคราะห์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด 5 ปีก่อนหน้าการประกาศเปรียบเทียบกับ 5 ปีหลังการประกาศ ปรากฏว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดเหล่านั้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะกรณีของจังหวัดสมุทรปราการและสระบุรี ซึ่งมีอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากพบว่า มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าก่อนที่จะประกาศเขตควบคุมมลพิษ
นักวิชาการทั้งสอง ยังชี้ว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้เป็นการจำกัดการลงทุน สถานการณ์ปัญหามลพิษและผลกระทบในพื้นที่มาบตาพุดยังต้องการการลงทุนเพิ่มขึ้นแต่ไม่ใช่การลงทุนลักษณะเดิมแต่เป็นการลงทุนในการลดและขจัดมลพิษ เช่น เทคโนโลยีสะอาด การอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานต่อเงินลงทุนสูงกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ และมีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศต่ำกว่า

***ยันท่องเที่ยว-เกษตร ไม่กระทบ
ส่วนผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและจะทำให้ขายผักผลไม้ไม่ได้หรือไม่นั้น นายเดชรัต กล่าวว่า ในหลายพื้นที่ที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษไปก่อนหน้านี้ และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน ชะอำ หมู่เกาะพีพี และหาดใหญ่ ซึ่งประกาศมาแล้วนับสิบปีไม่มีผลกระทบให้การท่องเที่ยวลดลงแต่อย่างใด ขณะที่พื้นที่ควบคุมมลพิษอื่น เช่น นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม รวมทั้งเขตควบคุมมลพิษอื่นๆ ไม่เคยมีข้อมูลหลักฐานว่า ส่งผลกระทบต่อการผลิตและตลาดสินค้าเกษตรแต่อย่างใด
นายเดชรัต และนายศุภกิจ ร่วมกันสรุปว่า ปัญหามลพิษที่มาบตาพุด มีผลกระทบรุนแรงจริงโดยไม่มีแนวโน้มลดลงแต่กลับเพิ่มขึ้น ภาครัฐมีการดำเนินการแก้ไขมานานแล้ว แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงจำเป็นต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษเพื่อให้การลดและขจัดมลพิษมีความเข้มงวดและจริงจัง โดยอำนาจตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมเรื่องเขตควบคุมมลพิษ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่ท้องถิ่น แต่ยังรวมถึงผู้ว่าฯ รัฐมนตรี และคณะกรรมการสิ่งแวดล้องแห่งชาติ โดยส่วนราชการอื่นๆ มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว
สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ดำเนินการจัดการมลพิษตามกฎหมายอยู่แล้ว ไม่มีประเด็นใดที่ต้องกังวล ในขณะที่การท่องเที่ยวและภาคเกษตร ไม่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษแต่อย่างใด สำหรับรัฐบาล การประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการลดและขจัดมลพิษให้ลุล่วง และเป็นโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการปรับไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ไม่ก่อมลพิษอย่างรุนแรงและมีความยั่งยืน ซึ่งสร้างประโยชน์ระยะยาวให้กับประชาชนและประเทศชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น