xs
xsm
sm
md
lg

เขตมลพิษมาบตาพุดบนทาง2แพร่ง อุ้มลงทุนฟื้นศก.-รักษาชีวิตชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงาน....

ASTVผู้จัดการรายวัน - วันนี้ (9 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการรวมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายรัฐมนตรี เป็นประธาน มีวาระการพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการให้ชะลอการประกาศพื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตามคำสั่งศาลปกครองซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดภายใน 60 วัน นับจากศาลตัดสินเมื่อวันที่ 3 มี.ค.52 โดยการขอให้ชะลอประกาศภาคเอกชนให้เหตุผลว่า จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและยังไม่ชัดเจนว่าต้องใช้เวลาปรับแผนงานด้านจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่หรือไม่

เป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คำสั่งศาลปกครองที่กำหนดให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ส่งผลต่อโครงการลงทุนปิโตรเคมี เฟส 3 มูลค่าร่วม 2 - 3 แสนล้านบาท ซึ่งมีทั้งหมด 35 โครงการ เฉพาะเครือปตท. มีอยู่ 4 โครงการ เม็ดเงินลงทุนร่วม 7 หมื่นล้านบาท และเครือปูนซิเมนต์ อีก 3 หมื่นล้าน ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้ลงทุนใหญ่สุด

โครงการลงทุนเหล่านี้เป็นหนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลว่าจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในรอดพ้นภาวะวิกฤตที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าขณะนี้ หากมีการชะลอการลงทุนออกไปอีกเพื่อปรับแผนสิ่งแวดล้อมใหม่ หลังจากที่ล่าช้าจากแผนเดิมมาก่อนหน้านี้เพราะต้องรอให้รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ผ่านการพิจารณาอนุมัติ ก็จะกระทบบรรยากาศการลงทุน การจ้างงาน ดังนั้น ข้อเรียกร้องของเอกชนให้ชะลอการประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้นายกฯ อภิสิทธิ์ ต้องตัดสินใจว่าจะยินยอมทำตามหรือไม่

แต่อีกมุมหนึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้เช่นกันว่า โครงการลงทุนอุตสาหกรรมหนักในเขตมาบตาพุดตามแผนพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ตั้งแต่ปี 2524 จวบจนปัจจุบันเกือบ 30 ปี ได้ก่อผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิถีชีวิตมาอย่างต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นตามลำดับ กระทั่งศาลปกครองได้ตัดสินตามคำขอของประชาชนผู้ฟ้องคดีให้ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ในที่สุด

หลักฐานรายงานผลการศึกษาต่างๆ ที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษยื่นต่อศาลนั้น เป็นที่ชัดเจนว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้อ้างความคลุมเครือของข้อมูล ละเลย ละเว้น ยื้อเวลา อ้างมีแผนลดและขจัดมลพิษอยู่แล้ว เพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อนักลงทุน อีกทั้งยังเร่งอนุมัติอีไอเอให้ผ่านเพื่อไม่ให้การลงทุนมีอุปสรรคใดๆ มาขวางกั้น แม้ว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอรายงานผลการศึกษามลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุดที่ระบุว่าปัญหามลพิษมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่และเห็นสมควรให้กำหนดเป็นเขตควบคุมมลพิษมาตั้งแต่ปี 2548 แล้วก็ตาม

ข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ว่าสุขภาพอนามัยของประชาชนถูกคุกคามจากมลพิษถึงขั้นตกอยู่ในภาวะอันตรายตายผ่อนส่ง จากผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรฯ ในเอกสารแนบท้ายที่เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น รายงานรายละเอียดของปัญหามลพิษทางอากาศว่า พบสารอินทรีย์ระเหยมากกว่า 40 ชนิด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด และใน 20 ชนิดพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งมีค่าเกินระดับการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในบรรยากาศของ US-EPA (EPA Region 6 Sceening Level) จำนวน 19 ชนิด

และผลการตรวจวัดแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเก็บตัวอย่างในช่วงสั้นๆ หรือเก็บตัวอย่างแบบเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ก็จะพบสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้น การประเมินศักยภาพรองรับมลพิษทางอากาศในพื้นที่มาบตาพุด สรุปว่า หากแหล่งกำเนิดทุกแห่งในพื้นที่มาบตาพุด ระบายมวลสารทางอากาศออกในอัตราสูงสุดตามค่าที่ได้รับอนุญาต จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมวลสารในบางพารามิเตอร์สูงเกินค่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศในบรรยากาศ

ไม่เพียงเท่านั้น จากผลการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำเสนอข้อมูลโครงการศึกษาระบาดวิทยาของโรคมะเร็งในประเทศไทยทุกชนิดและมะเร็งเม็ดเลือดขาว ของอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ เป็น 3 เท่า และ 5 เท่า ซึ่งสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวส่วนหนึ่งมาจากการได้รับสารเบนซิน

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารรายงานที่มีส่วนราชการและเอกชนจัดทำขึ้นมากมายซึ่งแสดงว่ามลพิษทางอากาศ มลพิษทางน้ำ และมลพิษขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ซึ่งตอกย้ำให้เห็นถึงปัญหาในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง เช่น

1) มลพิษ สุขภาพ และอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด โดย เดชรัต สุขกำเนิด, ศุภกิจ นันทะวรการ, วิภวา ชื่นจิต มูลนิธินโยบายสุขภาวะ 1 มี.ค. 2550

2) ผลการตรวจความผิดปกติของสารพันธุกรรมในเซลล์ของประชาชน (วันที่ 24 ก.พ. 2550) โดย รศ. เรณู เวชรัตต์พิมล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
3) รายงานโครงการจัดทำแผนแม่บทเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน กรณีศึกษา ชุมชนโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย มิ.ย. 2547
4) การศึกษาความสัมพันธ์ของการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจและโรคผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กับมลพิษทางอากาศที่เกิดจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยนายสมชาย จาดศรี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย

5)รายงานสรุปสำหรับผู้บริหาร การจัดทำแผนปฏิบติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 - 2554 ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษมาบตาพุด ภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
6) รายงานการประชุมของคณะกรรมการพหุภาคีเพื่อกำกับการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ. 2550 - 2554
7) สรุปการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดลอ้ม พร้อรายงานปริมาณสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย
8) ความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมภาคผนวน สรุปผลการสัมมนาสาธารณะ เรื่อง ยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก กรณีศึกษาในจังหวัดระยอง

9) รายงานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
เอกสารการศึกษาต่างๆ ล้วนแต่ระบุว่า ปัญหามลพิษในท้องที่มาบตาพุดกระทบกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งสิ้น

ศาลยังชี้ว่า ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดี (คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ) ชี้แจงตามคำชี้แจงลงวันที่ 28 ส.ค. 51 ว่า ผลการดำเนินการปรับลดมลพิษ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2551 ควบคุมการระบายสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) จากแหล่งรั่วซึมที่มีนัยสำคัญ จำนวน 373 จุด จาก 100 โรงงาน มีการแก้ไขแล้วเสร็จ 371 จุดนั้น ยิ่งแสดงให้เห็นถึงการรั่วไหลของสารที่ทำให้เกิดสภาพมลพิษทางอากาศในพื้นที่ได้อย่างชัดเจน คำว่า "แหล่งรั่วซึมที่มีนัยสำคัญ" แสดงถึงผลกระทบที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงอันก่อให้เกิดอันตราย

ตามผลการพิจารณาศาลเห็นว่า เหตุที่มิได้ประกาศกำหนดให้เขตท้องที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษตามที่กระทรวงทรัพยากรฯ จัดทำร่างประกาศเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ น่าจะเป็นเพราะผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้กนอ.จัดตั้งงบประมาณร่วมกับระดมทุนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ แต่งบประมาณที่นำมาใช้ในโครงการ 67 โครงการย่อยเป็นงบประมาณของ กนอ. 4 โครงการ พ.ศ. 2550 จำนวนเงิน 23.50 ล้านบาท พ.ศ. 2551 จำนวนเงิน 120 ล้านบาท และงบประมาณจากผู้ประกอบการ 9 โครงการ พ.ศ. 2550 จำนวนเงิน 491 ล้านบาท พ.ศ. 2551 จำนวน 3,640 ล้านบาท ซึ่งเห็นได้ว่าผู้ประกอบการเป็นผู้ออกเงินในโครงการแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษมากกว่า กนอ. แต่รายได้ของ กนอ. มาจากผู้ประกอบการในพื้นที่

เมื่อให้ กนอ. จัดตั้งงบระดมทุนจากผู้ประกอบการในพื้นที่ และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ออกเงินให้โครงการไม่เห็นด้วยในการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เนื่องจากเกรงเสียภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ก่อมลพิษและเห็นสมควรจัดทำแผนงานการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่มีการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

การไม่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ อ้างว่า ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมารับผิดชอบแก้ไข พร้อมกับจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษ 5 ปี (2550 - 2554) แล้ว หากสิ้นแผนนี้แล้วไม่ได้ผลคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงจะออกประกาศเขตควบคุมมลพิษ นั้น

ข้ออ้างนี้ เมื่อศาลได้พิจารณารายงานผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้จัดจัดตั้งขึ้นสองคณะ คณะที่หนึ่ง ทำหน้าที่ศึกษาความสัมพันธ์ของสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ฯ กับปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ปล่อยจากโรงงาน และคณะที่สอง ทำหน้าที่พิจารณาการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษทั้งระบบ สถานการณ์คุณภาพอากาศ สถานการณ์คุณภาพน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเล การจัดการน้ำเสียชุมชน คุณภาพน้ำบาดาลและน้ำบ่อตื้นในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ในปี 2551 ก็ยังไม่มีสภาพดีขึ้นกว่าในปี 2550 แต่อย่างใด

ความจริงแล้วการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่มาพร้อมกับปัญหามลพิษด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย สามารถอยู่ร่วมกันได้ หากการลงทุนนั้นมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย ขณะที่หน่วยงานรัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง การลงทุนที่ยั่งยืนและมองอนาคตในระยะยาว ต้องคำนึงถึงสวัสดิภาพของชุมชน สุขอนามัยของประชาชนต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาและส่งผลเสียหายต่อทุกฝ่าย เมื่อโรงงานปล่อยมลพิษ ประชาชนประท้วงคัดค้าน สร้างปัญหาไม่จบสิ้น

บนทางสองแพร่งระหว่างการอุ้มนักลงทุน และการรักษาชีวิต สิ่งแวดล้อม เพื่อสวัสดิภาพของประชาชน นายกรัฐมนตรีจะแสวงหาจุดร่วมได้อย่างไร วันนี้คงมีคำตอบ

การขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด 35 โครงการ ในปัจจุบัน

1. โครงการโรงแยกคอนเดนเสท (นิคมฯมาบตาพุด) เจ้าของบ. เคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย จก.
2. โครงการศูนย์สาธารณูปการส่วนกลาง แห่งที่ 2 (โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ) ต.มาบตาพุด บ.พีทีที ยูทิลิตี้ จก.
3. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนตของโรงงานที่ 2 (นิคมฯผาแดง) บ.ไทยโพลีคาร์บอเนต จก.
4. โครงการโรงงานผลิตอีพอกซี่ เรซิน (ส่วนขยาย) (นิคมมาบตาพุด)บ. อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย)
5. โครงการโรงงานพีวีซี (ส่วนขยาย) ต.มาบตาพุด บ.เอเพ็ค ปิโตรเคมิคอล จก.
6. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอททีลีน (นิคมมาบตาพุด) บ. สยาม โพลิเอททีลีน จก.

7. โครงการโรงงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณและเข็มพีด เหล็กกล้ารีดร้อน (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. สยามยามาโตะ จก.
8. โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ต.มาบตาพุด บ. ปตท. จก.
9. โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมและไอน้ำ 90.2 เมกกะวัตต์ ก๊าซธรรมชาติ (นิคมเอเชีย) บ. โกลว์ พลังงาน จก.
10. โครงการโรงงานผลิตผลพลาสติกพีวีซี (ส่วนขยาย) (นิคมมาบตาพุด) บ. วีนิไทย จก.

11. โครงการโรงงานผลิตสารเอทานอลเอมีน (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. ไทยเอทานอลเอมีน จก.
12. โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน 700 เมกกะวัตต์ (นิคมมาบตาพุด) บ. โกลว์ เอสพีพี 3 จก.
13. โครงการโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรท์และสารเมทิลเมตะคริเลต (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จก.
14. โครงการโรงงานผลิตสารโพรพิลีนออกไซด์ และสารโพรพิลีนไกลคอล (นิคมเอเชีย) บ. เอ็มทีพี เอชพีพีโอแมนูแฟคเจอริ่ง จก.
15. โครงการขยายกำลังการผลิตฟอร์มัลดีไฮด์และยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์ (นิคมเหมราชตะวันออก) บ.วนชัย เคมีคอลอินดัสทรี่ส์ จก.
16. โครงการโรงงานผลิตเอทธิลีนออกไซด์และเอทธิลีนไกลคอล (ส่วนขยาย) (นิคมเหมราชตะวันออก) บ. ทีโอซี ไกลคอล จก.
17. โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตคลอร์-แอลคาไล (นิคมตะวันออก) บ. ไทยอาซาฮี เคมีภัณฑ์ จก.

18. โครงการส่วนขยายหน่วยการผลิตเม็ดพลาสติก (เขตประกอบการ สยามอีสเทิร์นฯ) บ.โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จก.
19. โครงการโรงงานผลิตอีทอกซีเลท (นิคมตะวันออก) บ.ไทย อีทอกซีเลท จก.
20. โครงการโรงงานผลิตสารโอเลฟินส์และสารอะโรเมติกส์ (ส่วนขยาย) (นิคมมาบตาพุด) บ.ระยองโอเลฟินส์ จก.
21. โครงการอีเทนแครกเกอร์ (นิคมผาแดง) บ.พีทีที โพลีเอทิลีน จก.
22. โครงการโรงงานผลิตสารโพรพิลีน (นิคมตะวันออก) บ.พีทีที โพลีเอทิลีน จก.
23. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีเอททิลีน (นิคมมาบตาพุด) บ.สยามโพลีเอททิลีน จก.

24. โครงการแอลดีพีอี (นิคมผาแดง) บ.พีทีที โพลีเอททิลีน จก.
25. โครงการโพลีโพรพิลีน (นิคมมาบตาพุด) บ.ปตท.จก.
26. โครงการขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตคลอ-อัลคาลีและอีพิคลอโรไฮดริน (นิคมตะวันออก) บ. ไทยออแกนิกเคมีคัลส์ จก.
27. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีคาร์บอเนตของโรงงานที่ 1 และ 2 (นิคมมาบตาพุด) บ.ไบเออร์ไทย จก.
28. โครงการปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตโพลีอะซีทัล (นิคมผาแดง) บ.ไทยโพลีอะซีทัล จก.

29. โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง จากระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (นิคมตะวันออก) บ.อีสเทิร์น อินดัสเตรียลเอสเตท จก. และบ.เหมราช วอเตอร์ จก.
30. โครงการโรงแยกก๊าซอีเทน (การปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 2 และ 3) ต.มาบตาพุด บ.ปตท. จก.
31. โครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนฯ (นิคมมาบตาพุด) บ.ปตท.เคมิคอล จก.
32. โครงการนิคมตะวันออก ส่วนขยาย เขตเทศบาลมาบตาพุด กนอ. ร่วมกับ บ.อีสเทิร์นอินดัสเตรียลเอสเตท จก.
33. โครงการปรับปรุงกระบวนการผลิตโรงงานอะโรมาติกส์ หน่วยที่ 2 เขตประกอบการอาร์ ไอ แอล
ต.มาบตาพุด บ.อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จก.
34. โครงการโรงงานผลิตยูเรียฟอร์มอลดีไฮด์เรซิน (นิคมฯอาร์ ไอ แอล) บ.สตาร์พลัส เคมีคอล จก.
35. โครงการแอลแอลดีพีอี(นิคมผาแดง) บ.พีทีที โพลีเอทิลีน จก.
กำลังโหลดความคิดเห็น