xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นรธน.ม.67ทำพิษ -ลงทุนมาบตาพุดชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด เตรียมชงครม.นำเรื่องหารือกฤษฎีกา วางแนวปฏิบัติกรณีการจัดตั้งองค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมตามรธน.มาตรา67 ยังไม่เกิด จะเดินหน้าลงทุนในเขตมาบตาพุดอย่างไร หวั่นเม็ดเงินลงทุน 4 แสนล้านวูบ คาดอีก 1 เดือนจะมีคำตอบชัดเจน

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) ว่า ที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เพื่อปรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่
มาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเสนอให้รัฐบาลชะลอขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุด และอ.บ้านฉาง จนกว่าจะมีมาตรการตัดสินใจ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ซึ่งบัญญัติว่า การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือสุขภาพ จะทำได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการ 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1. ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน 2. จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และ 3.ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ 3 ถือว่าเป็นประเด็นที่กำลังมีปัญหามากที่สุด เนื่องจากองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการจัดตั้ง ที่ประชุมจึงมีมติให้นำเรื่องเข้าหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในสัปดาห์หน้า โดยขอให้ครม.มีมติว่า ให้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อหาแนวทางปฏิบัติกรณีที่องค์ประกอบตามกฎหมายลูกของรัฐธรรมนูญยังจัดตั้งไม่แล้วเสร็จ จะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพราะหากหยุดรอเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระฯก็กลายเป็นปัญหาได้
“จะสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วยว่า โครงการที่ผ่านการอนุมัติผลศึกษาสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้ว จะสามารถดำเนินการต่อไปหรือไม่”
ทั้งนี้ ยังมีมติ กรณีการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (HIA) ได้ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ไปศึกษาการจัดทำระเบียบหรือวิธีปฏิบัติ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์เพื่อเสนอคณะกรรมการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ก่อนเสนอครม.เพื่อเร่งรัดต่อไป
นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า การหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังจะดูความชัดเจนในการจัดทำผลกระทบต่อสุขภาพด้วย ซึ่งภาคเอกชนที่ทำ EIA เสร็จแล้ว ก็สามารถที่จะทำ HIA ได้ หากคณะกรรมการกฤษฎีกาออกมาว่า ทำได้ เชื่อว่าภายใน 1 เดือนจะมีความชัดเจนว่า อุตสาหกรรมที่ผ่าน EIA แล้วจะสามารถลงทุนต่อได้รูปแบบใด ส่วนของอุตสาหกรรมเก่าว่าจะไปครอบคลุมในส่วนใดบ้าง และอาจจะมีการแก้ไขระเบียบในอุตสาหกรรมเก่าด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมฉบับนี้ เป็นการยอมรับต่อสาธารณะว่าโรงงานทุกประเภทตามบัญชีท้ายประกาศของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชน ที่ต้องจัดทำ EIA ตามพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 เป็นโรงงานที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงฯตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67
นายสยุมพร ลิ่มไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ตามกฎหมาย 120 วันที่คณะทำงานในระดับจังหวัด จะต้องดำเนินการจัดทำแผนควบคุมมลพิษใหม่ โดยเป็นแผนเพื่อลดการระบายมลพิษปี 2550-2554 รวมกับแผนของชุมชน ซึ่งที่ประชุมได้ขอให้จังหวัดดำเนินการให้ครอบคลุม ขณะที่การหารือกับภาคเอกชนในพื้นที่ อาจต้องหารือไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และทางจังหวัดยังเสนอคณะกรรมการฯ ให้จัดตั้ง “ กองทุนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อุตสาหกรรม จ.ระยอง ” เพื่อรองรับการแก้ปัญหาในอนาคต คาดว่าเงินทุนจัดตั้งกองทุนไม่ต่ำกว่า 50-100 ล้านบาท
นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา กล่าวว่า ที่ประชุมอีสเทิร์นซีบอร์ด เห็นชอบให้ก่อสร้างเส้นทางต่อขยายทางหลวงพิเศษ หมายเลข 38 (มอเตอร์เวย์) ระยะทาง 41 กิโลเมตร(กม.) เส้นทางชลบุรี-เมืองพัทยา-บ้านฉาง-มาบตาพุด วงเงิน 6,220 ล้านบาทรวมค่าเวนคืน โดยเป็นส่วนต่อขยายระยะทาง 11 กิโลเมตรหลังจากที่ดำเนินก่อสร้างไปแล้วระยะทาง 30 กิโลเมตร.
กำลังโหลดความคิดเห็น