xs
xsm
sm
md
lg

ฉะทส.ยื้อตั้งสวล.ทำเอกชนแหยงลงทุนมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชี้ปัญหาเอกชนไม่กล้าลงทุนมาบตาพุดเหตุแนวปฏิบัติตามมาตรา 67 ยังไม่ชัดเจน อัดกระทรวงทรัพยากรฯ (ทส.)ยื้อไม่ผลักดันจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม เกี่ยงให้คสช.พิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ยันชะลอขยายโรงงานไม่กระทบลงทุน เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจโลกหดตัว คณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ดประชุมหาทางออก 4 มิ.ย.เคาะพื้นที่กันชน-จัดทรัพยากรน้ำก่อนเสนอครม.ต่อไป
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือคณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นข้อเสนอของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการทบทวนปรับแนวทางการพัฒนา จ.ระยองและการทบทวนการสั่งชะลอโครงการลงทุนก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ขยายนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และบ้านฉาง ใน จ.ระยอง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมกังวลว่าจะส่งผลกระทบให้การลงทุนกว่า 60 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้านต้องหยุดชะงักและอาจทำให้ดัชนีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมในปีนี้ติดลบนั้น
วานนี้( 3 มิ.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ปัญหาที่ภาคเอกชนไม่สามารถเดินหน้าการลงทุนก่อสร้างโรงานอุตสาหกรรมใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับข้อเสนอของ คสช. เพราะคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคสช. เรื่องผลกระทบจากอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดเพียง 3 ข้อจากที่เสนอไป 5 ข้อเท่านั้น โดยในวันที่ 4 มิ.ย. เวลา 09.30 น. คณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ดจะมีการพิจารณารายละเอียดการปรับปรับแนวทางการพัฒนา จ.ระยองและการชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนนำกลับเข้าที่ประชุมครม. ต่อไป
“คสช. ไม่ได้เสนอให้ระงับโครงการ แต่ให้ชะลอจนกว่าจะมีกำหนดแนวทางการทำงานตามม.67 แห่งรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2550 ให้ชัดเจน โดยครอบคลุม 4 ประเด็น คือ 1.กำหนดประเภทและขนาดของกิจกรรมและโครงการที่ส่งผลกระทบรุนแรง 2.แนวทางการประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 3.ให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นจากสาธารณสาธารณะ และ4.ให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพร่วมพิจารณาผลกระทบ ซึ่งปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นทั่วโลก และต้องพิจารณาปัจจัยและแนวโน้มในประเทศด้วย โดยเฉพาะธุรกิจด้านปิโตรเลียมที่ชะลอตัวทั่วโลก ไม่ใช่เป็นผลกระทบจากการสั่งชะลอโครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ แล้วทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว”นพ.อำพลกล่าว

ฉะทส.ไม่เร่งดำเนินการ

นพ.อำพลกล่าวต่อว่า ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้น มาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ไม่เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้มีความชัดเจน ทั้งที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ได้มีการว่าจ้าง ม.มหิดล ศึกษายกร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ... เสร็จเรียบร้อยแล้ว และผ่านการประชาพิจารณ์ 4 ภาค รวมถึงมีการว่าจ้าง ม.มหิดล เพื่อศึกษาการกำหนดหลักเกณฑ์ประเภท และขนาดของกิจกรรมโครงการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบรุนแรง เสร็จเรียบร้อยแล้วเช่นกัน แต่กลับไม่มีการผลักดันเข้าสู่กระบวนการประกาศให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย และไม่มีการเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะทราบ
“ที่สำคัญ ล่าสุด ทส. ยังมีหนังสือมาถึง สช. ชี้แจงว่า จะขอรับผิดชอบพิจารณาเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เท่านั้น แต่จะไม่ขอรับผิดชอบการพิจารณาผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) โดยให้เป็นหน้าที่ของ คสช. ซึ่งเรื่องนี้ผมจะขอหารือในที่ประชุมคณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ดว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ ทส. จะไม่รับผิดชอบ และจะรายงานให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. รับทราบปัญหา เพราะตามกฎหมายแล้ว คสช. ไม่มี อำนาจในการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอนุญาต อนุมัติโครงการรัฐหรือเอกชนใดๆ ทั้งสิ้น” นพ.อำพล กล่าว

เผยกก.อีสเทิร์นซีบอร์ดถกวันนี้

ด้านดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ กล่าวว่า ในวันที่ 4 มิ.ย. คณะกรรมการอีสเทิร์นซีบอร์ด จะมีการพิจารณาทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนา จ.ระยอง ในการจัดทำผังเมืองในพื้นที่แนวกันชน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลทางวิชาการการกำหนดพื้นที่กั้นชนควรมีระยะเท่าใด ซึ่งในออสเตรเลียมีการกำหนดพื้นที่กันชน 1-5 กิโลเมตร รวมถึงการปรับปรุงระบบจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ เนื่องจากในพื้นที่ฝั่งตะวันออกมีปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะในปีที่แห้งแล้ง ขณะเดียวกันในระดับพื้นที่น้ำจากบ่อและลำคลองก็ไม่สามารถใช้ได้เพราะเต็มไปด้วยสารพิษ ไม่มีน้ำประปาต้องซื้อน้ำใช้อุปโภคบริโภคกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจ

เสนอตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม

ดร.เดชรัต กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ควรมีการมีการจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยให้มีการจัดระบบมาตรการทางการคลังใหม่ โดยให้ธุรกิจที่ทำในพื้นที่ จ.ระยอง มีการจัดเก็บภาษีและกลับมาหมุนเวียนในพื้นที่ จากเดิมที่ธุรกิจในพื้นที่ 80% เป็นการขึ้นทะเบียนในกรุงเทพมหานคร ขณะที่ธุรกิจในพื้นที่ จ.ระยองมีแค่ 16% เท่านั้น ทำให้การลงทุนด้านสังคมและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มีไม่ถึง 1 %ของผลผลิตมวลรวมทั้งหมดของพื้นที่ ส่งผลให้ปัญหาสังคมตามมา เช่น อุบัติเหตุ การติดเชื้อเอชไอวี การตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่น การอพยพของแรงงานเข้ามาทำงานใน จ.ระยองเป็นจำนวนมาก แต่การจัดสรรงบประมาณในการดูแลประชากรขึ้นอยู่กับจำนวนที่มีการลงทะเบียนไว้
“ส่วนการเสนอให้ชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ ในพื้นที่ ทำได้ทุกๆ 1 ปี เพื่อไม่ให้ผลกระทบต่อชุมชน โดยปฎิบัติตามแนวทางการทำงาน ตาม.ม.67 โดยดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1. ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 2.การเปิดรับฟังความคิดเห็น 3. องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมเสนอให้ความเห็น โดยมีกรอบแนวทางการปฏิบัติอยู่แล้ว”ดร.เดชรัตกล่าว

คนระยองล่าชื่อตั้งองค์กรอิสระ

ดร.เดชรัต กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่จ.ระยอง และผู้เกี่ยวข้อง ได้รวบรวมรายชื่อให้ได้ 10,000 ชื่อ เสนอให้ประธานสภาผู้แทบราษฎร์ พิจารณาเห็นชอบบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ... เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมก่อสร้างใหม่ได้มีแนวทางการดำเนินโครงการที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม
“ผลกระทบจากการที่ ทส. ไม่ประกาศบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องประกาศหลักเกณฑ์ประเภท และขนาดของกิจกรรมโครงการก่อสร้างที่ส่งผลกระทบรุนแรง ออกมาใช้แทน ซึ่งก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง เพราะแม้บริษัทเอกชน จะทำรายงานอีไอเอ เอชไอเอ แต่สุดท้ายก็ไม่มีองค์กรอิสระมาพิจารณาอนุมัติให้อยู่ดี” ดร.เดชรัต กล่าว

ชี้นักธุรกิจต้องการให้ ม.67 ชัดเจน

ดร.เดชรัตกล่าวด้วยว่า ได้หารือกับนักธุรกิจ ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการในพื้นที่ จ.ระยอง รายใหญ่พบว่า ต้องการให้มีความชัดเจนในม.67 เพื่อให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้ ส่วนจะต้องมีการปรับปรุงธุรกิจอย่างไรอยู่ที่ขั้นตอนกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นรัฐจึงต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดความชัดเจน
สำหรับข้อเสนอของคสช.มีดังนี้ 1.การทบทวนปรับแนวทางพัฒนาจ.ระยอง 2.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสุขภาพจากอุตสาหกรรม และวิธีการป้องกัน สร้างเสริมสุขภาพในภาวะมลพิษให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง 3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนและกฎการปฏิบัติสำหรับการป้องกันและบรรเทาอุบัติภัยจากอุตสาหกรรม อุบัติภัยจากสารเคมีระดับจังหวัด 4.ให้คสช. สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการดำเนินงานและความเข้มแข็งของประชาชน และ5.การชะลอการขยายและก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมใหม่ในระหว่างการทบทวนและปรับแนวทางการพัฒนาฯ ให้มีกระบวนการตัดสินใจในการอนุมัติ อนุญาต ให้ความเห็นชอบการขยายโรงงานอุตสาหกรรมใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น