xs
xsm
sm
md
lg

ศาลสั่งระงับชั่วคราว 76 โครงการที่ระยอง มูลค่า 4 แสนล้าน เครือ ปตท.กระอัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองสภาพผู้ป่วยจากมลพิษอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองจากแคมเปญรณรงค์ของกรีนพีช (ภาพโดย กรีนพีช)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ศาลปกครองมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมไว้เป็นการชั่วคราว 76 โครงการ มูลค่า 400,000 ล้าน ในจังหวัดระยอง จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ความคุ้มครองชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น กลุ่มทุนใหญ่ เครือ ปตท. กระทบหนัก 25 โครงการ รวมถึงโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 6 ส่วนเครือปูนใหญ่ เจอแจ๊กพอต 13 โครงการ

ศาลปกครองกลาง องค์คณะที่ 19 โดย นายภานุพันธ์ ชัยรัต ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี ให้ระงับ 76 โครงการ (มูลค่า 400,000 ล้านบาท) ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อเมแห่งชาติและหน่วยงานของรัฐรวม 8 แห่งอนุมัติให้ดำเนินการในพื้นที่ชุมชนมาบตาพุด จังหวัดระยอง เพื่อคุ้มครองชุมชนมาบตาพุดในด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

คดีนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและประชาชนชาวมาบตาพุด รวม 43 ราย ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า ร่วมกันออกคำสั่งโดยไม่ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ตลอดจนละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร

โดยเฉพาะตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชนจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน และให้องค์กรอิสระ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเสียก่อน

แต่ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ยังคงรับเรื่อง พิจารณา หรือให้ความเห็นชอบ อนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการหรือกิจกรรมหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพในพื้นที่จังหวัดระยองตามปกติเหมือนที่เคยทำมา มีจำนวนถึงกว่า 76 โครงการ โดยไม่สนใจว่า จะต้องนำบทบัญญัติของกฎหมายมาไปปฏิบัติในทันที

ในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีกับพวกได้ยื่นคำขอมาพร้อมกับคำฟ้องโดยขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยขอให้ศาลมีคำสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม จำนวน 76 โครงการ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอบ้านฉาง และใกล้เคียงจังหวัดระยอง ไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลจะมีคำพิพากษา

ศาลมีคำสั่งให้คู่กรณีมาฟังคำชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2552 และมีคำสั่งให้คู่กรณีจัดส่งเอกสารและข้อเท็จจริงประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และได้นัดไต่สวนเพื่อฟังคำชี้แจงของคู่กรณีและฟังถ้อยคำของผู้มีส่วนได้เสียเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 เพื่อรับฟังคำชี้แจงและการให้ถ้อยคำด้วยวาจาประกอบเอกสารที่ได้ยื่นต่อศาลไว้แล้ว

***ศาลพิเคราะห์ว่า จากคำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีที่ 3 ถึงที่ 43 ประกอบรายงานการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 30เมษายน 2552 แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงที่ตรงกันว่า ในเวลาที่ผ่านมาและในปัจจุบันปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมบริเวณชุมชนมาบตาพุดมีอยู่จริงและมีอยู่อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ จึงเห็นว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีตามที่ขอมาใช้ได้ และผู้ขอจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปหากมีการอนุญาตให้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

***กรณีความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ศาลพิเคราะห์ว่า โดยรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ซึ่งตามหลักสภาพบังคับของรัฐธรรมนูญทำให้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมายอนุวัตรการให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อน

และศาลปกครองต้องผูกพันในการใช้บังคับและการตีความกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้โดยชัดแจ้งหรือโดยปริยาย ตามมาตรา 27 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยายหรือโดยคําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้ง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง

เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 67 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติ รับรองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่เป็นเนื้อหาสำคัญไว้ คือ สิทธิในการดํารงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน เพื่อเป็นเจตจำนงให้การบริหารราชการแผ่นดินต้องตระหนักถึงสิทธิในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดี และเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของการคุ้มครองสิทธิดังกล่าว ได้บัญญัติรับรองสิทธิที่เป็นกระบวนการเพื่อสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตราเดียวกัน ได้แก่ สิทธิในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์บํารุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

และในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 ยังได้บัญญัติเจตนารมณ์หลักในการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวไว้ คือ ห้ามดําเนินโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ แต่ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ภายใต้หลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ การศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และการให้องค์การอิสระ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดําเนินการดังกล่าว

แต่หลักเกณฑ์ที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อยกเว้น จึงต้องได้รับการปฏิบัติโดยเคร่งครัด คือ เมื่อจะออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทาง ด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ให้ครบถ้วนเสียก่อน

นอกจากนี้ มาตรา 67 วรรคสาม ได้บัญญัติมาตรการซึ่งเป็นสภาพบังคับเพื่อให้มีการปฏิบัติให้เป็นบทบัญญัติมาตรา 67 คือ การรับรองสิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคล เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัตินี้

และเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์เพื่อให้มีการกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงไว้เป็นการล่วงหน้า เพื่อแต่ละโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวจะได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ตามหลักการป้องกันล่วงหน้า ไม่มีเจตนารมณ์ให้มีการออกใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงก่อน แล้วใช้หลักการควบคุมหรือหลักการเยียวยาหากเกิดความเสียหายขึ้นในภายหลัง เนื่องจากหลักการควบคุมหรือหลักการเยียวยาไม่ใช่หลักประกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการคุ้มครองสิทธิการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขในภายหลัง หลายประการ

ดังนั้น จึงกำหนดหลักการป้องกันล่วงหน้า ทั้งที่เป็นกระบวนการไว้ในบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคหนึ่งและวรรคสอง คือ การมีส่วนร่วม การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและจากองค์กรต่างๆ เป็นต้น

และกำหนดหลักการซึ่งเป็นสภาพบังคับไว้ในบทบัญญัติมาตรา 67 วรรคสาม คือ การฟ้องคดีเพื่อบังคับให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 27ของรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่า คณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐต้องผูกพันในการใช้อำนาจเพื่อกำหนดว่าประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ธรรมชาติและสุขภาพ ในทันทีที่บทบัญญัติมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับ เพื่อให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้ครบถ้วนก่อนที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐจะพิจารณาออกใบอนุญาตตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

***เมื่อพิเคราะห์จากคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ที่ว่า ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเมื่อ 24 สิงหาคม 2550 มีการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารคำท้ายฟ้อง โดยยังไม่ได้มีการกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ รวมทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรคสอง

***ศาลเห็นว่า เป็นกรณีที่มีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

****กรณีปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานของรัฐหากกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี

***ศาลพิเคราะห์ว่า ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจจะเป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดและถ้อยคำของผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของโครงการ หรือกิจกรรมตามเอกสารท้ายคำฟ้องตามที่ กล่าวมานั้น สามารถป้องกันแก้ไขและบรรเทาให้ลดน้อยลงได้ด้วยการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ และการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐและเอกชน

และเห็นว่า การบริหารงานของรัฐนั้นยังต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคมตามหลักนิติธรรมตามที่บทบัญญัติไว้ในมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ และหลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ตามมาตรา 3/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

ดังนั้น เมื่อมีกรณีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิในการดํารงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นสิทธิและเสรีภาพที่เป็นเนื้อหาสำคัญของรัฐธรรมนูญ การกระทำทางการปกครองใดที่มีปัญหาเกี่ยวกับความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเหตุที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องที่ศาลจะต้องตระหนัก

***เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูงซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริงและส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น จึงมีเหตุจำเป็นและเป็นการยุติธรรมและสมควรตามหลักนิติธรรม หลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และหลักการบริหารงานของรัฐอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงสมควรกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดี

***ศาลจึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา ดังนี้

***ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ยกเว้น โครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน2552 ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 67วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

สำหรับโครงการออยู่ในบัญชีรายชื่อ 76 โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และจังหวัดระยองที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550มาตรา 67 วรรคสอง และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 แต่ผ่านความเห็นชอบของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1หรือที่ 2 และได้รับการอนุญาตให้ดำเนินการได้แล้วจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2550 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยกลุ่มทุนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ เครือปตท. และปูนใหญ่
 
สำหรับโครงการในเครือ ปตท. ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย  

1. โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ตั้งที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน),
2. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอทิลีน 50,000 ตัน/ปี ตั้งที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน),
3. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลิเอทิลีน (การติดตั้งหน่วยผลิต Compound Production Unit) ตั้งที่นิคมฯ มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของบริษัทปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน),

4. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโรงงานอะโรเมติกส์ หน่วยที่ 1 ระยะที่ 3 ตั้งอยู่ที่นิคมฯมาบตาพุด ของบริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)
5. โครงการติดตั้งระบบควบคุมไอน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มประสิทธิภาพไบโอดีเซล ตั้งอยู่ที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัทปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน)
6. โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ ตั้งที่นิคมฯ มาบตาพุด ของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

7. โครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง  (BPEX)  ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  อ.เมือง  จ.ระยอง บริษัท  บางกอกโพลีเอททีลีน  จำกัด  (มหาชน),
8. โครงการโรงงานผลิตเอทธิลีนออกไซด์และเอทธิลีนไกลคอล(ส่วนขยาย) ตั้งที่ นิคมอุตสาห กรรม เหมราชตะวันออก(มาบตาพุด) จ.ระยอง บริษัท ทีโอซี ไกลคอล จำกัด,
9. โครงการโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด,
10. โครงการเชื้อเพลิงสะอาดและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง  บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน),

11. โครงการปรับปรุงระบบหมุนเวียนก๊าซกลับคืนของโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอร์ส จำกัด,
12. กิจกรรมการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงงานผลิตสารฟีนอล ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (คลออัลคาลี ดีวิชั่น),

13. โครงการโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรล์ และสารเมทิลเมตะคริเลต ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด,
14. โครงการโรงงานผลิตบีสฟีนอลเอ ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท พีทีที ฟีนอล จำกัด,
15. โครงการโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง บริษท พีทีที เคมิคอล จำกัด

16. โครงการโรงงานผลิตสารอะคริโลไนไตรล์และสารเมทิลเมตะคริเลต ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด)อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บริษัท พีทีที อาซาฮี เคมิคอล จำกัด,
17. กิจกรรมการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการส่วนขยายโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดความหนาแน่นสูง(BPEX) (จากการติดตั้งหน่วยผลิต Compound Production Unit สายการผลิตที่ ๒ ชั่วคราวในพื้นที่ บริษัท บางกอกโพลิเอททีลีน จำกัด(มหาชน) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยองบริษัท บางกอกโพลิเอททีลีน จำกัด (มหาชน),

18. โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ ๖ (การเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่) ตั้งอยู่ที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
19. โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ (การเพิ่มถังเก็บและอุปกรณ์ขนถ่าย LPG/Butene-1) ตั้งที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

20. โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
21. โครงการศูนย์สาธารณูปการกลางแห่งที่ ๒ ตั้งที่ ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท พีพีที ยูทิลิตี้ จำกัด

สำหรับโครงการในเครือปูนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย
 
1. โครงการขยายกำลังการผลิตโพลีเอททีลีน ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท สยามโพลีเอททีลีน จำกัด
2. โครงการขยายกำลังการผลิตผงพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ สายการผลิตที่ ๘ และสายการผลิตที่ ๙ ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด
3.โครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของโรงงานที่ ๑ และโรงงานที่ ๒ ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด

4. โครงการโรงงานผลิตโพลิเอททีลีน ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย อ.บ้านฉาง จ.ระยอง บริษัท สยามโพลิเอททีลีน จำกัด
5. โครงการโรงผลิต NBR LATEX ตั้งที่ ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท กรุงเทพ ซินอิติกส์ จำกัด
6. โครงการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดวิธีการจัดการ PTA และ CTA ของโครงการผลิต พีทีเอ สายการผลิตที่ ๓ (กำลังการผลิตรวมภายหลังการขยายกำลังการผลิตเท่ากับ ๑,๔๖๐,๐๐๐) ตั้งที่ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท สยามมิตซุย พีทีเอ จำกัด

7. การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการติดตั้ง DME Removal Unit และ Hydrocarbon Scrubber ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บริษัทกรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด Bangkok Synthetics Co.,Ltd
8. การขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก โพลิเอททีลีน ชนิดความหนาแน่นสูง โดยการเพิ่มเติมหน่วยเตรียมคะตะลิสต์และหน่วยผลิต Pipe Compound ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด

9.โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโรงงานโอเลฟินส์  ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล อำเภอเมือง จังหวัดระยอง บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด
10.โครงการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิเอททีลีน โดยเพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์โพลิโพรไพลีนและนำสารอินทรีย์ระเหยง่ายกลับมาใช้ใหม่ ที่โรงงาน HDPE#1
ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมือง ระยอง บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด

11.โครงการนิคมอุตสาหกรรม อาร์ ไอ แอล (ส่วนขยาย)ตั้งอยู่ที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับบริษัท อาร์ ไอ แอล 1996 จำกัด
12. รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการขยายกำลังการผลิตผงพลาสติกโพลีไวนิลคลอไรด์ สายการผลิตที่ ๕, ๖ และ ๘ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง บริษัทไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน)

13.โครงการท่อส่งสารปิโตรเคมี ตั้งที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง บริษัท สไตรีนโมโนเมอร์ จำกัด บริษัท สยามโพลิเอททิลีน จำกัดและบริษัทระยองโอลิฟินส์ จำกัด

ส่วนโครงการอื่นๆ ประกอบด้วย โครงการนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) ส่วนขยาย ตั้งที่ต.มาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง ของ กนอ. ร่วมกับบริษัทอิสเทิร์น อินดัสเตรียลเอสเตท จำกัด, โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ตั้งที่นิคมฯ อีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ของบริษัท โกลว์ เหมราช พลังงาน จำกัด, โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังบริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทมาบตาพุด โอเลฟินส์ จำกัด ของบริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด

หมายเหตุ - ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 7 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8 คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น