xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คส่งSMSกล่อมม็อบสลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวศรีราชา - "มาร์ค" ส่ง SMS เข้ามือถือแกนนำขอเจรจาสลายม็อบเหยื่อมลพิษนิคมมาบตาพุด พร้อมสั่งเลขาฯส่วนตัวประสานนัดหารือแก้ปัญหา 18 ก.ย.นี้ที่ทำเนียบรัฐบาล "สุทธิ" ขู่กลับจะนำมวลชนย้อนกลับมาอีกหากรัฐบาลยังเล่นเกม พร้อมเตรียมหลักฐานยื่นฟ้อง "รมว.อุตฯ-อธิบดีกรมโรงงาน-ผู้ว่าฯ กนอ." แฉบริษัทในนิคมฯจ้างชาวบ้าน 500 บาทไม่ให้ออกมาร่วมชุมนุม ขณะที่ "กก.สิทธิฯ"ทำหนังสือเตือน"นายกฯ" ไฟเขียวตั้งโรงงานมาบตะพุด ส่อ "ขัด รธน." ไม่ปฎิบัติตาม มาตรา 67 วรรคสอง

วานนี้ (10 ก.ย.) ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมของกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยองและพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง ที่มีมาตั้งแต่เช้าวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมายังคงดำเนินไปต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เช้าวานนี้ (10 ก.ย.) ชาวบ้านได้ทยอยเดินทางมาสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ปักหลักพักค้างคืนอยู่ที่บริเวณสี่แยกเนินสำลี ถนนทางเข้า-ออก เขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ใกล้กับศูนย์ราชการจังหวัดระยองเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากนั้นช่วงเวลา 10.30 น.นายสุทธิชัย อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแกนนำ พร้อมกลุ่มชาวบ้านกว่า 200 คนได้นำรถยนต์กว่า 20 คัน ดาวกระจายออกจากจุดที่มีการปักหลักชุมนุมบริเวณสี่แยกเนินสำลี ใกล้ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง อำเภอเมืองระยอง ไปชุมนุมที่หน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง โดยได้นำโลงศพ พร้อมพวงหรีดไปด้วย โดยขบวนได้เคลื่อนไปหยุดที่หน้าสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังปิดทางเข้าการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

**แฉ บ.ในนิคมจ้างชาวบ้าน500เข้าข้าง
พร้อมเข้ายื่นหนังสือต่อนายพีระวัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลให้ออกมาให้คำตอบที่ชัดเจนภายในวันที่ 10 ก.ย.52 เกี่ยวกับมติของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่เห็นชอบให้ออกใบอนุญาตแก่โรงงานที่ผ่านการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งหมด 55 โครงการ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเห็นว่าเป็นการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
พร้อมกับเรียกร้องให้หาคนที่ใช้เงิน 500 บาทว่าจ้างคนมาบตาพุด ไม่ให้ออกมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ รวมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนค้นหาบริษัทผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ว่าจ้างให้ชาวบ้านไปยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุตด้วย
นายสุทธิ เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ได้รับรายงานว่ากลุ่มโรงงานใช้เงินฟาดหัวชาวบ้านคนละ 500 บาทไม่ให้มาร่วมชุมนุม ผ่านไปยังผู้นำชุมชน นักการเมืองท้องถิ่นบางคน และยังส่งข้อมูลผิดๆทำลายความชื่อถือเพื่อต้องการให้ประชาชนเข้าใจผิดในการชุมนุมครั้งนี้ นับเป็นแผนชั่วของกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เงินฟาดหัวชาวบ้าน ขณะนี้เรากำลังรอว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะสั่งการมาว่าอย่างไร อยู่ระหว่างการประสานงานกับนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.เขต 1 ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ โดยต้องการให้ไปพบนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นวันไหนต้องนัดหมายอีกครั้ง แต่ถ้าปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยไปอย่างนี้ คงต้องแจ้งความดำเนินคดี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคนที่ สภ.เมืองระยอง รวมทั้งจะยื่นฟ้องศาลปกครองระยองเพื่อให้ความคุ้มครองต่อไป
จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุม ได้เคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมเดินทางมาที่หน้าโรงงาน เอสซีจี เครือปูนซีเมนต์ไทยและโรงแยกก๊าซ ปตท. ริมถนนสุขุมวิท ต.มาบตาพุด ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน และกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำพวงหรีด โลงศพไปเผาที่บริเวณหน้าโรงแยกก๊าซ ปตท.ซึ่งเป็นกลุ่มโรงงานใหญ่ที่กำลังยื่นขอออกใบอนุญาตตั้งโรงงานด้วย จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปตามถนนสายห้วยโป่ง-มาบข่า เพื่อชุมนุมปราศรัยต่อที่หน้านิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และเคลื่อนขบวนกลับไปที่สี่แยกเนินสำลี เพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

**มาร์ครับปากพร้อมเจรจาแกนนำ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต จ.ระยอง ว่า เมื่อคืนวันที่ 9 ก.ย.ได้สั่งให้ ส.ส.ในพื้นที่ช่วยประสานว่าเป็นอย่างไร และตนยินดีที่จะคุยกับทางแกนนำ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ คือ ให้การลงทุนที่ไม่มีปัญหาผลกระทบกับชุมชนในเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญเดินได้เท่านั้นเอง แต่อะไรที่เป็นไปตามเงื่อนไขมาตรา 67 ก็ต้องทำตาม เพราะไม่มีข้อยกเว้นให้อยู่แล้ว แต่การลงทุนต้องแยกแยะ เพราะการลงทุนไม่เหมือนกัน จะไปเหมารวมว่าทุกโครงการเป็นปัญหาคงไม่ใช่ และโครงการไหนที่เป็นปัญหาก็จะดูแลให้ ตนยินดีที่จะเชิญและให้เขามาดูรายละเอียดกันว่าการอนุญาตหรือเพิ่มเติมต้องให้เขามั่นใจในเรื่องสุขภาพ
ส่วนที่ชาวบ้านระบุว่าไม่ไว้วางใจกับการปฏิบัติของรัฐมาก่อน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนเข้าใจดีแต่ก็น่าจะมองเห็นว่ารัฐบาลนี้เข้ามาทำงานอย่างตรง ไปตรงมา ประกาศเรื่องเขตมลพิษให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมมาตรา 67 ก็มีการพิจารณาค่อนข้างใช้เวลานานมาก

**นายกฯ ส่งSMSกล่อมแกนนำม็อบ
นายสุทธิ กล่าวอีกครั้งหลังจากไปดาวกระจายที่นิคมฯมาบตาพุด เอสซีจี โรงแยกก๊าซ และนิคมฯอาร์ไอแอลว่า การชุมนุมในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากหลายฝ่ายมีการตื่นตัวในการชุมนุมของประชาชนในครั้งนี้ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีได้ส่ง SMS ผ่านมือถือถึงแกนนำ โดยให้ประสานกับเลขาฯส่วนตัวของนายกฯในเวลาประมาณ 16.00 น. เพื่อกำหนดวัน เวลา และสถานที่ ในการพบปะพูดคุยกันถึงแนวทางการในแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้ ทางประชาชนชาวจังหวัดระยองจะมีการรวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครอง และศาลอาญาจังหวัดระยองกับ 3 ผู้บริหารระดับสูง คือ 1.นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม 2.นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 3.นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ด้วย เนื่องจากบุคคทั้ง 3 คน ได้ออกใบอนุญาตให้กับ 4 โรงงานที่จะดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดระยอง ซึ่งถือว่าเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 โดยขณะนี้เราได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมหลักฐานและข้อมูลเพื่อใช้ในการฟ้องร้องต่อไปแล้ว
"การชุมนุมในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจที่จะขอนัดเจราจา โรงงานต่างๆ ในพื้นที่ได้มีการลดกำลังการผลิต บางครั้งมีการหยุดกระบวนการผลิต ที่เป็นเหตุให้เกิดมลพิษ เนื่องจากผู้ชุมนุมได้มาปักหลักนอนข้างแรมใกล้ๆ กับโรงงานทำให้โรงงานเกิดหวั่นเกรงจะผลรบกวนผู้ชุมนุมดังกล่าว"
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ในเวลาประมาณ 15.30 น.นายสุทธิ ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมกว่า 200 คนเดินทางไปยังศูนย์ราชการจังหวัดระยองอีกครั้งเพื่อทวงถามและติดตามเรื่องหลังจากที่ได้ยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดระยองไปเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา

**นัดถก18ก.ย.ทำเนียบ-ม็อบสลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลาประมาณ 16.30 น.ทางเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรีได้ติดต่อประสานงานมายังนายสุทธิว่า ทางนายกรัฐมนตรี ได้นัดแกนนำให้ไปพบเพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในวันที่ 18 กันยายน 2552 นี้ เวลา 08.00 น.ที่ตึกสีเขียว ทำเนียบรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม นายสนธิ พร้อมแกนนำในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้ประกาศสลายการชุมนุมในเวลา 22.00 น. พร้อมกับประกาศว่าจะกลับมาชุมนุมใหม่อีกครั้ง หากรัฐบาลยังไม่มีการทบทวนโครงการดังกล่าว

**ปตท.เบรกเปิด รง.รอนโยบายรัฐ
ด้านนายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ Upgrading Complex ซึ่งเป็นโครงการที่ลดซัลเฟอร์จากน้ำมันเตาได้ถึง 40% เงินลงทุนกว่า 6 พันล้านบาท อยู่ระหว่างการของรับในอนุญาตเปิดโรงงานหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จมาตั้งแต่มี.ค. ทำให้บริษัทฯ มีภาระต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นอันเนื่องจากไม่สามารถเปิดดำเนินการผลิตได้ แม้ว่าโครงการนี้จะได้ปฏิบัติตามข้อบังคับอีไอเอแล้วก็ตาม
อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูนโยบายรัฐว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร แม้ว่ากฤษฎีกาก็ตีความว่าโรงงานได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนประเด็นเรื่องสุขภาพอนามัยของชุมชนนั้น บริษัทฯก็พร้อมที่จะประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA)เพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้มองว่าสามารถดำเนินการไปพร้อมกับการเปิดโรงงานได้ ไม่ได้ขัดแย้งกัน

**กก.สิทธิเตือนนายกฯ ส่อขัด รธน.
ทางด้าน น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะอนุฯเตรียมที่จะทำหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) กรณีที่ออกใบอนุญาตให้ตั้งโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดว่า อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ
เนื่องจากไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ที่ระบุว่า "การจะดำเนินการโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงนั้นต้องให้ผ่านความเห็นชอบจากองค์การอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ" แต่ขณะนี้รัฐบาลยังมีองค์กรดังกล่าวทั้งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งนานแล้วแต่ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงยังไม่แล้วเสร็จ
"แม้รัฐบาลจะอ้างคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความว่าในระหว่างที่ยังไม่มีองค์การอิสระก็ให้ใช้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 แต่ในทางปฎิบัติแล้วรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ตามกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้มาตรฐาน ขณะที่กระบวนการประชาพิจารณ์ที่ผ่านมาก็ก่อให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกในชุมชน อย่างรุนแรง เช่นกรณีโรงไฟฟ้าบ่อนอก หินกรูด ดังนั้นการที่รัฐบาลจะออกใบอนุญาตต้องรอให้องค์การอิสระ ตามรัฐธรรมนูญปี 50 เห็นชอบก่อน ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ"กรรมการสิทธิฯ ผู้นี้กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น