xs
xsm
sm
md
lg

กรอ.จ่อออกใบอนุญาต13โครงการผ่านอีไอเอมูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กรอ.เตรียมเอกสารพร้อมออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 13 โครงการที่ผ่านอีไอเอแล้ว มูลค่า 5.9 หมื่นล้านบาท หลังมีความชัดเจนจาก กรอ.ชี้ ส่วนใหญ่เป็นกิจการประเภทโรงไฟฟ้า ด้าน กนอ.ก็พร้อมออกใบอนุญาตหลังชัดเจน เผยมีโครงการผ่านอีไอเอรอใบอนุญาตทั้งในและนอกเขตนิคมอุตสาหกรรม 55 โครงการ 4 แสนล้านบาท

นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)เปิดเผยว่า ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการออกใบอนุญาตการก่อสร้างและดำเนินกิจการเตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม หลังได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับการตีความตามาตรา 67 ของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.)ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ โดยในส่วนของกรมโรงงานฯมีโครงการที่ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)และอยู่ระหว่างการรออนุญาตประกอบกิจการ 13 โครงการ มูลค่ารวม 59,501 ล้านบาท ได้แก่ 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ขอขยายโรงไฟฟ้าบางประกงที่จังหวัดฉะเชิงเทรา 2.กฟผ.ขอขยายโรงไฟฟ้าพระนครใต้ที่จังหวัดสมุทรปราการ 3.กฟผ.ขอตั้งโรงไฟฟ้าพระนครเหนือที่จังหวัดนนทบุรี 4.บริษัท ปตท.ขอตั้งโรงไฟฟ้าในโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ที่จังหวัดระยอง 5.บริษัท ภูเขียว ไบโอเอ็นเนอร์ยี่ ของกลุ่มมิตรผล ขอตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จังหวัดชัยภูมิ

6.บริษัทอนุรักษ์พลังงานซิเมนต์ไทย ขอตั้งโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรี 7. บริษัทอนุรักษ์พลังงานซิเมนต์ไทย ขอขยายโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรี 8.บริษัทอนุรักษ์พลังงานซิเมนต์ไทย ขอขยายโรงไฟฟ้าที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 9.บริษัท ทีพีไอ โพลีน ขอตั้งโรงไฟฟ้าที่จังหวัดสระบุรี 10.บริษัท ปูนซิเมนต์เอเชีย ขอตั้งโรงงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพของเสียภายในโรงงานที่จังหวัดสระบุรี 11.บริษัท อลูคอน จำกัด มหาชน ผู้ผลิตอะลูมิเนียม ขอขยายโรงงานที่จังหวัดชลบุรี 12.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ขอตั้งโรงไฟฟ้าที่จังหวัดลำปาง และ13.บริษัท เอสโซ่(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)ขอขยายโรงกลั่นน้ำมันเพื่อปรับคุณภาพน้ำมันที่จังหวัดชลบุรี

“ได้สั่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปเตรียมเอกสารให้พร้อม โดยส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโรงไฟฟ้าทุกประเภทจะสรุปเรื่องส่งให้ทางคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้าและพลังงาน(เรกูเลเตอร์)ที่มีหน้าที่ในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ส่วนที่เหลือก็จะเป็นหน้าที่ของกรมโรงงานฯที่จะพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการเอง”นายวิฑูรย์ กล่าว

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ส่วนกิจการที่ยังไม่ผ่านผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)ก็ต้องรอผลการประชุมของ กรอ.ก่อนว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร โดยทางกรมโรงงานฯจะไปสำรวจรายชื่อโรงงานที่คาดว่าจะเข้าข่ายอยู่ในบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนว่ามีอะไรบ้างและกิจการเหล่านั้นควรจะปฎิบัติอย่างไรต่อไปตามมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)กล่าวว่า ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ กนอ.จะมีการประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)กนอ. เพื่อหารือเกี่ยวกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ตีความในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายว่า กนอ.สามารถออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการที่ผ่านอีไอเอแล้วได้ โดยมีโครงการที่ผ่านอีไอเอทั้งหมด 55 โครงการ มูลค่า 4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโรงงานที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมูลค่า 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกอบการ 2-3 รายที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการเข้ามา

นายประสาน กล่าวว่า กนอ.เห็นด้วยกับกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเสนอบัญชีรายชื่อประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนที่มีการระบุชัดเจนไปเลยว่ามีกิจการประเภทใดบ้าง เพราะหากใช้แบบที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเสนอก็จะคลุมเครือ ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอีก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้นักลงทุนไม่อยากลงทุนเพราะยังไม่มีความชัดเจน ส่วนการตั้งองค์กรอิสระนั้น กนอ.เห็นว่าควรให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาให้ความคิดเห็นเช่น หากมีเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพก็ให้ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขมาให้ความเห็นแทนการตั้งองค์กรขึ้นมาทำหน้าที่ตามที่กระทรวงทรัพยากรฯเสนอ เพราะจะทำให้เสียเวลาเนื่องจากต้องรอให้มีกฎหมายออกมารองรับองค์กรอิสระชุดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น