xs
xsm
sm
md
lg

“ขรก.เพื่อปตท.”รวยอู้ฟู่ โบนัส-เบี้ยประชุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย” (3) โดย ….. ทีมข่าวพิเศษ

ASTVผู้จัดการรายวัน – เผยโฉมบิ๊กข้าราชการสวมหมวกคณะกรรมการ ปตท. ปฏิบัติหน้าที่ดีเยี่ยมเพื่อประโยชน์สูงสุด กำไรสูงสุด ของบริษัทและผู้ถือหุ้น แลกผลตอบแทนอู้ฟู่ทั้งโบนัส – เบี้ยประชุม สร้างภาพธรรมาภิบาลห้ามข้องแวะทุจริต ห้ามกรรมการมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่เกี่ยวข้อง เว้นเสียแต่ว่า ปตท. จะได้ประโยชน์

การศึกษาธรรมาภิบาลระบบพลังงานของประเทศ ซึ่งมีบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ผูกขาดครอบงำธุรกิจ ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ชี้ให้เห็นว่า เจ้าหนักงานของรัฐซึ่งเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ยิ่งกว่าเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวมของสังคม และผลกำไรของบริษัทเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นเงินโบนัสแก่คณะกรรมการ

***เจ้าพนักงานของรัฐเพื่อปตท.

ทั้งนี้ ปตท. ได้วางระเบียบการปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหารระดับสูง และพนักงานไว้อย่างเคร่งครัด ระเบียบและกฎเกณฑ์เหล่านี้เป็นตัวชี้วัดผลงาน ความเหมาะสมในตำแหน่ง และการพิจารณาค่าตอบแทนให้กับบุคลากรของบริษัท รวมไปถึงเป็นตัวชี้วัดผลงานของเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นกรรมการให้กับ บมจ. ปตท. เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทุกระดับขององค์กรเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลที่ ปตท. ต้องการเพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น มิใช่เพื่อประโยชน์โดยรวมของประเทศ

เนื้อหาของจรรยาบรรณ ปตท. โดยสรุปคือ คณะกรรมการ ปตท. ควรเป็นตัวแทนที่ดีของผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงการเจริญเติบโตของ ปตท. อย่างยั่งยืน ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง บริหารงานอย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ฝักไฝ่การเมือง มีความเป็นอิสระทั้งการตัดสินใจและการกระทำโดยไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่เกี่ยวข้อง หรือที่เป็นการแข่งขันกับ ปตท. และมุ่งมั่นป้องกันและขจัดการกระทำทุจริตทุกประเภท

นอกจากนั้น ปตท. ยังมีการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์บนหลักการที่ว่า การตัดสินใจใดๆ ของบุคคลากรทุกระดับในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจจะต้องทำเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของ ปตท. เท่านั้น และถือเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกระดับที่จะหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเงิน และ/หรือความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกอื่นๆ ที่จะส่งผลให้ ปตท. ต้องเสียประโยชน์หรือก่อให้เกิดความขัดแย้งในด้านความภักดีหรือผลประโยชน์ของบริษัท

แต่หลักการนี้เป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทเป็นสำคัญ มีข้อสังเกตว่า หากบริษัทเป็นฝ่ายได้ประโยชน์ในความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั้น การปฏิบัติเรื่องจรรยาบรรณที่มีข้อห้ามกรรมการมีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่เกี่ยวข้องดูจะไม่เข้มงวดมากนัก

***ยกตัวอย่างเช่น กรณีของนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ที่ผ่านมา นายพรชัย ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการของบริษัท ปตท. และ ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเวลาเดียวกัน ซึ่งสององค์กรนี้ เกี่ยวข้องกันในแง่ของการเป็นผู้ซื้อ-ผู้ขายก๊าซธรรมชาติ จึงมีส่วนได้เสียกัน โดยที่ ปตท. เป็นฝ่ายได้ประโยชน์เพราะเป็นฝ่ายผู้ซื้อก๊าซ นายพรชัยเป็นกรรมการทั้งสององค์กรนี้ได้ โดยไม่มีปฏิกิริยาคัดค้านจาก ปตท.

จนกระทั่งเมื่อรัฐได้บัญญัติเป็นข้อห้ามไว้ในพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2550 กำหนดคุณสมบัติกรรมการรัฐวิสาหกิจว่า “ต้องไม่เป็นกรรมการ หรือผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคล ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่เป็นประธานกรรมการ หรือผู้บริหารโดยการมอบหมายของรัฐวิสาหกิจนั้น”

ผลจากกฎหมายดังกล่าว ทำให้นายพรชัยยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโดยทันทีที่กฎหมายประกาศใช้ และการลาออกมีผลในวันที่ 18 ธ.ค. 2550 โดยให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แทน

***รวยอู้ฟู่ โบนัส-เบี้ยประชุม

การเข้ามาเป็นคณะกรรมการ ปตท. ของเจ้าหน้าพนักงานรัฐ นั้น เจ้าพนักงานฯ ต่างได้รับผลตอบแทนจำนวนมากทั้งจาก บมจ. ปตท. และบริษัทในเครือ ซึ่งผลตอบแทนที่ ปตท. จัดให้นั้น มีทั้งค่าตอบแทนรายเดือน เบี้ยประชุม และเงินโบนัสที่สะท้อนและเชื่อมโยงกับผลประกอบการหรือกำไรสุทธิของบริษัท โครงสร้างการจัดค่าตอบแทนลักษณะดังกล่าวรวมไปถึงบริษัทในเครือของ ปตท. ทั้งหมดด้วย

ตัวอย่างการจ่ายค่าตอบแทนแก่คณะกรรมการ บมจ.ปตท. เมื่อปี 2551 มีดังนี้

1) ค่าเบี้ยประชุม ประกอบด้วย เบี้ยกรรมการรายเดือน เดือนละ 30,000 บาท เบี้ยประชุมครั้งละ 20,000 บาท (เฉพาะกรรมการที่เข้าร่วมประชุม), เบี้ยประชุมคณะกรรมการอื่นที่คณะกรรมการ ปตท. แต่งตั้ง ได้แก่ คณะกรรมการตรวจสอบ แยกเป็นเบี้ยกรรมการรายเดือนๆ ละ 15,000 บาท เบี้ยประชุมครั้งละ 15,000 บาท (เฉพาะกรรมการที่เข้าประชุม) ส่วนคณะกรรมการอื่นๆ อีก 3 คณะ คือ คณะกรรมการสรรหา, คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน, คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี กำหนดเบี้ยประชุมให้ครั้งละ 24,000 บาท

2) เงินโบนัสกรรมการ ปตท. กำหนดค่าที่ตอบแทนที่สะท้อนและเชื่อมโยงกับผลประกอบการหรือกำไรสุทธิของ ปตท. ในอัตราเท่ากับร้อยละ 0.05% ของกำไรสุทธิ แต่กำหนดวงเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อคนต่อปี และให้คำนวณจ่ายตามระยะเวลาการดำรงตำแหน่งและประธานกรรมการ ปตท. ได้รับสูงกว่ากรรมการฯ ในอัตราร้อยละ 25

****โครงสร้างค่าตอบแทนดังกล่าว ทำให้นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้รับค่าตอบแทนจากการเป็นประธานกรรมการ บมจ.ปตท. ในช่วงปี 2550 รวมทั้งสิ้น 2,999,040 บาท แบ่งเป็นเงินโบนัส 2,239,726 บาท ค่าเบี้ยประชุม 759,314 บาท ก่อนที่จะลาออกให้นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เข้ามาทำหน้าที่และรับประโยชน์ส่วนนี้แทนตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับค่าตอบแทนคณะกรรมการ ปตท. จำนวน 15 ราย เมื่อปี 2551 พบว่า เงินเบี้ยประชุม 10.47 ล้านบาท และเงินโบนัส รวม 25.85 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 36.32 ล้านบาท เทียบกับปี 2550 ที่ผ่านมา ลดลงประมาณ 8 ล้านบาท (ดูตารางสรุปเปรียบเทียบค่าตอบแทนกรรมการฯ ประกอบ)

///////////////////////////////

จรรยาบรรณของของ ปตท.

000 คณะกรรมการ ปตท. ควรเป็นตัวแทนที่ดีของผู้ถือหุ้น โดยคำนึงถึงการเจริญเติบโตของ ปตท. อย่างยั่งยืน ให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง บริหารงานอย่างเต็มความสามารถด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและระมัดระวัง ไม่ฝักใฝ่การเมือง มีความเป็นอิสระทั้งการตัดสินใจและการกระทำ โดยไม่มีส่วนได้เสียในกิจการที่เกี่ยวข้อง หรือที่เป็นการแข่งขันกับ ปตท. และมุ่งมั่นป้องกัน และขจัดการกระทำทุจริตทุกประเภท

000 ผู้บริหารและพนักงานควรมุ่งมั่นในการพัฒนา เสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า คำนึงถึงความเสมอภาค และความซื่อสัตย์ในการดำเนินธุรกิจ ตระหนักและห่วงใยถึงความปลอดภัยของสังคม สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต มุ่งมั่น ทุ่มเท โดยถือประโยชน์ของ ปตท.เป็นสำคัญ

///////////////////
กำลังโหลดความคิดเห็น